xs
xsm
sm
md
lg

ต้นตอ ปัญหาฝุ่นพิษ พบแล้วอยู่ตรงนี้ / วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้พูดถึงเรื่องปัญหาฝุ่นพิษ ในรายการ The Leader Insight ทางสถานีวิทยุ ร.ด. F.M.๙๖.๐


ท่ามกลางปัญหามลพิษทางอากาศกำลังรุมเร้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหนักหน่วง เนื่องจากฝุ่นควันตลบเมืองในหลายจังหวัดภาคเหนือจนครองแชมป์โลก และฝุ่นควันพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

ส่วนสาเหตุสำคัญของฝุ่นควันพิษ (ค่าฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว) มาจาก “ไฟป่า” ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาฝุ่นควันมักเกิดขึ้นตอนถึงหน้าแล้ง (ฤดูหนาว-ฤดูร้อน) ส่วนสาเหตุหลักของไฟป่าที่ควรป้องกันได้มาจากฝีมือคนเพราะในช่วงนี้เช่นเดียวกันที่เกษตรกรส่วนหนึ่งเลือกใช้วิธีเผาตอซังพืชผลทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในครั้งต่อไป เพราะพวกเขาไม่ต้องลงทุนลงแรง

อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยได้ข้อสรุปพอสังเขปว่า

1.ข้อมูลมี แต่กำกวม!!

ต่างหน่วยต่างมีวิธีเก็บข้อมูล ไม่มีระบบข้อมูลกลางทางวิทยาศาสตร์ บางหน่วยเก็บจำแนกรายอำเภอ อีกหน่วยเก็บรายพื้นที่ป่า บางหน่วยเก็บจากดาวเทียม อีกหน่วยเก็บจากการสำรวจภาคพื้นดิน

ข้อมูลมีเพียงบางกลุ่มจังหวัด ไม่มีระดับประเทศทั้งที่การเผามีทุกภาค มากน้อยและช่วงเวลาเผาต่างกันไป ภาคเหนือมีเก็บข้อมูลแบบ 17 จังหวัดบ้าง 9 จังหวัดบ้าง

2. ยังไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลกันจริงจัง

หน่วยงานมีเพียงการสะสมตัวเลขของจุดความร้อน มีแบบรายวัน รายเดือน รายปี เน้นงานเชิงปริมาณ แต่ไม่มีการวิเคราะห์เชิงลึกว่าจุดร้อนเหล่านี้ ในแต่ละที่ แต่ละช่วงเวลา มีพฤติกรรมของแต่ละจุดแต่ละช่วงอย่างไร ไม่มีข้อมูลว่าผลจากจุดความร้อน ทำให้มีปริมาณพื้นที่เผาไหม้ไปรวมแล้วเท่าใด

คณะทำงานพบพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากในรอบย้อนหลัง 10 ปี (2553-2562) มีพื้นที่เผาไหม้ซ้ำๆ รวม 9.7 ล้านไร่!


โดยเป็นที่ป่า ถึง 65% ที่นาข้าว 22% ไร่ข้าวโพด 6% เกษตรกรรมอื่นๆ 3% ไร่อ้อย 2% และข้อมูลของ 10 ปีที่ว่าก็สอดคล้องกับสัดส่วนของการประมวลผลของปี 2563 และ2564 


นั่นแปลว่าพฤติกรรมการเผาในที่ดินปลูกและที่ดินป่ามีค่าเฉลี่ยคล้ายๆกันตลอด 12 ปี !!

3. มี data แต่ไม่เป็น big data

การสะสมข้อมูลของหน่วยต่างๆ ไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นอนุกรมเวลา และการลงGPS หรือพิกัดบนแผนที่ จึงไม่มีข้อมูลบันทึกพฤติกรรมการเคลื่อนตัวของแนวไฟแต่ละกองในเวลาต่างๆไว้ ทำให้ขาดข้อมูลสำคัญในการวางแผนหรือทำความเข้าใจทั้งเหตุและผลของการเผา การเข้าแก้ปัญหา และจึงทำให้ไม่เกิดแผนเชิงรุกเพื่อป้องกันเหตุในการจุดไฟและไม่เกิดแผนชิงระงับเพลิงก่อนที่เพลิงจะลามขยายวงกว้างออกไป


นำมาสู่ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานที่มี ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานคณะทำงาน ร่วมกับดร.บัณทูร เศรษฐศิโรตม์ และคณะนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่จับตาดูข้อมูลย้อนหลังของภาพข้อมูลจากดาวเทียมผ่านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISDA ว่า

1.ไฟป่าที่ซ้ำซากที่สุด 4 อันดับแรกของไทย อยู่ที่

1. ป่าแม่ปิง-อมก๋อย-แม่ตื่น จำนวน 581,872ไร่
2. ป่าสาละวิน-แม่สะเรียง จำนวน 558,486ไร่
3. ลุ่มน้ำปาย -น้ำตกแม่สุรินทร์ จำนวน 311,883ไร่
4. ป่าหลังเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 166,689ไร่

โดยคณะทำงานสามารถตรวจสอบพบจุดกำเนิดและการเคลื่อนตัวของแนวไฟซึ่งช่วยให้มีข้อสังเกตต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต่างกันไปตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ชุมชน

2.ไฟในไร่เกษตรกรรม คณะทำงานพบว่า "อ้อย" มีการเผาน้อยกว่าที่เคยเข้าใจกันไปมาก

-ที่เผามากๆ คือฟางข้าวก่อนการเตรียมแปลงปลูก 

-โดยพื้นที่เผาตอซังข้าวมากที่สุดคือ นครสวรรค์ พิจิตร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และ พิษณุโลก โดยข้าว มีพื้นที่เผาซ้ำซากมากกว่าอ้อยถึง 12 เท่า มีน้ำหนักเชื้อเพลิงมากกว่าอ้อยถึง 5 เท่า และปล่อยความเข้มข้นของเขม่าซึ่งเป็น PM10 สูงกว่าอ้อยในการเผาที่เท่าๆกัน

3. การเผาในประเทศเพื่อนบ้าน 

-นับแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ลาวเหนือติดน่าน พะเยา และเลย มีการเผาไร่ข้าวโพดเพิ่มอย่างก้าวกระโดด

-ในเมียนมา ตลอดชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน มีทั้งเผาป่าและเผาทุ่งมากไล่เรี่ยกัน ยกเว้นจุดตรงข้ามอำเภอ พบพระ จังหวัดตาก จะเป็นการเผาในไร่ข้าวโพดเป็นหลัก ซึ่งควรติดตามว่าข้าวโพดเหล่านี้ ขายเข้ามาในฝั่งไทยหรือไม่เพียงใด


ข้อเสนอแนะ

1.ควรให้ GISTDA รับผิดชอบทำชุดข้อมูลกลางให้เป็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆเข้าถึงง่ายๆ แบบเกือบreal time ทั้งจุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ และให้สามารถทาบกับแผนที่อุตุนิยมวิทยาที่แสดงทิศทางลม ความกดอากาศ และฝน โดยแสดงผลย้อนหลังครบถ้วนทุกข้อมูลและแสดงตำแหน่งในแผนที่ที่สามารถให้ความชัดเจนระดับแปลง ตำบล อุทยาน ป่า

2.ชวนเชิญให้ทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงตั้ง มิสเตอร์ฝุ่น เพื่อสื่อสาร ตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันจากผลที่มีจุดความร้อนเกิดบนข้อมูลดาวเทียมร่วมกันตลอดเวลา

3.กพร.กำหนด Joint KPI ให้หลายๆหน่วยร่วมกันทำงานแก้ไขไฟป่า ไฟทุ่ง ร่วมกัน

4. สนับสนุนการมีสถาบันไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อให้บริการข้อมูล ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กำหนดมาตรฐาน และประสานการบูรณาการเกี่ยวกับไฟป่าและการเผาในที่โล่งแบบเป็นองค์รวม

5. พัฒนากลไกเครดิตแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสร้างอาชีพใหม่ให้ชาวบ้าน ที่เคยหาประโยชน์ผ่านการจุดไฟไม่ว่าในป่าหรือในไร่

6.ส่งเสริมปลูกป่าวนเกษตร
ปีนี้ มีการพบการเลี้ยงวัวแบบปล่อยของชาวบ้านตามชุมชนตะเข็บชายแดนตะวันตกที่เป็นป่าจำนวนมากผิดปกติ
บางชุมชนห่างไกล ในป่า ถนนแทบไม่มี มีเพียงลำธาร มีประชากรสองพันคนแต่มีวัวในพื้นที่หลายพันตัว!

ลักษณะเป็นการเลี้ยงแบบปล่อย ไม่มีรั้ว และพบว่ามีการจุดไฟเผาป่าเพื่อให้เกิดทุ่งโล่งแล้วกลายเป็นทุ่งหญ้าตามมา เพื่อให้วัวมีหญ้ากิน ส่วนวัว มีแนวโน้มว่าน่าจะฝากเลี้ยงข้ามแดนแล้วป้อนตลาดชำแหละแบบนอกระบบ

อ้างอิง :
เวบไซต์ www.zaabnews.com
ชมย้อนหลังได้ที่ www.SmeMedia.Com
https://fb.watch/jAGp-yOt4L/?mibextid=gDJjt2


กำลังโหลดความคิดเห็น