“มุ่งมั่น BCG ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ -เติบโตครอบคลุมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง-ตอบรับก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”
วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2565) ณ ห้อง Athenee Crystal Hall ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit ตามคำเชิญของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC)
ประเด็นสำคัญของเอเปคปีนี้ อยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยนำมาเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโต ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ใน 3 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นแรก ส่งเสริมความยั่งยืน ย้ำไทยปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี 2065
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกและสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปคในปีนี้ และมุ่งมั่นที่จะนำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไร
นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่า ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ความร่วมมือที่เข้มแข็งและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ไทยกำลังสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยแก่ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการลดของเสีย และการปล่อยก๊าซมลพิษ การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปพร้อมกัน
ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV และการพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ไทยมุ่งจะเป็นฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้ โดยเราพร้อมร่วมมือทางด้านการเงินและด้านวิชาการ ตลอดจนการแบ่งปัน ความรู้ การเผยแพร่เทคโนโลยี และการพัฒนาขีดความสามารถกับทุกท่าน อย่างรอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นี้
ประเด็นที่สอง การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันและต้องมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเส้นทางการพัฒนา ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ผลักดันให้มองไกลไปกว่าการสร้างผลกำไร และหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อทุกระดับในภูมิภาค โดยเอเปคผลักดันให้มีการปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น และขจัดอุปสรรคของการทำธุรกิจ ทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน การส่งเสริมบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน การช่วยเหลือ MSMEs การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีดิจิทัล และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเทศไทยผลักดันการเสริมพลังสตรี และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ว่าเห็นได้จากความยินดีที่ได้พบกับเยาวชนโครงการ APEC Voices of the Future และตอบรับแถลงการณ์เยาวชน (Youth Declaration) ซึ่งประเด็นสำคัญ คือการเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนและการปกป้องโลกเพื่อคนรุ่นหลัง
ประเด็นที่สาม การมุ่งไปสู่ยุคดิจิทัล
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ และการเจริญเติบโตในภูมิภาค เอเปคจึงเน้นให้การมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค โดยร่วมมือกันเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญท่ามกลางการฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาด และส่งผลต่อการพัฒนาของภูมิภาคในระยะยาว
เอเปคได้วางรากฐานในการปฏิรูปทางโครงสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขับเคลื่อนงานที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าดิจิทัลและความเชื่อมโยง รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค อย่างไรก็ตาม เอเปคต้องดำเนินการร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านดิจิทัลเพื่อลดช่องว่าง สร้างความตระหนักรู้และสร้างความรู้ทางดิจิทัล พัฒนาขีดความสามารถ และส่งเสริมทักษะทางดิจิทัล เพื่อสร้างความสามารถของภาคแรงงานในยุคดิจิทัล
สำหรับประเทศไทยมีการปรับตัวและปฏิรูปทางโครงสร้างที่จำเป็น มีความยินดีต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะและแรงงานขั้นสูงเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งมีมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ ไทยได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล พร้อมจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นเขตนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาค
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยจะเสนอให้ผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของเอเปคไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน สนับสนุนความพยายามในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะให้เป็นศูนย์ ซึ่งความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภูมิภาคก้าวไปข้างหน้า และเติบโตไปด้วยกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง