สจล. หนุนนวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก เตรียมจัดงาน KMITL INNOVATION EXPO 2023 วันที่ 27-29 เมย.นี้ โชว์พลังสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย 1,111 ชิ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน วัสดุทดแทนลิเธียมไอออน เพราะราคาถูกกว่ามาก สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ
เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.2566) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการอธิการบดี ผนึกความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพันธมิตรนานาชาติ แถลงเตรียมจัดงาน “KMITL Innovation EXPO 2023” ในวันที่ 27 - 29 เม.ย. 2566 ที่ สจล.
งานนี้เป็นการแสดงนวัตกรรมและผลงานวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 1,111 ชิ้น โดยเผยตัวอย่าง 4 นวัตกรรมสุดว้าว! 1.แบตเตอรี่กราฟีนสำหรับยานยนต์ EV ในอนาคต 2.ผ้าไหมไทยย้อมกราฟีนแบบใส่ในเมืองร้อนและเมืองหนาว 3.เม็ดพลาสติกกราฟีน และ 4.ระบบตรวจจับ Plasma Bubble ในชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “รวมพลังสร้างอนาคต เปลี่ยนไทย...เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม” ณ ศูนย์ KMITL Creator Space ชั้น 6 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค
นวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน วัสดุแห่งอนาคต ตอบโจทย์ BCG
สำหรับทีมวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน นำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า กราฟีน (Graphene) เป็นสิ่งที่นานาประเทศเชื่อมั่นว่าเป็นวัสดุแห่งอนาคต โดยเป็นชั้นอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวต่อกันเป็นโครงสร้าง 6 เหลี่ยม (Hexagonal) ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยคุณสมบัติสุดพิเศษหลายด้าน เช่น บางที่สุดในโลก แข็งแกร่งกว่าเพชรและเหล็กกล้าถึง 200 เท่า นำไฟฟ้าได้ดี น้ำหนักเบาแต่พื้นผิวมาก กราฟีน 1 กรัม จะมีพื้นผิวเท่ากับ 10 สนามเทนนิส
ทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ สจล.ได้คิดค้น 3 นวัตกรรมที่ใช้กราฟีน เพื่อคนไทยและมนุษยชาติ โดยเฉพาะ “แบตเตอรี่กราฟีน” ซึ่งคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติปี 2566 สำหรับใช้กับยานยนต์ ปัจจุบัน สจล.เป็นแห่งเดียวในไทยที่สามารถผลิตวัสดุ “กราฟีน” ได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนใน สจล. ด้วยกำลังผลิตเดือนละ 15 กก. ทดแทนการนำเข้าซึ่งมีราคากก.ละกว่า 10 ล้านบาท เรียกว่าเป็นวัสดุล้ำค่า เมดอินไทยแลนด์
นับเป็นความสำเร็จในเฟสที่1 และวันนี้เป็นความสำเร็จในเฟสที่2 ทีมวิจัยคิดค้นพัฒนา“แบตเตอรี่กราฟีน” ครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับคาร์บอนจากวัสดุการเกษตรธรรมชาติ เช่น ถ่านเปลือกทุเรียน ถ่านกัญชง ถ่านหินลิกไนต์ และคาร์บอนทั่วไป มาประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า นอกจากนี้ ทีมวิจัย สจล.ยังได้พัฒนาวัสดุใหม่ คือ วัสดุคอมโพสิตยางพารา ผสม นาโนกราฟีนออกไซด์ เพื่อป้องกันการคายประจุจากไฟฟ้าสถิต ทั้งเป็นตัวดูดซับสารอิเล็กโทรไลต์ให้มีสภาพเปียกได้สูง มีพื้นที่ผิวจำเพาะสูง ช่วยให้การเคลื่อนที่ของไอออนไหลผ่านได้ดีขึ้นจากรูพรุนที่เหมาะสม ส่งผลให้ยางพารามีประสิทธิภาพในการเป็นตัวแยกขั้วไฟฟ้าที่ดี ไม่มีความร้อนสะสมภายใน ทนต่อความร้อนและปฏิกิริยาเคมีจากกราฟีนออกไซด์
จุดเด่นของ “แบตเตอรี่กราฟีน” คือ กักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการอัดประจุได้ที่รวดเร็วขึ้นจากแบตเตอรี่แบบเดิม ราคาถูก ไม่ระเบิด จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ สนับสนุนแนวเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้า มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออนมาก
“ในอนาคตเป็นการพัฒนาเฟสที่3 และ4 สามารถใช้ได้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ก้าวเป็นฮับ EV และสังคมที่ยั่งยืน” รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์กล่าว
ชมงาน KMITL Innovation EXPO 2023 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย.... ผู้สนใจลงทะเบียนที่ลิ้งค์ https://expo.kmitl.ac.th/ และในงานได้จัดเตรียมรถบัสไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้า BEAM
ไว้คอยบริการรับส่งผู้มาเยี่ยมชมด้วย