xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่ ! การหาอาหารของช้างป่าช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.2566) วันช้างไทย ซึ่งเป็นวันของทุกปีที่ภาครัฐและหลายหน่วยงานอนุรักษ์ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้เข้าใจ และเห็นความสำคัญกับวิถีดำรงอยู่ของชีวิตช้าง

โดยเฉพาะปัญหากระทบกระทั่งกันตลอดมา ระหว่างคนกับช้างป่าในเรื่องการเข้าบุกรุกไร่สวนของเกษตรกร ตามแนวชายป่าเขตอุทยานแห่งชาติฯ 

โดยทั่วไปช้างเอเชียหรือช้างไทยจะมีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 4,200 กิโลกรัม ในแต่ละวันช้างต้องกินอาหารจำพวกพืชพรรณในป่าราว 10% ของน้ำหนักตัว โดยเฉพาะในป่าฝนเขตร้อน ซึ่งมีพืชพรรณบางชนิดที่สร้างสารที่มีรสขมเพื่อป้องกันการถูกกัดกินตามกลไกธรรมชาติ ทำให้ช้างต้องเดินหาอาหารเข้าไปในป่าหนาทึบ ซึ่งเป็นการเปิดเส้นทางป่า ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่ลดลง และทำให้ต้นอ่อนเล็กๆ สามารถแข่งขันเพื่อเติบโตได้

ทำให้พืชต่างๆ ต้องใช้สารอาหารเพื่อการเติบโตมากกว่าการสร้างสารที่ใช้ป้องกันการถูกกัดกิน จึงส่งผลให้อัตราการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเพิ่ม รวมถึงช่วยเพิ่มมวลชีวภาพของผืนป่า ในการหาอาหารของช้างป่า ยังช่วยเพิ่มแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์อื่นๆ ในป่าด้วย ดังนั้น ช้างไทยจึงไม่ใช่แค่สัตว์คู่บ้านคู่เมือง แต่ยังเป็นสัตว์กู้ป่ากู้โลกให้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย จนกล่าวได้ว่าช้างป่าเป็นสัตว์ที่ให้ร่มเงาแก่สัตว์ป่าชนิดอื่น (Umbrella species) และมีความสำคัญมากในระบบนิเวศป่า เนื่องจากพวกมันสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สัตว์ป่าต่าง ๆ มากมาย เช่น ขนาดตัวที่ใหญ่ของมันช่วยเดินเปิดเส้นทางให้สัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ การสร้างแหล่งน้ำโดยการใช้งาขุดเจาะพื้นดินเพื่อให้สัตว์อื่น ๆ มีแหล่งน้ำใช้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชไปยังส่วนต่าง ๆ ของผืนป่าผ่านการขับถ่าย

ทว่าปัจจุบันจำนวนที่อยู่อาศัยของช้างมีจำนวนลดลง เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของช้างต่างหาก ส่งผลให้พื้นที่อาศัยของพวกมันไม่ปลอดภัยอย่างที่เคยเป็น จนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของช้างแย่ลง กับอีกสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าก็คือ โรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นความต้องการด้านทรัพยากร หรือการซื้อที่ดินเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ช้างและสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกรุกรานเอาเปรียบและมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์มากขึ้น

อ้างอิง
https://www.deqp.go.th/news/view_public.aspx?p=13600
https://www.greenpeace.org/thailand/story/19338/general-5-facts-elephant/


กำลังโหลดความคิดเห็น