xs
xsm
sm
md
lg

RIP. เสือหนุ่มวิจิตร “ชาติชาย..ไว้ลายเสือ” ชี้เหตุจาก “ความไม่พร้อม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจเฟซบุ๊ก เอก ประทุมรัตน์ โพสต์ภาพและข้อความว่า ข่าวเศร้าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พบศพ "เสือวิจิตร" เสือโคร่งหนุ่มโตเต็มวัยอายุ 7 ปี เสียชีวิตเนื่องจากต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ระหว่างเสือกับเสือ

พร้อมกับอธิบายว่า เสือโคร่งในธรรมชาติอายุขัยมักไม่เกิน 12 ปี เพราะยามหนุ่มกำยำแข็งแรงย่อมมีอาณาจักรที่ยึดครองได้ แต่พอยามอ่อนล้าหมดแรง ย่อมถูกผู้แข็งแรงกว่าแย่งชิง ไม่ใช่แค่อาณาจักรพื้นที่ รวมไปถึงนารีเพศเมีย ลูกเสือในธรรมชาติจึงแข็งแรง เพราะพ่อเสือคือเสือผู้ชนะจากการแข่งขันต่อสู้

เสือผู้แพ้ ต้องล่าถอย หลบซ่อน ถูกจำกัดพื้นที่หากิน เหมือนข่าวไม่นานมานี้ เสือโคร่งตรอมใจจนตายเนื่องจากสูญเสียอำนาจ...เขาถึงเรียกชาติชาย....ไว้ลายเสือ!!! เพราะตายเสียดีกว่าอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี


เหตุความไม่พร้อม มนุษย์ต้องช่วยฟื้นฟูปริมาณเหยื่อ (สัตว์กีบ)

ขณะที่ เพจ Thailand Tiger Project DNP อธิบายถึงความเป็นมาของ “เสือวิจิตร” ตั้งแต่เกิดจนเติบโต และสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะ “ความไม่พร้อม” ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยง

“ความไม่พร้อม” เป็นคำที่มักใช้สื่อความหมายในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก และเป็นสถานการณ์ที่มนุษย์หลายคนไม่อยากพบเจอ หรือหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญ “วิจิตร” เสือโคร่งสายเลือดแห่งป่าห้วยขาแข้ง เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยง “ความไม่พร้อม”
วิจิตรเป็นลูกชายตัวเดียวของเลือดเนื้อระหว่างเอื้องกับธนากรโดยในครอกพี่น้องมีตัวเมียประกอบด้วยอภิญญาและผกา ที่เติบโตมาในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์กีบนานาชนิดไล่เรียงตามขนาดตั้งแต่ เก้ง หมูป่า กวางป่า วัวแดง และ กระทิง แต่เมื่อย่างเข้าสู่วัยที่ต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากกว่าน้ำนมจากเต้านมแม่เพื่อการเจริญเติบโต วัวแดงจึงเป็นชนิดอาหารหลักที่แม่เอื้องลงแรงเพื่อแลกกับการเจริญเติบโตของลูกทั้งสาม

ในทุกๆ ครั้งของการล่าเหยื่อของแม่เสือโคร่งเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงลูกนั้น “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” เป็นสถานการณ์ที่มักมีวิถีตีคู่มาพร้อมๆ กันเสมอ แล้วแต่ว่าสิ่งใดจะถึงเส้นชัยก่อนเท่านั้นเอง สำหรับแม่เอื้องก็เช่นกันแม้ว่าประสบการณ์ที่สะสมมาจากการหาเลี้ยงดูลูกมาหลายครอก “ โอกาส” จึงเป็นสิ่งที่แม่เอื้องได้เอื้อมถึงก่อนที่ “ความเสี่ยง” จะเดินทางมาถึง จึงทำให้ลูกครอกก่อนๆ นั้นมีการเติบโตแบบปกติ

ทว่าในช่วงเวลาของการเลี้ยงดูลูกครอกวิจิตรทั้งสามนั้น มีเพียงครั้งเดียวที่ “ความเสี่ยง” ได้เกิดขึ้นเมื่อครั้งมันลงมือล่าวัวแดงขนาดใหญ่แล้วพลาดท่าได้รับบาดเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรง เป็นเหตุให้การล่าอาหารเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยถูกขัดจังหวะด้วย “ความไม่พร้อม” ของร่างกายผู้เป็นแม่ หมูป่าขนาดย่อมๆจึงเป็นชนิดอาหารที่แม่พอใช้พละกำลังที่หลงเหลือจัดหาให้ได้เป็นอาหารเพียงแค่ติดท้องประทังความหิว ไม่เพียงพอต่อการที่จะทำให้เสือทั้งสามมีการเติบโตในเกณฑ์ระดับปกติทั่วไป เป็นเหตุให้นุดวิจัยตั้งฉายาว่า “เสือแคระ”

ไม่เพียงแต่โครงสร้างร่างกายของ วิจิตร ถูกขัดจังหวะด้วยความไม่พร้อมในการหาเลี้ยงของแม่ การสูญเสียอำนาจของธนากร ผู้พ่อในช่วงปลายของชีวิต ทำให้เกิดความไม่พร้อมของชีวิตทับซ้อนขึ้นมาอีก

วิจิตรจึงเป็นเสือที่ใช้เวลาในการดำรงชีวิตในบ้าน พ่อ แม่นานกว่าเสือวัยรุ่นอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดแม้ว่า มันไม่พร้อม ที่จะออกเผชิญโลก แต่ มันไม่อาจจะยื้อเวลาต่อไปได้เมื่อสิ้นแม่และพ่อไปจากบ้านที่เคยอบอุ่น

การออกท่องโลกของมันสร้างกระแสความรับรู้เรื่องราวของเสือพเนจรนาม “วิจิตร”ให้เกิดขึ้นแก่คนไทยกลุ่มใหญ่ๆ ที่ทุกคนคอยติดตามและเอาใจช่วยให้มันได้มีบ้านอยู่อาศัยที่สงบสุข สามารถหาคู่ชีวิตที่จะสืบทอดเชื้อสายของ ธนากร ผู้พ่อ

โดยปลายทางสุดท้ายที่วิจิตรได้ค้นพบเมื่อออกจากบ้านแม่ที่ห้วยขาแข้งคือ ป่าแม่วงก์-คลองลาน ที่มันพบว่ายังมีพื้นที่ว่างให้มันได้จับจอง ซึ่งหลังจากครั้งนั้นเรื่องราวของมันก็เงียบหายไป ด้วยความคาดหวังว่า มันคงมีบ้านที่มีขนาดกว้างใหญ่และคงจะมีคู่ชีวิตอย่างน้อยหนึ่งตัวภายใต้การคุ้มครองพื้นที่อย่างดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่แล้วความคาดหวังไม่ได้กลายเป็นจริงเมื่อเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนได้พบเสือโคร่งขนาดใหญ่นอนหายใจรวยรินอยู่ข้างลำห้วยซึ่งท้ายที่สุดได้หมดลมหายใจไป ในสภาพที่เต็มไปด้วยริ้วรอย บาดแผล ที่คาดว่าเป็นเหตุแห่งการสิ้นลมครั้งนี้

ท้ายที่สุดได้ข้อสรุปว่ามันคือ วิจิตร เสือโคร่งที่เติบโตมาบนวิถีแห่งความไม่พร้อม แม้ว่ามันได้แสดงความกล้าหาญในการออกเดินทางและเหมือนว่าสามารถจับจองเลือกพื้นที่อยู่อาศัยได้ แต่ว่าสำหรับตัวผู้แล้วการมีคู่ชีวิตเพื่อสืบเชื้อสายของมัน เป็นสิ่งที่ถูกกระตุ้นให้มีความจำเป็นและสำคัญเหนือกว่าอาหารประทังชีวิต

ในพื้นที่ที่มันเลือกจับจองมีชนิดสัตว์ที่เป็นอาหารอาศัยอยู่ แต่ไม่ได้เพียงพอสำหรับแม่เสือที่ต้องหาเลี้ยงดูลูกอีกอย่างน้อยสองตัว คงเป็นเหตุให้บ้านของวิจิตรนั้นเปลี่ยวเหงาเกินไป มันจึงต้องขยับขยายอีกครั้งเพื่อช่วงชิงจังหวะในการหาคู่เพื่อเป้าหมายของการมีชีวิตคือ การส่งถ่ายสายพันธุกรรมให้กับเสือรุ่นต่อไป

การแสวงครั้งนี้จึงนำมาซึ่งการเดินทางที่สิ้นสุด ซึ่งวิถีแห่งการสิ้นลมของมันก็ยังคงอยู่ในวังวนของ “ความไม่พร้อม” ซึ่งครั้งนี้ก็คือปริมาณเหยื่อที่ไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยและเลี้ยงดูลูกเสือให้เติบใหญ่ของเสือตัวเมีย

ความไม่พร้อม ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นล้วนเป็นวิถีแห่งธรรมชาติ แต่ “ความร่อยหรอของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ” เป็นความไม่พร้อมที่มนุษย์เราสามารถช่วยกันแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็น การเลิกล่าสัตว์ป่าเพื่อยังชีพ การร่วมกันปกป้องไม่ไห้เกิดการล่า

แต่ท้ายที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคงจะได้มีการหาแนวทางเพื่อการปกป้อง รวมถึงฟื้นฟูปริมาณสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อในพื้นที่ป่าแม่วงก์-คลองลานให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อย่างเป็นระบบและสอดคล้องวิถีธรรมชาติ เพื่อเป็นบ้านอีกหลังที่เสือโคร่งไทยสามารถจับจองอยู่อาศัย และสืบต่อสายพันธุ์ต่อไปนานเท่านาน


กำลังโหลดความคิดเห็น