ตอนปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า (ช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์) ปัญหา ‘ฝุ่นควัน’ แถบจังหวัดภาคเหนือของไทย หลายคนทราบดีถึงต้นเหตุสำคัญว่าเกิดจากการเผาผลผลิตทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะจาก “ซังข้าวโพดอาหารสัตว์” นั่นทำให้ประชากรในจังหวัดภาคเหนือต้องประสบปัญหาฝุ่นพิษซ้ำแทบทุกปี
ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ตามรายงาน ‘เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย’ ในงาน ‘อาเซียนร่วมใจ: ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร?’ (ASEAN: One Vision, Shared Pollution) ยืนยันถึงต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว
จากผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS ระหว่างปี 2558 - 2563 ของกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ภูมิภาค เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศจากการเผา
โดยมีข้อค้นพบ คือ พื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากถึง 1 ใน 3 ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา และภายในช่วงเวลาเพียง 5 ปี พื้นที่ป่าจำนวน 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด สันนิษฐานว่า เป็นข้าวโพดประเภทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ส่งผลให้ 20 ปี ที่ผ่านมา ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ขณะเดียวกัน พื้นที่ลาดชันเนินเขา ทำให้การใช้รถไถเป็นไปด้วยความยากลำบาก กลายเป็นว่า สิ่งที่ง่ายที่สุดของเกษตรกร คือ จุดไฟเผา ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว ทั้งที่รู้ดีอยู่ก็ตามว่าสร้างปัญหาฝุ่นควัน
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของปัญหาที่เชื่อมโยงกันระหว่างมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พบว่า การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา และนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่น คืออิทธิพลสำคัญที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น ทั้งที่พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถสืบสานไปหาต้นตอผู้ปลูกและบริษัทรับซื้อที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อสร้างกลไกเอาผิดและภาระรับผิดชอบของภาคธุรกิจผู้ได้ผลประโยชน์จากการทำลายป่าและมลพิษข้ามพรมแดน
โดยผลการวิเคราะห์ทำให้ปรากฎข้อมูลว่า ความเข้มข้นของ PM2.5 ในระดับที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพในปี 2562 และปี 2563 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ระหว่างปี 2558-2563 พื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 10.6 ล้านไร่ โดยมีมากที่สุดในเขตตอนบนของสปป.ลาว จำนวน 5,148,398 ไร่ รองลงมา คือ รัฐฉาน (เมียนมา) จำนวน 2,939,312 ไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย จำนวน 2,552,684 ไร่
โดยเฉลี่ยทั้ง 6 ปี ราว 2 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ป่าและ ราว 1 ใน 3 (ของจุดความร้อน) พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพด เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์แต่ละปี พบว่า ปี 2558-2561 และ 2563 เป็นปีที่พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ป่าผลัดใบ ส่วนในปี 2562 พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ปลูกข้าวโพด
นอกจากนี้ จุดความร้อนที่พบในแต่ละประเภท การใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดินเป็นดัชนี (indicator) สำคัญในการระบุแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 และเชื่อมโยงกับการสูญเสียพื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ข้อมูลวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS ในการศึกษานี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกโดย Global Forest Watch ที่ระบุว่า สปป. ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าดั้งเดิม มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี พ.ศ.2563 ระหว่างปี 2544-2563 และพื้นที่ป่าในสปป.ลาวทั้งหมดลดลงร้อยละ 19 คิดเป็นพื้นที่ 20.625 ล้านไร่ หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.42 ล้านตัน
การปลูกข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นการผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเพื่อส่งออกในสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อการเลี้ยงประชากรในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุในปี 2563 ว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกที่สัมพันธ์ตามมาจากการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือการส่งออกสินค้าไก่เป็นอันดับสามของโลก มีมูลค่า 3,116 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 97,903 ล้านบาท) รายงานวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดโดย UNCTAD ระบุว่า ในแขวงไชยบุรีของ สปป.ลาว เกษตรกรราว 77% ของใช้พันธุ์ Advanta’s Pacific จากไทย และอีก 28% เป็นข้าวโพด CP888 โดยส่งออกเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในจีน เวียดนามและไทย
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ข้อค้นพบหลักในรายงานนี้ คือเสียงย้ำเตือนอีกครั้งถึงเจตจำนงทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบายของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และมีมาตรการทางกฏหมายที่ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีภาระรับผิดต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน การผลิตและระบบอาหาร พร้อมไปกับการรับรองสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
ทำไมการบุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพดจึงเกิดขึ้นและลุกลาม?
คำตอบที่มีการวิเคราะห์และกล่าวถึงเสมอบนเวทีเสวนา คือ เพราะปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในไทยนั้น แทบเรียกได้ว่าเป็นตลาดผูกขาด ด้วยมีบริษัทรับซื้อรายใหญ่เพียงไม่กี่รายครองตลาด ยิ่งกว่านั้นยังมีอำนาจต่อรองทางธุรกิจกับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการต่อรองกับเกษตรกรปลายน้ำเพื่อผลประโยชน์สูงสุด
เมื่อข้าวโพดคือสินค้าเกษตรที่ทั้งปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตปริมาณมากและเร็ว อีกทั้งยังมีสารอาหารเหมาะสมแก่การนำไปเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู วัว หรือปลา การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดจึงเกิดขึ้นผ่านทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุน เมล็ดพันธุ์ และการประกันราคารับซื้อเพื่อให้เกษตรกรอุ่นใจว่าเมื่อปลูกข้าวโพดแล้วมีตลาดรองรับชัดเจนแน่นอน
ทว่าปัญหาที่ตามมาคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีอำนาจในการต่อรองต่ำนั้น ล้วนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดจึงเกิดขึ้น และดูเหมือนว่าจะกินบริเวณกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร้ทิศทางและการควบคุม อีกว่ากันว่าบริษัทรับซื้อรายใหญ่ให้เหตุผลว่า การรับซื้อสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมนั้นเป็นการรับซื้อแบบรายย่อย จึงไม่สามารถเข้าไปควบคุมการผลิตและการจัดการพื้นที่ได้ทั่วถึง
ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ตรงการทำไร่ข้าวโพดส่วนใหญ่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องสูง ทั้งการใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อปรับหน้าดิน ที่มีการประเมินว่ามีสัดส่วนถึง 1 ลิตรต่อไร่ รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งผลิตให้ทันความต้องการของบริษัทรับซื้อรายใหญ่ ส่งผลให้หน้าดินถูกทำลาย ยังผลให้เกษตรกรต้องบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ๆ เพื่อทำการผลิตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นสารเคมียังปะปนกับทั้งดินและน้ำ จากการชะล้างหน้าดินที่เจือปนสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำทางธรรมชาติ ซึ่งสุดท้ายไหลรวมมายังแม่น้ำใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราทุกคน
แต่ผลกระทบทางตรงที่สร้างความเดือดร้อนทันที คือปัญหาหมอกควันในทุกปี เป็นมลพิษทางอากาศทำให้สุขภาพของประชากรในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบมานานนับ 10 ปี ก่อนที่ชาวกรุงเทพฯ จะประสบมากกันในระยะ 4-5 ปีนี้เสียอีก
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ชี้ว่า แม้ว่าต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือมีมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเผาในพื้นที่ ควันจากรถยนต์ หรืออุตสาหกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหมอกควันในพื้นที่จังหวัดชายแดนอย่าง จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงราย มีต้นเหตุมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษในประเทศเพื่อนบ้าน
“คนภาคเหนือไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มาจากต้นเหตุภายในประเทศเท่านั้น แต่มลพิษจากประเทศเพื่อนบ้านที่ลอยตามลมข้ามพรมแดนมาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ คาดว่าในปีหน้าจะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ยาวนาน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดผลกระทบหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่ตอนบนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”