xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA เร่งสำรวจพื้นที่ป่าชายเลน-ป่าแนวชายฝั่ง ยกต้นแบบ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” เปิดโลกทัศน์ “คาร์บอนเครดิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภารกิจการลดก๊าซเรือนกระจกคืบหน้า โดยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาช่วยในการติดตามพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน หลัง GISTDA ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำร่องจนประสบผลสำเร็จ ล่าสุดชวนทุกคนร่วมเปิดโลกทัศน์ Carbon Credit ด้วยเทคโนโลยี เพื่อโอกาส ธุรกิจ ชีวิต และสังคม

ปัจจุบันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศไทย ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่พัฒนาโดย อบก. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ ผ่านกระบวนการ “คาร์บอนเครดิต” 

ขณะที่ GISTDA เข้าไปสนับสนุนโดยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามพื้นที่ป่าไม้ จำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชนให้มีความถูกต้องแม่นยำ

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ GISTDA กล่าวว่า ในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น GISTDA จึงได้เข้ามาสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โดยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามพื้นที่ป่าไม้ ทำให้การประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชนมีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดเวลากว่าวิธีที่ต้องใช้คนจำนวนมาก และอาจคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละปีจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการนำไปใช้บริหารจัดการฟื้นฟูพื้นที่ป่า รวมไปถึงการวางนโยบายสำหรับเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้อีกด้วย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้จำแนกพื้นที่สีเขียวร่วมถึงพื้นที่ป่าทั้งประเทศจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2564 แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า ซึ่งนำไปสู่การคำนวนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ได้

นอกจากนี้ GISTDA ยังได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สำรวจภาคพื้นดิน และเครื่องเลเซอร์สแกนเนอร์ เพื่อสำรวจป่าโดยสร้างแบบจำลอง 3 มิติของแปลงสำรวจ ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของพื้นที่ป่า และสำรวจพันธุ์ไม้ในแปลงสำรวจ ที่จะช่วยให้การคำนวนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น





GISTDA นำทีมโดย ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริม Co-Creation ผ่านการสัมนาดูงาน ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้มุมมองเทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียว เพื่อความสมดุลและยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อน GI Technology ในรูปแบบ Co-Creation สานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเมื่อ 23-24 มิถุนายนปีที่ผ่านมา
กรณีความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กับ GISTDA ดร.สยาม บอกว่า นอกเหนือจากมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้น ประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คณะทำงานหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในเรื่องการอนุรักษ์ป่าในประเทศไทยแบบมีส่วนร่วม และในอนาคต ผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตยังสามารถนำไปใช้เป็นกองทุนอนุรักษ์ป่า เฝ้าระวังไฟป่า และจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

“ตอนนี้เรากำลังดำเนินการพัฒนาข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นที่สีเขียว โดยแบ่งตามรายจังหวัดในประเทศไทย และมีแผนขยายพื้นที่การคำนวนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไปยังพื้นที่ป่าชายเลนและป่าตามแนวชายฝั่งของประเทศไทย”


ดร.สยาม กล่าวอีกว่าในระดับประเทศ รัฐบาล กระทรวงทรัพย์ฯ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ปัจจุบัน ป่าไม้ของประเทศไทย สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 90 ล้านตันต่อปี นอกจากจะเป็นคุณสมบัติที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนแล้ว ยังรวมถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ผ่านกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากพื้นที่ป่าไม้ของชุมชนให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เกิดเป็นรายได้กลับคืนสู่ชาวบ้านและชุมชน


“เมื่อมองเห็นประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ ก็จะเกิดความหวงแหนและร่วมมือกันดูแลรักษาให้มีความอุดมสมบูรณ์ เกิดการพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากป่าชุมชน สร้างแรงจูงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม และในที่สุดย่อมช่วยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน”


GISTDA ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร จัดสัมมนา “Carbon Accounting: Observation from Space”

GISTDA ชวนมาพบกับเหล่าวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ได้แก่ USGS, USAID, USFS, และ JAXA ที่จะมาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีอวกาศหรือดาวเทียมสำรวจ เพื่อตรวจวัดค่าการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ โดยไฮไลท์สำคัญ คือการเสวนา “Carbon Accounting Trend” จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชี Carbon Credit ของประเทศไทย เพื่อชี้แนวทางการตรวจวัด และจัดทำบัญชี Carbon Credit ซึ่งในปัจจุบันโดยใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม

จัดงานวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ ceos_poc@gistda.or.th หรือ เข้าร่วมงานทาง online ผ่าน Facebook live : GISTDA

อ่านเพิ่มเติม :

เทคโนโลยีการตรวจวัดและวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอน (Carbon Measurement & Analytics) https://www.nstda.or.th/home/news_post/10-tech-to-watch-carbon-measurement-analytics/

คาร์บอนเครดิต : การสำรวจพื้นที่สีเขียวเพื่อกลไกการพัฒนาที่สะอาด
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=6334&lang=TH


กำลังโหลดความคิดเห็น