xs
xsm
sm
md
lg

ผลตรวจ "น้องตุลา" ลูกช้างป่าพลัดหลง เกือบไร้เชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







“น้องตุลา” ลูกช้างป่าอ่างฤาไนพลัดหลงโขลงในวัย 3 เดือน ที่มีแฟนคลับติดตามมากบนโลกโซเชียล ผลตรวจสุขภาพล่าสุด สัตวแพทย์ตัดสินใจงดให้ยาต้านไวรัสแล้ว หลังผลตรวจพบใกล้ปราศจากเชื้อโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส

“น้องตุลา” ตอนพบตัวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ปีที่แล้ว แสดงอาการไม่สู้ดี ไม่ลุกยืน อ่อนแรง มีอายุราว 1 สัปดาห์เท่านั้น และโขลงแม่ก็ไม่มารับตัว แต่มาวันนี้ ในวัยราว 3 เดือนเศษ เพจเฟซบุ๊คกรมอุทยานแห่งชาติ รายงานความคืบหน้าเกือบทุกวัน ทำให้แฟนคลับได้เห็นสุขภาพของลูกช้างที่ดีวันดีคืนอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้น้องสามารถแสดงพฤติกรรมของลูกช้างตามวัยเด็กปกติ คือ ขี้เล่น สดใสร่าเริง เสมือนว่าปราศจากเชื้อโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส (ชมคลิปล่าสุด เมื่อ 15 ม.ค.2566)

จากรายงานผลการตรวจโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสล่าสุด (11 ม.ค.ที่ผ่านมา) ทางห้องปฏิบัติการที่ได้ดำเนินการส่งตัวอย่างเลือด ตัวอย่างสวอปในช่องปาก ตัวอย่างสวอปทางทวารหนัก และตัวอย่างแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย ให้กับห้อง ปฏิบัติการทางสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผลปรากฏว่า ตัวอย่างเลือด ตัวอย่างทางทวารหนัก และตัวอย่างแผลที่ผิวหนัง ได้ผลตรวจเป็นลบ (Negative) แต่ตัวอย่างสวอปในช่องปากยังคงให้ผลตรวจเป็นบวก (Positive)

นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒ สัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยว่าการให้ยาต้านไวรัสในการรักษาครั้งก่อนได้ดำเนินการป้อนให้ลูกช้างป่ากินครบตามแผนการรักษาเรียบร้อย ในครั้งนี้ลูกช้างยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรงและไม่แสดงอาการทางกายภาพให้เห็นถึงการอ่อนแอจากเชื้อไวรัส สัตวแพทย์จึงยังไม่ดำเนินการให้ยาต้านไวรัส แต่เสริมวิตามินซีให้กินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย

ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ที่อุทยานฯ เขาสอยดาว น้องตุลา แสดงพฤติกรรมร่าเริงตามธรรมชาติได้ดี กินนมเกือบทุก 1 ชั่วโมง เฉลี่ยจำนวน 750 มิลลิลิตรต่อครั้ง รวมประมาณ 15 ลิตร อุณหภูมิร่างกายปกติ นอนหลับประมาณ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง การขับถ่าย ปกติ ลักษณะเป็นครีม ส่วนน้ำหนักชั่งได้ครั้งล่าสุดเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา คือ 104.4 กิโลกรัม

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ดูแล จะห่มผ้าให้ คลุมคอกกันลม และจุดไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นตลอดในช่วงเวลากลางคืนที่มีอากาศเย็น ส่วนช่วงกลางวันมีอากาศร้อนใช้การเล่นน้ำและทำความสะอาดร่างกายร่วมด้วย ถ้าเป็นช่วงวันหยุดประจำสัปดาห์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนภายในพื้นที่เป็นจำนวนมากก็จะงดการเดินออกกำลังกายของลูกช้างเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ

“หลังจากนี้สัตวแพทย์จะดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างสวอปในช่องปากของลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการคงอยู่ของเชื้อไวรัสภายในเนื้อเยื่อที่ช่องปาก และดำเนินการลดการเกิดความเครียดให้แก่ลูกช้างป่าเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแสดงอาการเมื่อมีภาวะร่างกายอ่อนแอ”

สำหรับโรคเฮอร์ปีสไวรัส (Herpies virus ) ในช้าง มักพบในลูกช้างอาการที่พบคือ เซื่องซึม ไม่กินอาหาร หน้าบวม แก้มบวม ลิ้นบวมและเป็นสีม่วง แผลหลุมตามเยื่อบุช่องปาก มักทำให้ลูกช้างตายอย่างรวดเร็วภายใน 1-2วัน (ชมคลิป เฮอร์ปีสไวรัสในช้าง )

อ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


เครดิตคลิป Vet KU Channel


กำลังโหลดความคิดเห็น