ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat แจ้งผลสภาพของปะการังฟอกขาว หลังผ่านไป 18 เดือน
“สภาพของปะการังเป็นอย่างไรบ้าง ? นั่นคือโจทย์ที่ผมอยากรู้เช่นกันว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้นเป็นอย่างไร” (ดูภาพจากโดรนครั้งแรกที่เห็นปะการังฟอกขาว เมื่อ 3 มิถุนายน 2564)
เป็นการเริ่มโครงการระยะยาวโดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง / ปตท.สผ. ในการใช้โดรน/การสำรวจภาคสนามทำแผนที่ปะการังที่หินต่อยหอย ระยอง นับตั้งแต่เกิดฟอกขาวกลางปี 2564
เราไปทุก 3 เดือนครับ จึงทำไทม์ไลน์ สรุปให้เพื่อนธรณ์ได้
ก่อนหน้านั้น - ปะการังสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีหัวปะการังตาย เพราะน้ำร้อน/ฟอกขาว - ปะการังฟอกเกิน 80% หัวปะการังก้อนตายเยอะ (ดูภาพ)
3 เดือน - น้ำจืดลงทะเล สาหร่ายสีเขียวขึ้นบนหัวปะการัง
6 เดือน - สาหร่ายเยอะมาก ทำให้ปะการังโทรม
9 เดือน - สาหร่ายหายไป แต่หัวปะการังยังคงตาย
12 เดือน - น้ำร้อนอีกครั้ง แต่ฟอกขาวเบากว่าปี 63
15 เดือน - น้ำจืดปีนี้ลงเยอะมาก ปะการังโทรมจากน้ำจืด แต่ไม่มีสาหร่ายเท่าปีก่อน
18 เดือน - ล่าสุด วันนี้ ปะการังขนาดเล็กหลายชนิดเริ่มฟื้น ดูดี แต่ปะการังก้อนที่หัวตายยังคงไม่ฟื้น อย่างไรก็ตาม หากไม่มีน้ำร้อนซ้ำในกลางปีหน้า น่าจะดูดีขึ้น
ปัจจัยสำคัญจากผลกระทบโลกร้อน คือ
- น้ำร้อนผิดปรกติเกิดถี่ขึ้นแทบทุกปี ปะการังยังไม่ทันฟื้นก็ฟอกขาวใหม่
- ฝนตกหนักในช่วงสั้นๆ มวลน้ำจืดขนาดใหญ่ไหลลงทะเลพุ่งมาถึงหินต่อยหอย ความเค็มเปลี่ยนฉับพลัน ปะการังโทรม สัตว์ทะเล เช่น เม่นทะเล ตายจำนวนมาก ทำให้ไม่มีผู้ควบคุมสาหร่ายในช่วงนั้น
- ปะการังอาจไม่ตาย แต่อ่อนแอลง เป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
นั่นคือข้อมูลที่หินต่อยหอย แนวปะการังกลางทะเลที่น้ำหมุนเวียนดี แต่ถ้าเป็นที่เกาะมันใน แนวปะการังในเขตน้ำตื้นจะเป็นอย่างไรบ้าง ?
ช่วงนี้น้ำลงกลางคืน ต้องรอให้เย็นสุดถึงลงไปดู/สำรวจโดรน จะรีบสรุปและนำมารายงานเพื่อนธรณ์
เพราะทุกคนรู้ว่าโลกร้อนส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ แต่เรายังขาดความเข้าใจว่าเสียหายแค่ไหน มีหลักฐานยืนยันไหม ?
นั่นคือเป้าหมายหลักของคณะประมงที่จะตามรอยปะการังยุคโลกร้อนไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
เพราะในอนาคตเมื่อมีกองทุน loss & damage (COP27) มีนั่นมีนี่ เราจะได้ตามโลกได้ทัน
“สำคัญกว่านั้นคือเราจะได้ปรับแผนรับมือความเสียหายที่เกิดขึ้น ช่วยเหลือพี่น้องคนทะเลที่ทำมาหากินทั้งท่องเที่ยวทั้งประมงและช่วยย้ำเตือนว่า ก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์กำลังทำร้ายทะเลแสนสาหัส ถ้าไม่ช่วยกัน เราก็ไม่มีทางออก จึงเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ต้องบอกซ้ำๆ ย้ำเตือนกันเรื่อยไป เหนื่อยไม่ได้ ท้อไม่ได้ เพราะภารกิจมันยิ่งใหญ่เหลือหลายครับ”
หมายเหตุ การสำรวจบริเวณที่เรียกว่า “หินต่อยหอย” คือแนวปะการังกลางน้ำใกล้เกาะมันใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปะการังดีที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง
อ้างอิงThon Thamrongnawasawat