เมื่อประเทศก้าวสู่ “เศรษฐกิจช่วงสงคราม” ประชาชนต้องพึ่งพาตนเอง เร่งผลผลิตสูงสุด กดต้นทุนต่ำสุด เพิ่มส่งออก ลดนำเข้า เวลานี้แสงสว่างแห่งความหวังของคนไทยและชาวโลกที่จะทำมาหากินและใช้ชีวิตอย่างสบายใจได้บ้างหลังโควิด-19 ซาลงก็มีอันต้องริบหรี่
เพราะการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ปะทุขึ้นเมื่อสามเดือนกว่ามานี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที การสู้รบได้สร้างปัญหาให้นานาประเทศต้องประสบใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ การขาดแคลนพลังงานและการขาดแคลนอาหาร เพราะรัสเซียมีแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และทั้งรัสเซียกับยูเครนก็เป็นแหล่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของโลก
การขาดแคลนน้ำมัน ก๊าซ และธัญพืชทำให้ประเทศในกลุ่มยุโรปที่ต้องพึ่งพารัสเซียและยูเครนตระหนักถึงภาวะวิกฤตพลังงานและอาหารที่เริ่มคุกคามการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศ และถึงแม้จะไม่ใช่ประเทศคู่สงครามโดยตรง แต่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้แถลงเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ โดยเขาได้กล่าวว่าขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสได้เข้าสู่ “เศรษฐกิจช่วงสงคราม” แล้ว (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า War Economy หรือ Warfare Economy หมายถึงการเตรียมทรัพยากรวัตถุดิบต่างๆที่ประเทศที่อยู่ในสงครามพึงกระทำ เช่น เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศ เร่งอัตราการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนในประเทศให้ได้มากและเร็วที่สุดโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เน้นการพึ่งพาตนเองไม่เน้นการนำเข้า เป็นต้น วัตถุประสงค์หลักคือนำพาประเทศให้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงสงครามได้นานที่สุดและเดือดร้อนขาดแคลนน้อยที่สุด)
การที่มาครงประกาศว่าฝรั่งเศสเข้าสู่เศรษฐกิจช่วงสงครามนี้มีนัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความตื่นตัวในประเทศสมาชิกอียูและนานาประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการสู้รบให้ตระหนักว่าประเทศของเขาก็ได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจช่วงสงครามเช่นกัน ส่วนจะอยู่ในระดับใดขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ
ไทยหนีเศรษฐกิจช่วงสงครามไม่พ้น จะสู้เพื่อความยั่งยืนหรือจะเอาตัวรอดไปวันๆ? เช่นกันที่แม้ไทยจะไม่ใช่คู่สงคราม แต่ก็ได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันอย่างหนักเพราะเราไม่สามารถผลิตน้ำมันเองได้ ส่วนในเรื่องของอาหารเราไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ยังโชคดีกว่าเพื่อนบ้านเช่นศรีลังกาที่เจอวิกฤตพลังงานและอาหารถึงขั้นประชาชนแทบจะดำรงชีวิตประจำวันไม่ได้ในวันนี้
จากการวิเคราะห์สถานการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ปัญหาเรื่องพลังงานน่าจะเป็นปัญหาระยะยาวของประเทศที่ต้องพึ่งพลังงานนำเข้า ทั้งนี้รัฐบาลเราคงจะกู้เงินมาอุ้มราคาน้ำมันให้คนไทยได้อีกไม่นาน เพราะตอนนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยก็ติดลบไปประมาณแสนล้านบาทแล้ว เพราะช่วยอุ้มราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจีเกินตัว จากนี้ไปการแก้ปัญหาเรื่องพลังงานของรัฐบาลควรต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง วัดผลได้ และสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ช่วยอุ้มค่าน้ำมันเชื้อเพลิงกันจนคนอุ้มและคนถูกอุ้มล้มกันไปทั้งประเทศ
ดิฉันคิดว่าคนไทยอย่างเราควรแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาพลังงานขาดแคลน เงินเฟ้อและค่าครองชีพแพงอย่างใช้สติโดยอัญเชิญแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของ ร. 9 มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเรา เราไม่ควรรอหวังพึ่งให้คนอื่นมาช่วยเรา แต่เราต้องพยายามยืนให้ได้ด้วยขาของตนเอง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ประกาศขอความร่วมมือคนไทยร่วมประหยัดพลังงาน โดยกำหนดเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้า 10 % ช่วยชาติประหยัดได้ 1 แสนล้านบาทต่อปี ลดการใช้น้ำมัน 10 % ช่วยชาติประหยัดได้ลิตรละ 2-3 บาท ซึ่งหากทุกคนช่วยประหยัดทั้งไฟฟ้า และ น้ำมันตามเป้าหมาย จะช่วยชาติประหยัดเงินได้ราว 2 แสนล้านบาทต่อปี การรณรงค์นี้เริ่มขึ้นแล้วในหน่วยงานราชการโดยกำหนดเป้าหมายไว้สูงถึง 20 % แต่สำหรับประชาชนทั่วไปรัฐบาลคาดหวังเพียงแค่ 10 % ซึ่งวิธีการประหยัดนั้นทางรัฐบาลได้ให้คำแนะนำทั่วๆไป เช่น ใช้รถส่วนตัวให้น้อยลง ใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น เป็นต้น
ดิฉันขอเสนอแนะความคิดเห็นในการแก้ปัญหาบางส่วนต่อรัฐบาล องค์กรห้างร้านและประชาชนทั้งหลายดังต่อไปนี้
องค์กรทุกภาคส่วนและสถานศึกษาควรนำนโยบาย Work from Home (WFH) มาปรับใช้เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสัปดาห์ละ 20% ช่วงโควิด-19 คนไทยเราเคยทำงานอยู่ที่บ้าน นักเรียนนิสิตนักศึกษาเคยเรียนหนังสือออนไลน์กันมาแล้ว ซึ่งถ้าองค์กรและสถานศึกษานำนโยบายนี้มาใช้ใหม่ กล่าวคือให้พนักงานโดยทั่วไป WFH และสถานศึกษาเปิดสอนออนไลน์สัปดาห์ละ 1วัน และสำหรับบางตำแหน่งงานที่พนง. สามารถ WFH ได้มากกว่านั้นโดยที่ไม่ส่งผลเสียกับงาน ก็ให้ WFH ได้หลายวันขึ้น ซึ่งเมื่อมองในภาพใหญ่ การทำงานและเรียนที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วันทั่วประเทศจะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 20% เมื่อคิดเทียบกับการเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทำงานและเรียนสัปดาห์ละ 5 วันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการอยู่บ้าน 1 วันจะไม่ส่งผลหนักทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักเหมือนครั้งที่เราอยู่บ้านทุกวันสมัยโรคระบาดรุนแรง
จึงอยากนำเสนอให้องค์กรทุกภาคส่วนและสถานศึกษาพิจารณาเรื่อง WFH เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำมันขาดแคลน และในกรณีที่องค์กรยังไม่นำนโยบาย WFH มาใช้พนักงานอย่างเราก็น่าลองทำหนังสือขออนุญาตผู้บริหารองค์กร WFH สัปดาห์ละ 1 วันเพื่อลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง แทนที่จะรอให้องค์กรต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพให้ทางเดียว เชื่อว่านายจ้างที่ฉลาดน่าจะเห็นประโยชน์จาก WFH เพื่อลดปัญหาค่าครองชีพ และทางองค์กรยังจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนจากการที่ไม่ต้องเปิดสำนักงานทุกวันด้วย
ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกหลายตัว นอกจาก WFH จะช่วยลดการใช้น้ำมันและก๊าซเชื้อเพลิงแล้ว ยังจะช่วยลดมลพิษในอากาศ ลดภาวะโรคร้อนและลดโรคทางเดินหายใจและโรคอื่นๆจากมลภาวะ ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณของรัฐและประชาชนในการดูแลสภาพแวดล้อม การสาธารณสุขและค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย
เลิกพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้าง เชื่อหรือไม่ว่าตัวเลขสถิติของปีที่แล้วระบุว่ามีประชากรกว่า 830 ล้านคนทั่วโลกประสบภาวะอดอยาก แต่กลับมีอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกถูกทิ้งไปเป็นขยะอาหารแบบสูญเปล่า ซึ่งขยะนี้ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 8% ในส่วนของประเทศไทย 64% ของขยะมาจากขยะอาหาร คิดเฉลี่ยคนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรมต่อปี และถ้าคิดง่ายๆว่ามูลค่าของอาหารที่ทิ้งไปมีราคาเพียง กก. ละ 10 บาท (ปัจจุบันข้าวสารราคาประมาณ กก. ละ 20--30 บาท ผักคะน้าราคา กก. ละ 25-40 บาท) เท่ากับว่าเราทิ้งเงินลงถังขยะอย่างน้อยปีละ 2,540 บาท ซึ่งในความเป็นจริงเราน่าจะสูญเงินจำนวนสูงกว่านี้หากเราทิ้งอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ราคาสูงกว่าพืชผัก
แก้วิกฤตพลังงาน อาหารและทรัพยากรระยะยาวต้องแก้ที่นิสัยและพฤติกรรมการบริโภคที่ลงรากลึก นิสัยและความเคยชินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีวิธีบริโภคทรัพยากรต่างๆอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของตนเองและของประเทศมาหลายทศวรรษแล้ว การรณรงค์ชักชวนให้ประหยัดที่ไม่ให้ความรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้อง ไม่ลงรายละเอียดในทางปฏิบัติ ไม่ทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่มีการวัดผล ไม่มีบทลงโทษและไม่มีรางวัลจูงใจ จะทำให้ประชาชนไม่ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบ ขาดแรงจูงใจในการประหยัด ไม่เห็นผลดีหรือรางวัลของการประหยัด
ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก องค์กรทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันสื่อสาร ให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล การออม การทำบัญชีครัวเรือน วิธีการใช้เครื่องไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้พลังงาน การวางแผนการบริโภคอาหารและทรัพยากรต่างๆอย่างคุ้มค่าแบบต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนและประเทศผ่านพ้นเศรษฐกิจช่วงสงครามได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนพร้อมเผชิญทุกสถานการณ์
บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข
ที่ปรึกษาบริหาร สำนักประธานกรรมการบริหาร รพ. บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล