พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง เพื่อให้การอนุรักษ์และจัดการช้างเป็นระบบ เหมาะสม และยั่งยืน โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานคณะกรรมการฯ และประกอบด้วย 14 หน่วยงานภาครัฐ และ 1 สถาบันการศึกษา บูรณาการทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บท และรับทราบสถานการณ์ช้างป่าในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ราว 3,186-3,480 เชือก กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและ อุทยานแห่งชาติ รวม 69 แห่ง
ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ยังคงประสบปัญหาอย่างน้อย 49 แห่ง ที่มีชุมชนและประชาชนได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร รวมถึงความรุนแรงต่อชีวิต ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้แก้ไขตามแผนระดับกลุ่มป่า ปี 63-72 (10 ปี) ด้วยมาตรการติดตามประชากรช้างป่า การสนับสนุนเครือข่ายเฝ้าระวัง และการผลักดันช้างป่า การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ รวมทั้งมาตรการชดเชยเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ และการจัดการควบคุมช้างป่าโดยใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการศึกษาวิจัยควบคุมประชากร
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ช้างเลี้ยง (ช้างบ้าน) ในปัจจุบัน โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวบรวมสถิติปี 2565 จาก 48 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 3,944 เชือก ซึ่งกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านสวัสดิการ การป้องกันการทารุณกรรม การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการรับรองมาตรฐาน ปางช้างด้วย ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วย อนุกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าและช้างเลี้ยง (ช้างบ้าน) โดย พล.อ.ประวิตร กำชับให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ตลอดจนคณะทำงานด้านต่างๆ เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยเฉพาะวางแผนกำหนดพื้นที่และมาตรการควบคุมช้างป่าให้ชัดเจน เพื่อดูแล ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน/ชุมชน และให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งช้าง คนเลี้ยง และเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่อย่างเหมาะสม ปลอดภัยและยั่งยืน