“อีอีซี” จับมือสมาคมธุรกิจแห่งเยอรมนีฯ (OAV) หนุนดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้เศรษฐกิจ BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาบุคลากรแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างโอกาสลงทุนพื้นที่อีอีซีได้ตามเป้า 2.2 ล้านล้านในปี 2570
วันนี้ (15 พ.ย. 2565) นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี พร้อมด้วยนางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ ให้การต้อนรับและกล่าวเปิดการประชุมร่วมกับ สมาคมธุรกิจแห่งเยอรมนีและเอเชียตะวันออกและอาเซียน (OAV) ซึ่งได้เชิญนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำในประเทศเยอรมนีเดินทางมาประเทศไทย และจะเข้าเยี่ยมชมพื้นที่อีอีซี ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ โดยคณะนักธุรกิจฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปจาก นาย Georg Schmidt เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “Business Opportunities in Thailand and EEC” โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบรรยาย เช่น นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการบีโอไอ
นางสาวพริ้วแพร ชุมรุม ผู้อำนวยการสำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน กระทรวงพาณิชย์ นางลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นายชาลี ขันศิริ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันนำเสนอข้อมูลโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยและอีอีซี ความก้าวหน้าโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซี สิทธิประโยชน์แนวทางส่งเสริมการลงทุน เพื่อจูงใจและเป็นข้อมูลสำคัญให้นักธุรกิจจากเยอรมนีที่สนใจการลงทุนในไทย
การจัดประชุมฯ ครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จ การจัดเวทีต้อนรับกระทรวงการลงทุน และการจับคู่นักลงทุนซาอุดีฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา และสานต่อการเยือนประเทศเยอรมนีของคณะเลขาธิการ สกพอ.เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ที่ได้มีการพบปะนักลงทุนเยอรมนีเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในไทย และได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน จัดเวทีเสวนาให้นักธุรกิจและนักลงทุนเยอรมัน ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและสิทธิประโยชน์การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยเฉพาะด้านยานยนต์แห่งอนาคต การขนส่งโลจิสติกส์ ดิจิทัล ที่สอดคล้องกับการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว BCG อันเป็นนโยบายสำคัญของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ คณะนักธุรกิจเยอรมนีจะเข้าเยี่ยมชมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) EEC Automation Park และศูนย์จีโนมิกส์ ในมหาวิทยาลัยบูรพา และโรงงานพลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดยจะมีการพบปะกับผู้บริหารของบริษัทเยอรมนีที่มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองด้านการลงทุนที่โรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และ สกพอ. จะจัดการบรรยายสรุปที่อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล และความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย
สำหรับประเทศเยอรมนี นับเป็นคู่ค้าสำคัญและลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีบริษัทเยอรมันมากกว่า 600 บริษัทเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น บริษัท Siemen บริษัท Mercedes Benz บริษัท BMW บริษัท Schaeffler บริษัท Robert Bosch และบริษัท Continental เป็นต้น โดยภาคเอกชนเยอรมนีได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบก เรือ อากาศ ของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้
การเดินทางมาไทยและเยี่ยมชมพื้นที่อีอีซีของคณะนักธุรกิจเยอรมนีครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสการลงทุนระยะ 2 ตามเป้าหมายของอีอีซีให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท (ปี 2566-70) รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำให้พื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรม BCG ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับนักธุรกิจจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนได้ต่อเนื่อง