xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซ ย้ำต้นตอก่อจุดความร้อน 1 ใน 3 “พื้นที่ปลูกข้าวโพดอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรีนพีซ เชี่อมโยงปัญหา! ข้าวโพดกินป่า-มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน จากการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0%

เมื่อเร็วๆ นี้ กรีนพีซ ออกรายงาน “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : การลงทุนข้ามพรมแดนและมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน” ระบุว่า มาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% ซึ่งเป็นมาตรการหลักของรัฐไทยที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ให้สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกโดยที่ยังคงผลประโยชน์สูงสุดมาตั้งแต่ปี 2543 แต่กลับเป็นอีกสาเหตุสำคัญของ “มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน”

“เพราะภาครัฐส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญาการปลูกข้าวโพดผ่านการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเติบโต”

เมื่อปัญหาที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเขตพรมแดนประเทศอย่าง “มลพิษทางอากาศ” ในสถานการณ์ฝุ่นควันพิษที่ภาคเหนือตอนบนของไทยเผชิญเป็นประจำทุกปี ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับมลพิษและการลงทุนข้ามพรมแดน

ในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งในที่นี้หมายความครอบคลุมถึงพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย รัฐฉานของเมียนมา ภาคเหนือของ สปป.ลาว ได้กลายเป็นศูนย์กลางของประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน อันเป็นผลพวงจากการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อขยายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (commodity-driven deforestation) รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งบ่อยครั้งมีการใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยกรีนพีซศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563 ระบุว่า ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของสปป.ลาว


ผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงานดังกล่าวข้างต้น ยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่า จุดความร้อน (hot spot) ที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแถบภาคเหนือของ สปป.ลาว และรัฐฉาน(เมียนมาร์) มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5


ภายใต้ข้อมูลดังกล่าว หากมองนโยบายของรัฐที่ขนาดไปกันไปกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้น จะพบว่ามีจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่น่าสังเกต คือ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี -เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawaddy-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ร่วมกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ที่เกิดขึ้นในวาระการประชุมสุดยอดอาเซียนปี พ.ศ. 2546 โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) ระบุว่า ประเทศไทยริเริ่มกรอบยุทธศาสตร์นี้เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ขอบเขตของกรอบยุทธศาสตร์นี้ครอบคลุมตั้งแต่การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางการเกษตรและอุตสาหกรรม อีกทั้งในกรอบความร่วมมือนี้มีข้อตกลงด้านเกษตรพันธสัญญา เปิดโอกาสให้บริษัทเกษตรของไทย คือ เจริญโภคภัณฑ์ (Poultry World, 2007) ซึ่งในขณะนั้น ดร.อาชว์ เตาลานนท์ หนึ่งในคณะผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจ ACMECS (อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ, 2560) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์จึงเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ริเริ่มลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นการเริ่มต้นการขยายการลงทุนของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทย

ความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการจากไทยในประเทศเพื่อนบ้านนั้นปรากฎชัดเจนในประเทศเมียนมา ข้อมูลจากรายงานประจำปี Grain and Feed Annual (2016) เกี่ยวกับธัญพืชและพืชอาหารสัตว์ของเมียนมา โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ระบุว่า ร้อยละ 60-70 ของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในเมียนมานั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ภายใต้การจัดสรรของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ Myanmar CP Livestock Company โดยเป็นเมล็ดพันธุ์ไฮบริดภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่รัฐฉานเป็นหลัก (USDA, 2016) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับเขตชายแดนทางภาคเหนือของไทย

นอกจากนี้ในรายงาน Grain and Feed Annual ฉบับปี 2020 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2018 (2561) เป็นต้นมา ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาที่ส่งออกมายังไทยนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกินร้อยละ 50 ของปริมาณส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดของเมียนมา (USDA, 2020)

บริษัทผู้ประกอบการหลักในการลงทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์ ที่มา: Mordor Intelligence
รายงานการคาดคะเนทิศทางการเติบโตของตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา Myanmar Maize Seed Market – Growth, Trends and forecasts (2023 – 2028) วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉาน เมียนมานั้น เพิ่มสูงขึ้นเป็นสามเท่าตัวในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ โดยมีการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้องซื้อจากบริษัท รวมถึงมีการใช้ใช้ปุ๋ยและสารเคมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

รายชื่อผู้ลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉาน เมียนมา และสปป.ลาว
ในแต่ละปีปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมายังไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมียนมาและสปป.ลาวนั้น คาดว่ามีจำนวนมากถึงกว่าร้อยละ 95 ต่อปี 

โดยข้อมูลที่เผยแพร่โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเปิดเผยข้อมูลถึงการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาและสปป.ลาว ว่า เพียงเฉพาะครึ่งแรกของปี 2564 (เดือนมค.-กค.) มีการนำเข้าจากเมียนมาร้อยละ 98.25 หรือ 1,717,570,110 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 384,595,449 ดอลลาร์สหรัฐ และจากสปป.ลาว ร้อยละ 0.51 หรือ 14,091,660 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,996,463 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2564 ทำรายได้จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวม 256,785,062 บาท จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 26,479,000 กิโลกรัม (ข้อมูล: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่รวมถึงการที่นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมไก่ ที่ทำให้ไทยอยู่ในอันดับสี่ของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของโลก ทว่ารายได้และผลประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ กลับต้องแลกมาด้วยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทยและคนในภูมิภาค

มาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0%

การที่ภาครัฐส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญาการปลูกข้าวโพดผ่านการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเติบโตภายใต้กฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนโดยภาครัฐอย่างสอดคล้องกันไป แม้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อผลิตเนื้อสัตว์ภายในประเทศและเพื่อการส่งออก แต่การขยายพื้นที่เพาะปลูกกลับเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากกมาตรการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยที่เข้มงวดมากขึ้นและต้องมีเอกสารสิทธิ์ประกอบ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านนโยบายที่เอื้ออย่างเกษตรพันธสัญญากับบริษัทในไทย อีกทั้งการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐด้วยการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าเกษตรหลายชนิด รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในกรณีที่ปลูกในพื้นที่ที่มีแนวอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยนั้นอาจสืบเนื่องจากการเผยแพร่องค์ความรู้และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมีของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรสามารถทำได้ง่าย สะดวกกับการเคลื่อนย้ายผลผลิตกลับเข้ามายังไทย

มาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% เป็นมาตรการหลักของรัฐไทยที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ให้สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกโดยที่ยังคงผลประโยชน์สูงสุดมาตั้งแต่ปี 2543 มาตรการนี้มีการประกาศใช้ทุกปี ด้วยเหตุผลว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ โดยในปีที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 เป็นอีกครั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายอาหารผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในโควตาระหว่างเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม 2565 ( 3 เดือน) ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณข้าวโพดไม่เกิน 6 แสนตัน หรือร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน โดยผู้ที่นำเข้านั้นสามารถเป็นได้ทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และผู้นำเข้าทั่วไปเป็นผู้นำเข้าได้ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 65 (3 เดือน) ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณไม่เกิน 6 แสนตัน หรือร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน จากเดิมที่ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้าเพียงผู้เดียว ในอัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณไม่เกิน 54,700 ตัน (Thai PBS, 2565)

นโยบายการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีบริษัทไทยเป็นผู้รับซื้อหลักและส่งออกกลับมายังไทยนั้น ดูเหมือนเป็นการเพียงขยายอำนาจการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ มิใช่เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากการเผาหรือการสูญเสียพื้นที่ป่า ประชาชนทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังได้รับผลกระทบ ทั้งจากด้านความไม่เป็นธรรมของเกษตรพันธสัญญา ภาระหนี้สิ้น ภัยสุขภาพ และการถดถอยของความสมบูรณ์ทางสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดแล้วปัจจัยทางด้านสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางลม ความเร็วลม การเกิดฝน และความแปรปรวนของสภาพอากาศแต่ละปี อาจส่งผลให้มลพิษทางอากาศที่มีต้นตอจากแหล่งมลพิษที่ประเทศหนึ่ง สามารถเดินทางข้ามมายังประเทศไทยได้อย่างไร้พรมแดน

วิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ปรากฎชัดขึ้นมาตั้งแต่ราวปี 2547 เป็นต้นมา ทั้งป่าไม้ที่หายไปและหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ต่างเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้นโยบายการสนับสนุนของรัฐ จากการศึกษาของกรีนพีซพบว่าตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2565 พื้นที่ตอนบนของประเทศไทยมีการปลูกข้ าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,279 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่ า 4 เท่า) และมีเนื้อที่รวมการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2545 เทียบกับปี 2565 อยู่ที่ 1,926,229 ไร่ นอกจากนี้การสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐยังเชื่อมโยงกับความไม่เป็นธรรมและผลกระทบทางสังคมทั้งต่อเกษตรกร ชนพื้นเมือง รวมถึงผู้บริโภค โดยที่มีอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุดจากสิ่งเหล่านี้ วิกฤตมลพิษ PM2.5 ยังคงเป็นความท้าทายของการจัดการมลพิษทางอากาศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปีที่ความเข้มข้นของ PM2.5 ในระดับที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ไม่ได้หายไปถึงแม้รัฐไทยจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยสามารถขยายขอบเขตเกษตรพันธสัญญาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังชายแดนประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ฝุ่น PM2.5 นั้นเป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่สามารถส่งผลมายังภาคเหนือของไทย

ตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนถึงอิทธิพลของอุตสาหกรรมต่อการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาพร้อมกับการสูญเสียสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่ คำถามที่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยคือ ระหว่างสุขภาพของประชาชนหรือผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม สิ่งใดสำคัญกว่ากัน

อ้างอิง https://www.greenpeace.org/thailand/story/26536/food-agriculture-maize-transboundary-haze/


กำลังโหลดความคิดเห็น