จิตแพทย์แนะติดตาม "การเมือง" อย่าเครียดมากจนเสียสุขภาพจิต สร้างบรรยากาศที่ดี ไม่สร้าง-ส่งต่อ Hate Speech และเฟคนิวส์ หากพบให้เตือนกันอย่างสุภาพ ไม่หยาบคายใส่กัน ช่วยลดความรุนแรงจนนำไปสู่การชุมนุมได้ ชี้ความเห็นต่างเป็นต้นทุนสังคม อย่าตัดสินเป็นความดี-ไม่ดี หรือถูก-ผิด ให้ใช้เหตุผลต่อยอดจนได้ข้อสรุปที่ดีร่วมกัน ส่วนประเด็น "มติมหาชน" เป็นเพียงหนึ่งเหตุผลที่ต้องนำมาถกกัน
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์การเมืองของประชาชน ว่า ความตื่นตัวหรือความสนใจทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดี แสดงว่าคนไทยเป็นห่วงบ้านเมือง แสดงถึงการเป็นพลเมือง ช่วยให้บ้านเรามีโอกาสเดินไปข้างหน้าจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ข้อควรระวังมี 2 ประเด็น คือ 1.อย่าไปเครียดมากจนเกินไปจนเสียสุขภาพจิตของตัวเองและส่งผลสุขภาพจิตคนรอบข้าง ออนไลน์ไปก็จะลงไปในสื่อสังคมด้วย และ 2.บรรยากาศในการแสดงความเป็นห่วงใยบ้านเมือง ควรจะเป็นบรรยากาศที่ดี ไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่สร้างเฟคนิวส์ ประเด็นที่สำคัญมาจากการที่เราต้องปรับเปลี่ยนความคิดของเรา (Mindset) ว่า เราต้องมองเรื่องความต่างเป็นต้นทุนของสังคมมากกว่าเป็นเรื่องความดี-ไม่ดี ความถูก-ผิด ถ้าเรามีใจเปิดกว้างแบบนี้ได้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจะเป็นไปในลักษณะที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
"ถ้าเราใช้อารมณ์มากก็จะเครียดมาก และสร้างความกระทบกระทั่งกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) จะนำไปสู่อนาคตของการมีความรุนแรงมากขึ้นได้ จนถึงความรุนแรงด้านกายภาพ เพราะถ้าเรามองว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไม่ดี เราก็พร้อมที่จะทำความรุนแรงกับเขาได้ จากวาจาก็ไปสู่การกระทำ แล้วนำมาซึ่งความยุ่งเหยิง ความปั่นป่วนทางสังคม เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยมากที่สุด หัวใจสำคัญที่สุดคือการเปิดใจกว้างที่จะยอมรับเหตุผลโดยไม่ใช้อารมณ์" นพ.ยงยุทธกล่าว
นพ.ยงยุทธกล่าวว่า อะไรที่ทำให้เกิดการใช้อารมณ์มาก ก็คือ Hate Speech และเฟคนิวส์ ซึ่งตอนนี้ระบาดในสื่อสังคมอย่างมาก และเป็นปัญหาเพราะเป็นกลุ่มสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกันก็จะส่งไปเรื่อยๆ เช่น คนหนึ่งมีวงไลน์อยู่ 50 วง พอส่งไปสวงไลน์นั้นก็ส่งไปอีก 50 วงก็เป็น 2,500 วงแล้ว ทำไปไม่กี่รอบก็ถึงคนเป็นล้าน ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศทางสังคมที่ไม่ดีอย่างมาก ในหลักทางด้านสุขภาพจิตมีหลักสำคัญ "2 ไม่ 1 เตือน" ดังนี้ 2 ไม่คือ ไม่ผลิตข้อความเฟคนิวส์หรือ Hate Speech สร้างความเกลียดชัง คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนสร้าง แต่เป็นอย่างที่ 2 คือ การส่งต่อ จึงต้องไม่ส่งต่อ เพราะการส่งต่อทำให้สังคมเราขาดวุฒิภาวะในการยอมรับความเห็นต่างอย่างมีเหตุมีผล และที่ต้องเน้นย้ำคือ 1 เตือน คือคนที่ส่งข้อความด้านลบทั้งหลาย ขาดความสติยับยั้งชั่งใจ ใช้วิธีการกล่าวหาตำหนิสร้างความเกลียดชัง ประเด็นนี้ต้องเตือนกลับไป
"มีงานวิจัยและหมอได้ทดลองด้วยตนเอง ใครส่ง Hate Speech มา ส่งเฟคนิวส์มา เราก็จะเตือนกลับไปอย่างสุภาพ ปรากฏว่าได้ผล คือ เขาจะขอโทษหรือไม่ก็หยุดพฤติกรรมแบบนั้น เป็นการได้ผลที่ดีมากเลย จึงอยากจะสลับกัน ควรจะเป็น 1 เตือน 2 ไม่ เวลานี้ควรจะเตือนซึ่งกันและกันอย่างกัลยาณมิตร เช่น เตือนโดยตรงว่าข้อความพวกนี้ต้องระวังว่าอาจจะเป็นข้อความที่สร้างความเกลียดชังหรือไม่มีข้อมูลถูกต้องชัดเจน ส่งไปอาจจะสร้างความปั่นป่วนสังคมได้ ไม่ใช่หยาบมาก็หยาบกลับไป แบบนี้ไม่ใช่เตือนแต่เป็นการทะเลาะกัน ทั้งนี้ ความเห็นต่างคือต้นทุนของสังคม ไม่ใช่การบอกว่าถูกผิด ถ้าเราเปิดรับแบบนี้ สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยความมั่นใจ ว่าเราทุกคนเป็นเจ้าของบ้านเมืองร่วมกัน มีความเป้นพลเมือง ไม่ใช่ว่าต้องคิดแบบฉันถึงเป็นพลเมือง คิดแบบอื่นไม่ใช่" นพ.ยงยุทธกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีการทีมฟอร์มรัฐบาล เมื่อไม่ถูกใจก็มีการวิจาณณ์อย่างรุนแรง เลือกคนนี้ ไม่เอาคนนั้น นพ.ยงยุทธกล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นควรเป็นเรื่องของเหตุผล ถ้าเราไม่ชอบก็ควรบอกว่าเพราะอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องว่าตำหนิด่าว่ากัน ต้องมีเหตุมีผล ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อาจมีเหตุผลที่แตกต่าง ก็เป็นการแสดงเหตุผลซึ่งกันและกัน ทำให้ความสามารถของคนไทยในการที่จะเข้าใจปัญหาและทางออกของบ้านเมืองยิ่งดีมากขึ้น หากใช้อารมณ์ด่าไปด่ากลับไม่เกิดอะไรขึ้น ต้องใช้เหตุผลต่อยอดเหตุผลไปเรื่อยๆ จะถึงจุดที่ทุกคนยอมรับกันได้เองว่าดี
เมื่อถามว่าขณะนี้ทัศนคติการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ มีการชื่นชอบตัวบุคคล คล้ายกับคนดัง ดารานักแสดง นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ต้องมองสองด้าน เพราะคนที่พูดด้านดีก็เยอะ คนที่ใช้อารมณ์ รัก ชอบ เกลียดชัง ก็มีพอสมควร ประเด็นต้องเป็นแบบแรกให้เยอะ ลดแบบที่สองให้น้อยลง ซึ่งคนมีเหตุผลก็มีมาก ดังนั้น เราต้องสนับสนุนแบบแรก และลดแบบที่สอง ซึ่งขณะนี้ตนคิดว่า หากเราเดินไปข้างหน้าได้ โดยทำให้สัดส่วนในการพูดกันแบบมีเหตุผลได้ก็จะเป็นทางออกที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าการจับขั้วต่างๆ มีเรื่องมติมหาชนมาเกี่ยวข้อง ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก็เป็นเหตุผลหนึ่งจะยกมาได้ แต่อาจมีเหตุผลอื่นๆ เช่น เขาได้เสียงข้างมากก็เป็นเหตุผล แต่ก็มีเหตุผลว่า บางเรื่องอาจไม่ใช่ข้อตกลงร่วมก็ได้ ก็จะเป็นเรื่องเหตุผลต่อเหตุผล หากเป็นลักษณะนี้บ้านเมืองจะมีทางออก
ถามว่ามีการใช้คำว่าเสียงข้างมากมากดดันให้คนอื่นเห็นด้วย นพ.ยงยุทธกล่าวว่า การมีเสียงข้างมาก เป็นหนึ่งเหตุผลที่ยอมรับได้ ก็ใช้เหตุผลนั้นไป แต่ก็ต้องฟังเหตุผลอื่นๆด้วย เนื่องจากในเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ข้างมากทุกประเด็น ยังมีบางประเด็นที่ไม่ใช่จุดร่วมของทุกฝ่าย หากใช้เหตุผลก็จะมาถึงจุดที่ทุกคนยอมรับได้ ทั้งนี้ ประเทศที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องอยู่ได้ท่ามกลางความแตกต่าง เพราะความแตกต่าง เป็นโอกาส เป็นทางเลือกของสังคม เพราะหากเราเลือกอยู่ทางเดียว เมื่อเกิดปัญหาก็จะไม่มีทางออก การที่มีหลายทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในหลายประเทศที่ผ่านวุฒิภาวะ ผ่านสิ่งต่างๆ มาเยอะแยะ จะรู้ว่า ความต่างไม่ใช่ความผิด ความต่างไม่ใช่อาชญากรรม แต่การสร้าง Hate Speech สร้างความเกลียดชัง คือ อาชญากรรมนำไปสู่ความรุนแรง
ถามถึงกรณีมีการขู่ว่าจะลงถนน นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ความรุนแรงจะเกิดขึ้นต้องส่งผลให้เห็นตั้งแต่ก่อนหน้าชุมนุม ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องทำตามระเบียบกฎหมาย อันดับแรกจะเห็นว่ารุนแรงหรือไม่ จะอยู่ที่บรรยากาศก่อนชุมนุม เราจึงให้พูดกันว่า ให้พูดด้วยเหตุผลมากกว่าความเกลียดชัง ให้ฟากความมีเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการชุมนุมเจ้าหน้าที่ผ่านวิกฤตมาหลายครั้งก็จะรู้ว่าจะควบคุมฝูงชนอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยต้องไม่ก้าวไปสู่การใช้กติกานอกระบบประชาธิปไตย หากไปถึงขั้นนั้นก็จะสั่งสมปัญหามากขึ้นไปอีก รักษากติกาประชาธิปไตยที่เป้นกติกาสากลให้มากที่สุด