“อ.สุชนา” จุฬาฯ คว้า “ASEAN Biodiversity Heroes Award ปี 2022” เตรียมลุยงานอนุรักษ์ สร้างการตระหนักรู้ความหลากหลายทางชีวภาพปะการัง
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และรองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes Award ปี 2022 จากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเชีย โดยรางวัลนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะหน่วยประสานงานกลางคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศได้คัดเลือก ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ เข้ารับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes ซึ่งหลังได้รับรางวัลจะปฎิบัติหน้าที่เป็นฑูตด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศไทยและอาเซียน
ศ.ดร.สุชนา เปิดเผยว่าการที่ศูนย์อาเซียน ฯ ได้ดำเนินโครงการ ASEAN Biodiversity Heroes เพื่อคัดเลือกผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีผลงานและประสบการณ์เชิงประจักษ์ในการอนุรักษ์และคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตนเองได้รับรางวัลนี้ และพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความตระหนักให้บุคคลอื่นในการปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
“ส่วนตัวรู้สึกดีใจมาก เพราะเป็นช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการอนุรักษ์ จะเป็นผู้ชายที่ได้รับรางวัล เพราะเป็นงานที่ได้ออกภาคสนาม การที่ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้ามาตรงนี้ แสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วการทำงานด้านการอนุรักษ์ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น ผู้ชายทำผู้หญิงก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน อีกทั้งรางวัลที่นี้ต้องการที่จะให้เราสร้างการตระหนักรู้ ให้กับสังคม และเยาวชนคนทั่วไป ให้เห็นความสำคัญความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ซึ่งจะต้องสร้างการตระหนักรู้ให้ทั้งทางตรง ทางอ้อม โดยการสร้างความตระหนักรู้ทางตรงเช่น การพูดคุยโดยตรง อย่างเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายปะการัง ที่อาจจะต้องมีการจัดกิจกรรมต่างๆให้เด็กได้เข้ามาสัมผัสลงมืออย่างจริงจัง เพื่อให้เหตุผลในการที่จะต้องอนุรักษ์หลากหลาย โดยรางวัลนี้มอบให้ในทุกๆ 5 ปี และจะต้องทำงานนี้สร้างความตระหนักเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นทางด้านทะเล “ศ.ดร.สุชนากล่าว
ศ.ดร.สุชนา ยังกล่าวว่า จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ความหลากหลายทางชีวภาพเพราะปัจจุบันได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก โดยเฉพาะ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่หลายครั้งจนลืมไปว่าในการประโยชน์จะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วย เพราะถ้าไม่มีการอนุรักษ์เกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็จะใช้ทรัพยากรหมดไป.