อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ รอง ผอ.ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นช้าง "ไพลิน" วัย 71 ปี ที่กระดูกสันหลังผิดรูปจากการถูกใช้งานให้นักท่องเที่ยวขี่หลังจนกระดูกยุบ แนะควาญควรให้ความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของช้างในทุกด้าน
จากกรณีเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT) ได้เปิดเผยภาพถ่ายช้างที่ชื่อ "ไพลิน" วัย 71 ปี ซึ่งกระดูกสันหลังมีรูปร่างผิดรูปอย่างเห็นได้ชัด หลังถูกบังคับใช้แรงงานให้บรรทุกนักท่องเที่ยวขึ้นหลังมานานกว่า 25 ปี และบางครั้งอาจต้องบรรทุกนักท่องเที่ยวมากถึง 6 คนต่อเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมความบันเทิงด้านสัตว์ป่า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เฟซบุ๊ก "Pakkanut Bansiddhi" หรือ อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า "ว่าด้วยเรื่องของการขี่ช้าง เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวในปางช้างที่มีมายาวนาน ก่อนใช้งาน ควาญจะเอาวัสดุรองหลัง เช่น แผ่นเปลือกต้นปุย กระสอบ แผ่นฟองน้ำ วางบนหลังช้างให้หนาพอควร จากนั้นเอาเก้าอี้ที่เรียกว่า แหย่ง วางลงไป จากนั้นเอาสายรัดแหย่งให้ติดกับตัวช้างโดยคล้องกับคอ อก และหาง พอแต่งตัวเรียบร้อยควาญจะนั่งบนคอช้างแล้วขี่ไปรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งบนแหย่งขนาดพื้นที่สำหรับ 1-2 คน ควาญควบคุมช้างให้ออกเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ แต่ละรอบใช้เวลา 15-30 นาที ระยะทาง 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตร เมื่อเดินถึงจุดหมายก็ให้นักท่องเที่ยวลงจากแหย่ง ช้างพักและรอบรรทุกนักท่องเที่ยวท่านต่อไป
ประเด็นที่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1. การให้ช้างบรรทุกน้ำหนักร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวช้าง ไม่ทำให้พบรูปแบบการเดินที่ผิดปกติ
2. การสำรวจช้างในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่งจำนวน 200 ตัวอย่าง เมื่อปี 2018 พบว่ามีช้าง 5 ตัวอย่างมีแผลที่หลังที่อาจเกิดจากการใส่แหย่ง และมีช้าง 4 ตัวอย่างมีแผลที่อกที่อาจเกิดจากสายรัดแหย่ง
ประเด็นที่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1. การขี่ช้างทำให้กระดูกสันหลังของช้างงอ
2. การขี่ช้างเป็นระยะทางเท่าใด ลักษณะเส้นทางแบบใด จึงส่งผลเสียต่อตัวช้าง
ช้างที่มีกระดูกสันหลังงออาจเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
1. อุบัติเหตุ การกระแทก
2. ความผิดปกติมาแต่กำเนิด
3. ภาวะขาดแคลเซียม
การซักประวัติจากเจ้าของช้างและควาญที่เคยเลี้ยงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ
ความคิดเห็นตามประสบการณ์ส่วนตัว ไม่พบข้อสังเกตและไม่เคยได้รับแจ้งจากเจ้าของช้างหรือควาญช้างว่าช้างที่ใช้บรรทุกนักท่องเที่ยวในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่งมาเป็นระยะเวลานานหลายปีนั้นมีโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไป น้ำหนักของแหย่ง (15-25 กิโลกรัม) วัสดุรองหลัง (ประมาณ 50 กิโลกรัม) และนักท่องเที่ยวจำนวน 2 คน (ประมาณ 150 กิโลกรัม) ที่บรรทุกบนหลังช้าง รวมแล้วน้ำหนัก 225 กิโลกรัม หรือประมาณร้อยละ 7.5 ของน้ำหนักตัวช้าง ช้างจึงรับน้ำหนักไม่ถึงร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว
อย่างไรก็ตาม เคยเจอปัญหาหลังช้างบวมอักเสบ ช้างส่ายหลังเพราะปวดหลัง ในกรณีใช้ช้างบรรทุกนักท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง และในกรณีขาแหย่งไม่พอดีกับหลังช้าง เนื่องจากช้างแต่ละเชือกมีความโค้งของหลังไม่เท่ากัน, เคยเจอปัญหาแผลที่เกิดจากสายรัดแหย่งบาดที่อก คอ หรือหาง เมื่อรัดแหย่งแน่นเกินไป สายรัดแหย่งเสื่อมสภาพ มีทรายเข้าไปอยู่ใต้สายรัดแหย่ง ซึ่งปางช้างต่างรู้ดีว่าการจัดการที่ไม่ดีเหล่านี้ส่งผลเสียต่อตัวช้าง แต่คนเลี้ยงช้าง ใช้งานช้าง ไม่ใช่ไม่รักช้าง เมื่อพบปัญหาปางช้างพยายามป้องกัน พัฒนา ปรับปรุง ลองผิดลองถูก มานานหลายปี ทั้งเพราะไม่อยากให้ช้างที่เขารักเจ็บป่วย และเพราะอยากให้ช้างเขาพร้อมใช้งาน รับนักท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง ช้างเจ็บป่วยใช้งานไม่ได้เขาก็ขาดรายได้ไป
สิ่งที่อยากแนะนำ
1. สำหรับปางช้างที่มีโปรแกรมขี่ช้างแบบใส่แหย่ง
- ควรจำกัดจำนวนและน้ำหนักของนักท่องเที่ยวตามขนาดของตัวช้าง
- ควรออกแบบแหย่งให้มีน้ำหนักเบาและเหมาะสมกับสรีระของหลังช้างแต่ละเชือก
- ควรรองแหย่งด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ไม่ระคายเคืองผิวหนังที่หลังช้าง
- ควรจำกัดระยะเวลาบรรทุกนักท่องเที่ยวต่อวัน
- ควรมีช่วงเวลาพักระหว่างรอบการบรรทุก
- ควรเลี่ยงการเดินในทางลาดชัน
- ควรเลือกใช้สายรัดอก คอ และหาง ที่ไม่บาดผิวหนังของช้าง และไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ควรหยุดการใช้งานทันทีหากพบอาการผิดปกติและแจ้งสัตวแพทย์
- ควรคัดเลือกช้างที่โตเต็มวัยแล้ว มีโครงสร้างร่างกายและการเดินเป็นปกติ
2. สำหรับทุกปางช้างไม่ว่าจะใช้งานช้างในรูปแบบกิจกรรมใด หรือสถานที่ที่มีช้างอยู่ในความดูแลอื่นใด ควรให้ความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของช้างในทุกด้าน อาหารการกิน ที่พักอาศัย สุขภาพ พฤติกรรม และจิตใจความรู้สึก ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงเฉพาะขี่หรือไม่ขี่ ใช้หรือไม่ใช้ตะขอ ล่ามหรือไม่ล่ามโซ่ ปางช้างไหนที่ทำได้อยู่แล้ว บางแห่งทำได้มานานแล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป ปางไหนกำลังพัฒนาอยู่ก็ขอสนับสนุน วันช้างไทย 13 มีนาคม 2566 จะช่วยช้างไทยตามความรู้และกำลังที่มี"