xs
xsm
sm
md
lg

เผยเกร็ดการทำงาน 30 ข้อ อดีตรอง ผบ.ทบ.ฝากถึงทหารรุ่นน้องหลังเกษียณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกเผยเกร็ดการทำงาน 30 ข้อจากอดีตรองผู้บัญชาการทหารบก "เรื่องเล่าจากพี่สู่น้อง" ให้เก็บไปใช้หรือประยุกต์การทำงานตามความเหมาะสม

วันนี้ (26 ต.ค.) ในโซเชียลฯ มีการแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กเพจ "กองทัพบก Royal Thai Army" ของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ซึ่งเผยแพร่โพสต์ในหัวข้อ "เรื่องเล่าจากพี่สู่น้อง" เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นเกร็ดความรู้จากประสบการณ์ชีวิตการทำงานกว่า 30 ปีของ พล.อ.อภินันท์ คำเพราะ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ที่ต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค ความสำเร็จ และความล้มเหลว บนเส้นทางแต่ละย่างก้าว ทั้งระดับกองทัพบก ในระดับกลาโหม และในระดับต่างประเทศ โดยมีเกร็ดการทำงานทั้งหมด 30 ข้อ ได้แก่

ข้อที่ 1 : การเข้ามาทำงานวันแรกสำคัญ มันเป็น “ภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาด” ผมสอนลูกด้วย ไปวันแรกนะ ลูกต้องยิ้มให้กับทุกคนที่ทำงาน ดีกับทุกคน “อย่าปฏิเสธการทำงาน” เพราะว่าภาพลักษณ์วันแรกคนก็จะจำว่าคนนี้ทำงานยังไง เป็นคนยังไง คนเขาก็จะจดจำ Memory ว่าคนนี้เป็นคนทำงาน เป็นคนดี คนก็จะจำอยู่อย่างนั้น

ข้อที่ 2 : จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานอย่างหลากหลาย รับมาแล้วทุกหน้าที่ ได้เรียนรู้ว่า “งานก็เหมือนกับบุพเฟต์” ถ้าเรายิ่งตักมากเราก็ได้มาก

ข้อที่ 3 : ฝ่าย เสธ.เนี่ย “คอมพิวเตอร์สำคัญ” ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Excel, PowerPoint ต้องรู้จักการเรียนรู้ เพิ่มทักษะให้ตัวเอง

ข้อที่ 4 : ประสบการณ์ที่ผ่านมามันเป็นบทเรียนชีวิต ผมจับได้ว่า “มนุษย์คนเรามีศักยภาพในตัวเอง” แต่มันยังไม่ถูกบีบบังคับให้เอาออกมาใช้ ถ้าเมื่อไหร่ที่ท่านถูกบังคับ หรือถูกบีบเอามาใช้ ท่านต้องทำได้อย่างแน่นอน อย่าคิดว่าไม่เก่ง หรือไม่มีความรู้ แต่ไปอยู่ในจุดที่ต้องทำ มันต้องทำให้ได้ ต้องใช้ศักยภาพของตัวเองบีบคั้นออกมา

ข้อที่ 5 : เมื่อไหร่ที่มี “ความพยายาม” และ “มีเป้าหมายในชีวิต” ท่านก็จะสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้ คนมีศักยภาพเมื่อถึงเวลาที่ต้องนำออกมาใช้ ก็ต้องนำออกมาใช้ ทำบ่อยๆ มันก็ชำนาญมากขึ้น

ข้อที่ 6 : ความก้าวหน้าในชีวิตราชการของคนเรา มันประกอบด้วยเพื่อนร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ มันจะมี “ขีดความสามารถ” แค่ยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ จะเป็น “ความประพฤติ” คนเก่งขนาดไหนถ้าความประพฤติไม่ดีเขาก็ไม่เอา แต่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่เหลือ “โชคชะตา” ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตของแต่ละคน

ข้อที่ 7 : “ต้องใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา” อ่านเรื่องหนึ่งต้องมีความรู้ใหม่เกี่ยวกับทหารเรื่องหนึ่งตั้งเป้าหมาย เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องนะ แต่เราต้องรู้นะว่าใครรู้เรื่องนี้ที่สุดแล้วเราไปหาคนนั้นและก็ศึกษาจากคนนั้นให้ดีที่สุด

ข้อที่ 8 : อย่าทำตัวเป็นคนที่แก้วน้ำเต็ม อย่าคิดว่าเก่งแล้วเราไม่เรียนรู้จากใครไม่ยอมรับฟังคนอื่น เรียนรู้จากทุกคนเลย คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน มันต้องมีมุมมองการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้การประสบความสำเร็จจากคนอื่น เรียนรู้จากความผิดพลาดของเรา การเรียนรู้คือดีที่สุด เมื่อไหร่ที่เรารับฟังปัญหา นำปัญหามาเสนอ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขคลี่คลาย

ข้อที่ 9 : ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ อยู่แต่ว่าใครจะวางแผนการใช้เวลาได้ดียังไง ใครที่สามารถที่จะบริหารเวลาได้ดีมาก จะได้เปรียบในเรื่องการทำงาน

ข้อที่ 10 : ฝ่ายอำนวยการก็ต้อง “จับประเด็นงานให้ได้” ต้องจับหลักว่างานที่จะทำคืออะไร ประเด็นเรื่องนี้งานหลักคืออะไร วิเคราะห์ว่าอันไหนงานรวม อันไหนงานหลัก “ปัจจัยความสำเร็จ” ของงานคืออะไร

ข้อที่ 11 : “อย่าฝากความสำเร็จของงานไว้ที่ใคร” ทั้งลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เคยมีคนบอกสอนผม ผู้ใหญ่เราจะต้องทำตัวให้เป็น “ดาวฤกษ์” การทำงาน “ต้องไม่พึ่งพาใคร” จะทำตัวเป็นดาวเคราะห์ไม่ได้

ข้อที่ 12 : เรื่องหนึ่งที่อยากจะสอนน้องก็คือว่า “ไม่มีที่ทำงานไหนปฏิเสธคนทำงาน” คำนี้ได้จากท่าน พลเอก อักษรา เกิดผล แล้วที่ผ่านมาทุกระดับหน่วย ผมไม่เคยไปวิ่งเต้นที่ไหนเลย ถ้าเราทำงานแล้ว ที่ทำงานจะวิ่งมาหาเราเอง

ข้อที่ 13 : ท่านต้องมองให้ไกลๆ มองผลประโยชน์ของส่วนราชการในระยะยาว สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องก็พยายามปรับทำตามระบบที่ถูกต้องให้ได้หมด “มองผลประโยชน์ในระยะยาว” ก็แก้ปัญหาในทุกๆ เรื่องได้ เมื่อไหร่ท่านตั้งหลักในการทำงานโดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวม สุดท้ายไม่มีใครว่าท่านหรอก

ข้อที่ 14 : “ยึดมั่นในหลักการ” ทำในสิ่งที่ถูกต้องซื่อสัตย์สุจริต อนาคตอันใกล้นี้โลกมันจะถูกตรวจสอบมากขึ้น ไม่มีใครปกป้องท่านได้แม้แต่ผู้บังคับบัญชา ท่านจะต้องทำเรื่องที่ถูกต้องให้ตัวเอง “เป็นเกราะกำบังที่ดีที่สุด”

ข้อที่ 15 : ท่านจะต้อง “เคารพในหลักการ” ความชอบธรรมและนิติธรรม ต้องยึดมั่นในหลักการที่มีอยู่ ระเบียบกฎบังคับอะไรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ท่านจะเป๋ไม่ได้ “จะมีอคติไม่ได้” จะไม่มีความไม่ยุติธรรมไม่ได้

ข้อที่ 16 : เลือกทางที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ถูกเสมอ ไม่มีผิด ไม่มีใครว่าอะไรได้ อาจจะว่านะแต่เขาทำอะไรไม่ได้ เพราะเรา “ทำในสิ่งที่ถูก”

ข้อที่ 17 : หัวใจของฝ่ายอำนวยการที่ผมถูกสอนมาเสมอ เราไม่ใช่เป็นคนตกลงใจ หน้าที่ของทุกท่านคือ “เลือกหนทางที่ดีที่สุด” ให้ผู้บังคับบัญชา ผู้ใหญ่เขามองภาพกว้างกว่าเรา ฝ่ายอำนวยการ “ต้องไม่มัดมือ” ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการในเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เรื่องที่มีความขัดแย้ง

ข้อที่ 18 : ฝ่ายอำนวยการต้องร่างหนังสือที่ “แสนจะสมบูรณ์” ที่ผ่านการประสานมาอย่าง “รอบคอบ” ที่ไม่มีข้อขัดแย้ง ทุกคนแฮปปี้

ข้อที่ 19 : การเขียนข้อพิจารณาฝ่ายอำนวยการ จากประสบการณ์ผมคิดว่า “ข้อเท็จจริงสำคัญที่สุด” ต้องเอาข้อเท็จจริงมาให้ได้ คุณต้องรู้ภูมิหลังของปัญหา กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความเป็นมาของเรื่องนั้น ข้อเสนอจะสว่างไสวมาเลย

ข้อที่ 20 : ท่านต้อง “พูดให้น้อย ยึดหลักการ น่าเชื่อถือ” เวลาพูดเนี่ยท่านไม่สมควรที่จะพูดให้ต้อนคนใดคนหนึ่งให้จนมุม มันไม่ดี

ข้อที่ 21 : “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” ถ้าเราเป็นฝ่ายอำนวยการที่มีความตั้งใจหรือมีความรู้ดีพอก็จะแก้ปัญหาได้ หลายๆ อย่างที่เราแก้ไม่ได้เพราะเราเลือกที่จะออกทางประตูไง ฝ่ายอำนวยการต้อง “ออกทางหน้าต่าง” บ้าง หรือ “พังกำแพง” ไปบ้าง

ข้อที่ 22 : เมื่อได้รับภารกิจงานสิ่งแรกที่ท่านจะรู้สึกคือมันเคว้งคว้างไปหมดร่องรอยไปในอากาศไปหมด หน้าที่ของท่านคือ “จับเล็กผสมน้อย” ผสมนั่น ผสมนี่ วาดภาพในอากาศผสมปนเป ให้เป็นหลักการที่เชื่อถือได้ หน้าที่ที่ท้าทายของท่านคือ “การปั้นน้ำให้เป็นตัว” ทำเรื่องที่ล่องลอยในอากาศให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้

ข้อที่ 23 : ฝ่ายอำนวยการข้อสุดท้ายสำคัญมาก ท่านจะต้อง “เป็นที่รักของคนทั่วไป” เพื่อนร่วมงาน ท่านต้องอาศัยความร่วมมือจากคนอื่นเสมอ ฝ่ายอำนวยการจะไม่มีวันที่จะทำงานสำเร็จด้วยตัวคนเดียว ท่านทำงานต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ คนเสมอ

ในตอนท้าย พล.อ.อภินันท์ย้ำว่า “ให้น้องเก็บไปใช้ หรือประยุกต์ในการทำงาน เพราะแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีวิถีการทำงานของตัวเอง มุมมองที่ให้วันนี้ ก็ไปปรับใช้ตามความเหมาะสม”

อนึ่ง พล.อ.อภินันท์ คำเพราะ เพิ่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง รองผู้บัญชาการทหารบก ไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 พร้อมกับ พล.อ.สิริพจน์ รำไพกุล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก พล.อ.ปราการ ปทะวานิช ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก และ พล.อ.จิรเดช กมลเพ็ชร ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก
กำลังโหลดความคิดเห็น