วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ข่าวน่ายินดีของ ‘ครูตี๋’ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หนึ่งในผู้คว้ารางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (Goldman Environmental Prize) ประจำปี พ.ศ. 2565
หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘รางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อม’ ช่วยย้ำความสำคัญของคนธรรมดาที่ทำงานอนุรักษ์ อุทิศแรงกายแรงใจเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำโขง
นิวัฒน์ เป็นประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เขาได้รับรางวัลในปีนี้จากบทบาทสำคัญในการต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเป็นระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มช่องทางการเดินเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าของจีน ซึ่งจะส่งผลต่อแม่น้ำโขงและความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนจำนวนมาก การต่อสู้ของนิวัฒน์และชุมชนแม่น้ำโขงทำให้รัฐบาลไทยยกเลิกโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563
🌿 แม่โขง แม่น้ำอันเป็นที่รัก
แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจีน เวียดนาม ลาว ไทย และกัมพูชา เป็นระยะทางกว่า 4,880 กิโลเมตร เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งน้ำและอาหาร หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 65 ล้านคน แม่น้ำโขงในภูมิภาคของเรามีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำอเมซอนในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพของน้ำจืดในโลก ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนหลายแห่งทั่วทั้งภูมิภาคคุกคามระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนของแม่น้ำโขง
🌿 จาก ‘ครู’ สู่ ‘ผู้พิทักษ์แม่น้ำ'
นิวัฒน์ หรือ ‘ครูตี๋’ เกิดและเติบโตที่อำเภอเชียงของ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ย้อนกลับไปสมัยเป็นครูประจำโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลบริเวณพรมแดนไทย-ลาว เขาได้เห็นถึงผลกระทบโดยตรงของโครงการต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของเกษตรกรบริเวณแม่น้ำโขง ในปีพ.ศ. 2538 นิวัฒน์จึงก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเป็นเครือข่ายของหมู่บ้านกว่า 30 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ
🌿 รางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (Goldman Environmental Prize)
ทุกปี คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจาก 6 ทวีปในโลก จะได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเชิดชูเกียรติ ความสำเร็จ และความเป็นผู้นำของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้าจากทั่วโลก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนธรรมดาอย่างเราทุกคนลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและโลก
Clip Cr.Goldman
Environmental Prize
นอกจากนิวัฒน์ผู้ได้รับรางวัลจากทวีปเอเชีย ยังมีนักอนุรักษ์และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอีก 5 คนที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่
-นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมจากไนจีเรีย ผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อชุมชนกรณีน้ำมันรั่ว
-นักกิจกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้มีบทบาทสำคัญทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
-นักรณรงค์จากออสเตรเลีย ผู้รณรงค์ระดับรากหญ้าเพื่อผลักดันให้ตัดงบประมาณของอุตสาหกรรมถ่านหิน
-นักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่จากสหรัฐอเมริกา ผู้นำพันธมิตรเคลื่อนไหวเพื่อปิดสถานที่ขุดเจาะน้ำมันที่เป็นพิษในชุมชนในขณะอายุเพียง 19 ปี
-ผู้นำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองจากประเทศเอกวาดอร์ เพื่อปกป้องดินแดนของบรรพบุรุษจากการทำเหมืองทอง
ข้อมูลอ้างอิง WWF-Thailand
อ่านเรื่องราวของนิวัฒน์ ร้อยแก้ว เพิ่มเติมได้ที่:https://www.goldmanprize.org/recipient/niwat-roykaew/