xs
xsm
sm
md
lg

ลูกเสือโคร่งของกลาง! ไม่ใช่ในป่าไทย เมื่อผลตรวจ DNA “น้องขวัญ” เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย “น้องต้นกล้า-ต้นข้าว” สายพันธุ์เบงกอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น้องขวัญ (ซ้าย) และน้องต้นกล้า-น้องต้นข้าว ลูกเสือของกลางที่จับได้จากการลักลอบในปีนี้
ผลตรวจ DNA เสือโคร่งของกลางทั้งสามตัว พบ "น้องขวัญ" เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย ส่วน "น้องต้นกล้า" "น้องต้นข้าว" เป็นสายพันธุ์เบงกอล

ขณะที่ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า คาดมาจากการลักลอบเพาะพันธุ์ เร่งหาแหล่งที่มาพร้อมยืนยันไม่ใช่ลูกเสือในป่าไทยที่เป็นสายพันธุ์อินโดจีน

จากเพจเฟซบุ๊ก NuNa Silpa-archa ของ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลตรวจดีเอ็นเอของลูกเสือของกลาง 3 ตัว พบว่า "น้องต้นกล้า" และ "น้องต้นข้าว" เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล ส่วน "น้องขวัญ" เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย

เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.65) นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เสือโคร่งของกลางทั้ง 3 ตัว เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่ในป่าธรรมชาติของไทย คือ สายพันธุ์อินโดจีน คาดว่ามาจากการลักลอบเพาะพันธุ์ แต่ไม่แน่ชัดแหล่งที่มา ซึ่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ที่ต้องสืบสวนสอบสวน แสวงหาข้อมูลว่ามีการลักลอบเพาะพันธุ์จากที่ใดบ้าง

ทั้งนี้ "น้องขวัญ" ตำรวจ ปทส. ร่วมกับชุดเหยี่ยวดง จับกุมผู้ต้องหา 3 คน ขณะนัดส่งมอบลูกเสือโคร่งบริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้า จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนนำไปเลี้ยงดูที่สวนสัตว์บึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี

ส่วน "น้องต้นกล้า" และ "น้องต้นข้าว" ขณะนี้ดูแลอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ หลังเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนจับกุมผู้กระทำผิดในพื้นที่ ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยยึดของกลางลูกเสือโคร่ง 2 ตัว พร้อมนกกาฮัง 6 ตัว นกเงือกกรามช้าง 2 ตัว

ข้อมูลอ้างอิง
เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช
NuNa Silpa-archa

น้องขวัญ ผลตรวจดีเอ็นเอ เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย


น้องต้นกล้า-น้องต้นข้าว เป็นสายพันธุ์เบงกอล


กำลังโหลดความคิดเห็น