xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประเด็นร้อนบนโลกที่กระทบทุกคน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มีคำถามว่า จากการโฟกัสข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขององค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีประเด็นเด่นที่บอกแนวโน้มสำคัญอะไรบ้าง และมีความเห็นอย่างไร?

จัดให้ครับ… จากการที่ทีมงาน ผู้จัดการรายสัปดาห์ ได้เริ่มจัดทำเซ็คชั่น Green Innovation&SD ภายใต้สื่อในเครือผู้จัดการ ร่วมกับ ผู้จัดการ 360องศารายวัน เวปไซต์ MGR Online เพจเฟสบุ๊ก Green&SD Manager นับว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีสอดคล้องกับกระแสโลก

ด้วยวิชาชีพสื่อมวลชน เราทำหน้าที่นำเสนอข่าวสาร ข้อมูล รายงานบทบาทความคืบหน้าขององค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความสมดุลใน 3 มิติ ESG สะท้อนความเป็นกิจการที่ "ดีและเก่ง"

นี่เป็นคุณลักษณะของกิจการที่เหมาะกับยุคดิจิทัล ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้คนในสังคมที่เกี่ยวข้องมีโอกาสรับรู้และตรวจสอบข้อมูล ได้สะดวกรวดเร็วจากเครื่องมือของสื่อในสังคมออนไลน์

คนในสังคมธุรกิจจึงมีแนวโน้มจะเลือกคบ-ค้า และสนับสนุนหรือเลือกลงทุนซื้อหุ้นของกิจการแนวนี้ เพื่อลดความเสี่ยง และใช้ข้อมูลที่เปิดเผยโปร่งใสขององค์กรที่บริหารจัดการในแนวทางESG เพราะว่า…

มี E:Environmental เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มี S:Social / Stakeholders รับผิดชอบต่อสังคม หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
มี G:Governance บริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม

บทบาทผลงานของสื่อ Green Innovation&SD จึงได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 20” ประเภทสื่อมวลชนดีเด่น จากมูลนิธิลูกโลกสีเขียวเมื่อปี 2564


เพราะโลกไม่เหมือนเดิม ธุรกิจจึงต้องปรับตัว
ด้วยประสิทธิภาพและความก้าวหน้าของเทคโนโลยียุคดิจิทัล ส่งผลให้บริบทของโลกธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งการปรับเปลี่ยนและการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้บริบทของโลกธุรกิจเกิดสภาวะที่เรียกว่า VUCA World คือ มีความผันผวนสูง (Volatility) ไม่แน่นอน ( Uncertainty) สลับซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ(Ambiquity) จึงเป็นสภาวะที่คาดการณ์และชี้ชัดได้ยาก

โดยเฉพาะบทบาทของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีหลากหลายรูปแบบ และสะดวกรวดเร็วในการใช้ ช่วยให้คนในสังคม รับรู้ เรียนรู้ เลียนแบบ และเปรียบเทียบข้อมูล ในการตัดสินใจ จึงมีการแสดงออกอย่างไม่เกรงใจทางสังคมโซเชียลมีเดีย เมื่อเห็นสิ่งที่ ”ไม่ถูกต้อง” หรือ ”ไม่ถูกใจ”

ดังนั้นนักธุรกิจและนักการเมืองที่มีชุดความคิดแบบเดิมๆจึงมักเจอปัญหากดดัน

ขณะที่นักบริหารในวงการธุรกิจชั้นนำ เช่นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และผู้ส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ได้เห็นสัญญาณแนวโน้มของกระแสสังคม จึงต้องปรับแนวทางการบริหาร ที่คำนึงความสมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือจะคิดแบบเก่าที่มุ่ง”กอบโกย” ไม่ได้แล้ว เพราะในยุคใหม่ต้องมีบทบาท”เกื้อกูล” จึงมีการสื่อสารสู่สังคมและนักลงทุนให้รู้ว่าเป็นธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ทำร้ายสังคม ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหวสำคัญในโลกธุรกิจยุคใหม่

เพื่อให้เห็นภาพรวมของแนวคิดและทางการพัฒนาการบริหารกิจการอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความถูกต้องเป็นธรรม จึงขอประมวลความเคลื่อนไหว ที่สะท้อนความคืบหน้าในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังนี้

● CG: Corporate Governance
ปัจจัยชี้ขาดที่สร้างองค์กรยั่งยืน

สิ่งที่น่าจับตาคือความพยายามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการรส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือที่เรียกว่า”บรรษัทภิบาล” มีนโยบายและระบบดูแลการปฏิบัติงาน ใช้กลยุทธ์ธุรกิจที่มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

โดยเฉพาะปี 2560ก.ล.ต.ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับใหม่(CG Code) ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ซึ่งต่างจากยุคอดีตที่กิจการมุ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของ”ผู้ถือหุ้น”นั้น แต่ยุคนี้กระแสสังคมโลกตื่นตัวที่จะให้คำนึงถึง”ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”ทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย เพื่อให้เป็น”ธุรกิจที่ยั่งยืน” ซิ่งจะมีผลดีต่อตัวกิจการในระยะยาว พร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม


● CSR: Corporate Social Responsibility
ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการคีอ”รากแก้ว”

เมื่อพูดถึงCSRคนมักนึกถึงกิจกรรมทำดีเชิงสังคมสงเคราะห์ เช่น ให้ทุนการศึกษา ปลูกป่า แจกผ้าห่ม และการบริจาคช่วยสังคมในกรณีต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจัดว่าเป็น CSR-after-prcess คือกิจกรรมส่งเสริมสังคมที่ไม่ได้มุ่งผลทางธุรกิจโดยตรง

ขณะเดียวกันการเป็นกิจการที่ดี ผู้บริหารต้องมีจิตสำนึกความรับผิดชอบเอาสังคมรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็จะเป็นการสร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อกิจการ และดีต่อสังคมด้วย จึงเป็นแนวคิดCSRที่ผนวกอยู่ในการกระบวนการทำธุรกิจหรือ CSR-in-prcess


● CSV:Creating Shared Value
สร้างคุณค่าร่วมแบบ Win- Win

CSVเป็นการต่อยอดจากหลักCSR ที่มากกว่าการให้ แต่องค์กรจะใช้ความเชื่ยวชาญ ออกแบบกลยุทธ์และดำเนินการที่ช่วยแบบเกิดประโยชน์ที่มีคุณค่าและมูลค่าร่วมของผลลัพธ์เชิงธุรกิจต่อองค์กรและเกิดผลดีเชิงสังคมที่ชุมชนได้รับไปด้วยกัน


● SE:Social Enterprise
ใช้วิธีธุรกิจแก้ปัญหาสังคม

SE นับเป็น”นวัตกรรมทางสังคม”ที่เป็นโมเดลธุรกิจช่วยแก้ปัญหาสังคมซึ่งดีกว่าการช่วยเหลือแบบการให้ทั่วไป และไม่เพียงรอการบริจาคเป็นทุนเพื่อทำกิจกรรม แต่ได้จัดตั้งกิจการธุรกิจเพื่อสังคม(CSR-as-prcess)

สรุปก็คือ เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง และหาวิธีการแก้ปัญหาให้สามารถอยู่ได้ด้วยกลยุทธ์แบบธุรกิจ อย่างที่ทำได้ผลในประเทศอังกฤษ และประเทศต่างๆทั่วโลก

ขณะที่ปัจจุบันในเมืองไทยมีกฎหมายรองรับบริษัทที่จดทะเบียนเป็นSEหรือ” วิสาหกิจเพื่อสังคม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยไม่ได้มุ่งทำกำไรเป็นหลัก และกรมสรรพากรออกระเบียบสนับสนุนให้ผู้ที่นำเงินไปลงทุนหรือบริจาคแก่SE สามารถได้สิทธิ์นำไปหักภาษีได้ และหากกิจการSEที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล ก็ยังจะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคลอีกด้วย

ปัจจุบันเริ่มมีองค์กรธุรกิจในไทยที่จัดตั้งหน่วยธุรกิจSEดำเนินการเองหรือใชัวิธีสนับสนุน SE ที่ทำโครงการช่วยสังคมสังคมอยู่แล้วก็ได้


● ESG เป็นความ”เสี่ยง”หรือ”โอกาส
มีผลวิจัยหลายครั้งยืนยันความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสนับสนุนกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปัจจุบันมีวิกฤตด้านดินฟ้าอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การประชุมผู้นำระดับโลก หลายเวที มีการสะท้อนปัญหาวิกฤต ที่จำเป็นต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้มีการออกกฎเกณฑ์เข้มงวดในการตรวจสอบการผลิตสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นบริษัทชั้นนำที่ติดตามแนวโน้มของโลก รับรู้กฎกติกาของประเทศตะวันตก จึงมีการปรับระบบการผลิตและเปลี่ยน”ความเสี่ยง”จากการถูกจำกัดโอกาส และเพิ่มต้นทุนในการส่งออก ให้กลายเป็น”โอกาส”จากที่ปรับระบบการผลิตให้”ทันการณ์และทันเกมส์”

● Net Zero เป้าของเป้าหมายแก้วิกฤต
ผู้นำจากประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้สนับสนุนประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือSDGs ยืนยันที่จะร่วมกันแก้ 17 ปัญหาสำคัญของโลกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สำเร็จภายในปี 2030

โดยเฉพาะปัญหาร้ายแรงที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์และพืช ก็คือ ”วิกฤตภูมิอากาศโลกรวน”(Climate Change) ที่เป็นผลจาก”ภาวะโลกร้อน”(Global Warming)เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปห่อหุ้มโลก จนพื้นที่น้ำแข็งโลกเริ่มละลาย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุรุนแรง เกิดบ่อย กระทบไปทั่วโลก

ปัญหาวิกฤตเช่นนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงมีการตั้งเป้าหมายที่จะคุมอุณหภูมิไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะถ้าเพิ่มขึ้นถึง 2 องศา หายนะภัยต่อสิ่งมีชีวิตจะร้ายแรงเกินแก้

ประเทศไทยก็มีการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับค่าคาร์บอนเป็นกลาง(Carbon Neutrality) คือสามารถนำตัวเลขคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน จนตัวเลขไม่ติดลบ ภายในปี 2050 และจะลดการปล่อยก๊าซจนถึงค่าศูนย์สุทธิ (Net Zero) ภายในปี 20ุุุุุุุุุุุุุ65

มาตรการส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเช่นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และกฎเกณฑ์อื่นเพื่อสนองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดโลกร้อนขึ้นน่าจะมีตามมาอีก ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งทุกครัวเรือนก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ใบเดียว

suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น