“ฝุ่นพิษ” น่ากลัวขึ้นทุกปี ล่าสุดไม่ต้องเป็นสิงห์อมควันก็เสี่ยง “มะเร็งปอด” พอๆ กัน วิจัยชี้พบผู้ป่วยจาก “PM 2.5” สูงถึง 1.3 ล้านราย ตั้งคำถามมาตรการแก้ปัญหาตั้งแต่ 5 ปีที่วางไว้ไม่เห็นหยิบมาแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ดีแต่ “ฉีดน้ำ” ให้บรรเทาเท่านั้นเอง
“ฝุ่นพิษ” สูงกว่าทุกปี อัตราเสี่ยงตายก็ยิ่งพุ่ง!!
น่าหวั่นใจ แค่ออกจากบ้านก็อาจเสี่ยงตายแล้วสำหรับคนไทยในยุคนี้ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขเผยข้อมูล พบผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศถึง 1.3 ล้านคน สาเหตุจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงมากขึ้นจากปีก่อนๆ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยรายงานสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ว่ามีพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานถึง 15 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและกรุงเทพฯ ถึง 50 เขต
[ สาธารณสุขประชุม สถานการณ์ PM 2.5 ]
แต่ที่น่าตระหนกมากกว่าสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นคือ การพบผู้ป่วยมลพิษทางอากาศถึง 1.32 ล้านคนในระยะเวลาเพียง 2 เดือน จาก 1 ม.ค.-5 มี.ค.66 โดยเป็นอาการป่วยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศถึง 1,325,838 คน แถมยังเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าทะลุ “1 แสนคน”!!
กลุ่มผู้ป่วยที่พบมากสุดคือ โรคทางเดินหายใจ รองลงมาคือ ผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยอมรับสถานการณ์ฝุ่นในปีนี้แย่ลงกว่า 2 ปีก่อน เหตุจากเมื่อปี 64 และปี 65 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการเดินทางน้อย ส่งผลให้ค่าฝุ่นน้อยตาม
“แต่คาดว่าสถานการณ์ใน กทม.จะดีขึ้นเมื่อมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่หวั่นส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น”
แค่หายใจก็กลายเป็น “มะเร็ง” ได้!
ไม่ต้องสูบบุหรี่ แค่หายใจก็กลายเป็น “มะเร็งปอด” นี่เป็นการตอกย้ำจากนักวิชาการถึงความน่ากลัวของปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อมีข้อมูลทางวิชาการ “มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริง” ทีมวิจัยจาก สถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
โดย PM 2.5 สามารถเข้าไปกระตุ้นหรือปลุกเซลล์ปอดที่เสียหายทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายพันธุ์ และนำไปสู่การเป็นมะเร็งในท้ายที่สุด ทั้งนี้ ความเสี่ยงของมลพิษทางอากาศทำให้เกิดมะเร็งปอดน้อยกว่าการสูบบุหรี่ก็จริง
“แต่มนุษย์ยังต้องใช้อากาศหายใจอยู่ทุกวัน การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศก็อันตรายกว่าการสูดควันพิษจากบุหรี่”
หนำซ้ำยังพบอีกว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดในทวีปเอเชีย 30-40% เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน พบว่ามากกว่า 50% ของเพศหญิงนั้นไม่เคยสูบบุหรี่ ขณะที่ในประเทศในฝั่งทวีปยุโรป พบว่า 10-20% เท่านั้นที่ไม่เคยสูบบุหรี่ แต่พวกเขากลับป่วยเป็นมะเร็งปอด
[ แผนที่แสดงค่า PM 2.5 ในไทย ]
ล่าสุด รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังออกมายืนยันกับสื่อว่า ผู้ที่สัมผัส PM 2.5 เป็นเวลานานเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดสูง
ในทางการแพทย์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นเป็นเวลานาน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าในพื้นที่อื่น
“ถ้าถามว่า PM 2.5 ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งในไทยขนาดไหนยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะในไทยเพิ่งจะมีการเก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศจริงๆ จังๆ เพียง 5 ปีเท่านั้น ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีจึงจะตอบคำถามนี้ได้”
แต่ก็สอดคล้องกับข้อมูลของประเทศไต้หวัน ที่พบว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่แต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูงเป็นเวลานานมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น
ออกแผนมาอย่างดี แต่ไม่มีคนทำ
“ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ และเร่งสื่อสารประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตนตามมาตรการและกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ”
ทั้งหมดนี้คือการออกมาแก้ปัญหาจากภาครัฐ แต่ก็ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อแค่ฉีดน้ำคงไม่พอเพราะสามารถลดฝุ่นได้แค่บางจุด ถ้าจะให้ครบทุกพื้นที่ 50 เขต กทม. ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ตร.กม. ต้องใช้เครื่องฉีดพ่นน้ำถึง 30,000 เครื่องฉีดพร้อมกัน เพียงเพื่อลดความเข้มข้นของ PM 2.5 ลง
สิ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยมี 2 แบบ คือ สภาวะความเป็นเมืองอย่างกรุงเทพฯ มาจากการปล่อยควันจากยานพาหนะและเครื่องจักร ความแออัดของการจราจรและผังเมือง การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดหลักๆ มาจากการเผาไร่เพื่อทำการเกษตร และปัญหาไฟป่า
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อย้อนกลับไปปี 62 ปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ถูกตั้งให้เป็นวาระแห่งชาติมาแล้วจากรัฐบาล แถมยังมีแผนดำเนินการทั้งระยะสั้น ระยะยาว ออกมาแล้วอีกต่างหาก
อ.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย จึงเคยออกมาตั้งคำถามกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
แผนระยะสั้น พ.ศ. 2562-2564 มี 5 ข้อ คือ 1. ส่งเสริมยานพาหนะใช้น้ำมันมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm 2. งดเผาในที่โล่ง เร่งสร้างพื้นที่สีเขียว 3. ควบคุมฝุ่นก่อสร้าง-ทำผังเมืองสีเขียว 4. ลดมลพิษภาคอุตสาหกรรม-ติดระบบตรวจมลพิษ และ 5. สนับสนุนใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน ซึ่งภาครัฐทำได้จริงแค่บางส่วน จากข้อ 3 และ 5 เท่านั้น
ส่วนแผนระยะยาว พ.ศ. 2565-2567 มี 5 ข้อ คือ 1. พัฒนาเครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ 2. ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย ปรับค่ามาตรการ PM 2.5 ตามองค์การอนามัยโลก 3. ส่งเสริมวิจัย พัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อลดมลพิษ 4. แก้ปัญหามลพิษข้ามแดน และ 5. จัดตั้งศูนย์ดำเนินการฝุ่นระดับจังหวัด ซึ่งทำได้จริงเพียงข้อ 2 และ 5 เท่านั้น
“มันมีตั้งหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ทำ เลยมองว่าเมื่อปี 62 ออกแผนมาสวยหรู แต่การกระทำไม่มี คนปฏิบัติก็ไม่จริงจัง พอมีคนออกมาประกาศว่าตรงนี้ยังไม่ได้ทำ ตรงนั้นยังไม่ได้ทำ รัฐบาลก็ยังเพิกเฉย ซึ่งปัญหามาเห็นชัดในปีนี้ ก็เลยอยากตั้งคำถามว่า นี่เรากำลังต้องซื้ออากาศหายใจเหรอ”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : pr.moph.go.th, แฟนเพจ "กรุงเทพมหานคร" และ iqair.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **