xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดโดดเด่น สองกองทุนสวัสดิการชุมชน “สวัสดิการควายออกลูก” และ “ทฤษฎีขากิ้งกือ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิเชียร สัตตธารา (ซ้าย)  และ สุวัฒน์ ดาวเรือง
กองทุนแรก “กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง” นอกจากความโดดเด่นสนับสนุนโรงเรียนทำเกษตรใช้ทำเป็นอาหารแก่นักเรียน ‘วิเชียร สัตตธารา’ เผยสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เลี้ยงควายซึ่งนำมูลไปทำปุ๋ย สามารถช่วยลดต้นทุนการทำไร่นาจากเดิมที่ใช้สารเคมี

ส่วนอีกกองทุน “กองทุนสวัสดิการเทศบาลตำบลบ้านส้อง” กับทฤษฎี ‘ขากิ้งกือ’ สุวัฒน์ ดาวเรือง เผยถึงการใช้เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกเพื่อเข้ามาหนุนเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ผ่านมาได้ด้วยดี

สวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เลี้ยงควาย
กองบุญคุณธรรมเมืองลีงจาก ‘สวัสดิการควายออกลูกสู่วัวออมบุญ’

กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ได้รับรางวัลด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริมให้สมาชิกทำเกษตรอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้โรงเรียนในตำบลทำการเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารเลี้ยงนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น เห็ด หน่อไม้ น้ำผึ้ง และการอนุรักษ์วังปลา ฯลฯ

นายวิเชียร สัตตธารา เลขานุการกองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง บอกว่า กองบุญฯ เริ่มจัดตั้งในปี 2551 มีชาวบ้านในตำบลสมัครเป็นสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 200 ราย กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 2 ครั้ง (กุมภาพันธ์และสิงหาคม) ครั้งละ 185 บาท หรือปีละ 370 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 2,400 คน มีเงินกองทุนประมาณ 2,700,000 บาท

ช่วยเหลือสมาชิก 13 ด้าน เช่น คลอดบุตร 500 บาท เสียชีวิต (ตามอายุการเป็นสมาชิก) 2,500-15,000 บาท ภัยพิบัติ ไฟไหม้ 1,000 บาท บวช เกณฑ์ทหาร 1,000 บาท แต่งงาน 10,000 บาท (มีเงื่อนไข คือต้องเป็นสมาชิก 10 ปีขึ้นไป ไม่ท้องก่อนแต่งงาน ป้องกันการท้องก่อนวัย) ฯลฯ

“นอกจากนี้กองบุญฯ ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เลี้ยงควาย หากควายออกลูกเราจะให้เงินช่วยเหลือตัวละ 200 บาท เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกองบุญฯ เลี้ยงและอนุรักษ์ควายเอาไว้ เพราะควายมีแนวโน้มที่จะลดลง ชาวบ้านหันไปใช้ควายเหล็กกันหมด กองบุญฯ จึงส่งเสริมการเลี้ยงควาย เพื่อนำมูลควายไปทำปุ๋ย ลดต้นทุนการทำไร่นา ลดปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี ตอนนี้มีสมาชิกเลี้ยงควายรวมกันประมาณ 1,900 ตัว” วิเชียรบอกถึงสวัสดิการควายออกลูก และบอกอีกว่าที่ผ่านมา กองบุญฯ จ่ายสวัสดิการควายออกลูกไปแล้วประมาณ 500 ตัว เป็นเงิน 100,000 บาท

“ที่มาของการจัดสวัสดิการอนุรักษ์ควายไทย ซึ่งเป็นต้นทางเกษตรอินทรีย์ เราคาดหวังเพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด หรือดังภาษาถิ่นที่ว่า “โนวเจียเมียนเซาะ” เมื่อกระบือของสมาชิกออกลูกทุกรอบการคลอด กองทุนฯ จะจ่ายเพื่ออนุรักษ์ควายไทย ตอนเริ่มแรกหลายคนมองว่าจัดสวัสดิการไร้สาระ แต่จริง ๆ แล้วลึก ๆ แล้ว ควายเป็นกุศโลบายหนึ่งที่จะทำให้เกิด โนวเจียเมียนเซาะ บรรลุผล เพราะเราส่งเสริมให้คนเลี้ยงควายมีศักดิ์ศรี หลายคนมองว่าเป็นคนจน แต่เมื่อเราสนับสนุนไป ควายในตำบลเมืองลีงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราให้กรรมการแต่ละหมู่บ้านสำรวจแล้วเปรียบเทียบได้ว่า คนเลี้ยงควายภาระหนี้สิ้นน้อยกว่าคนที่ไม่มีควายเลี้ยง ซึ่งมันเข้าและบรรลุผลต่อยุทธศาสตร์ของคนสุรินทร์ เพราะ

กินอิ่ม = คนเลี้ยงควายไม่ต้องแบ่งเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี เพราะมีขี้ควายก็มีเงินกินอิ่ม
นอนอุ่น = เมื่อไม่มีหนี้สินเขาก็นอนอุ่นใจ หลับสบายไม่ต้องคิดมาก
ทุนมี = เขามีควาย ควายตกลูกปีละตัว เลี้ยงขายได้ มีทุน
หนี้ลด = มีทุนจากขายควายก็สามารถลดปลดหนี้ได้

แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิต แต่ยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขก็คือ เกษตรกรมีต้นทุนปัจจัยการผลิตสูง ปุ๋ยแพง เป็นหนี้สินรายครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว จึงเกิดปัญหาโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรม การปนเปื้อนทางอาหารและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษตามมา นี่เองจึงเป็นที่มาของ “สวัสดิการควายออกลูก"

สนับสนุนโรงเรียนทำเกษตรเพื่อเป็นอาหารนักเรียน
ล่าสุดกองบุญฯ ได้จัดทำโครงการ ‘วัวออมบุญ’ โดยกองทุนจะนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 80,000 บาท เพื่อซื้อวัวแม่พันธุ์เนื้อ สายพันธุ์ ‘วากิว’ ราคาประมาณ 50,000 บาท เพื่อให้สมาชิกที่สนใจเลี้ยง แต่ต้องเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ มีแปลงหญ้าให้วัวได้กิน ไม่ใช่เลี้ยงแบบวัวไล่ทุ่ง เพื่อให้ได้วัวเนื้อที่มีคุณภาพดี ตลาดต้องการ เมื่อวัวออกลูก หากเป็นวัวตัวเมียจะนำมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ต่อ หากเป็นตัวผู้จะขายเพื่อให้ผู้ซื้อนำไปเลี้ยงเป็นวัวขุน (ราคาประมาณตัวละ 15,000 บาท) รายได้จะแบ่งครึ่งระหว่างผู้เลี้ยงกับกองบุญฯ

“โครงการวัวออมบุญนี้จะทำให้สมาชิกที่เลี้ยงวัวมีรายได้ ขณะเดียวกัน กองบุญฯ ก็จะมีรายได้จากการขายวัว ทำให้กองทุนเติบโต มีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้น ดีกว่านำเงินกองบุญฯ ไปฝากธนาคาร เพราะได้ดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย” วิเชียรบอกถึงโครงการวัวออมบุญที่จะเริ่มในเร็วๆ นี้


กองทุนสวัสดิการเทศบาลตำบลบ้านส้อง ใช้ทฤษฎี ‘ขากิ้งกือ’

นายสุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 มีวิสัยทัศน์ คือ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องเป็นองค์กรกลางในการเชื่อมโยงประสานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน” ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 5,000 คน มีเงินกองทุนประมาณ 5 ล้านบาทเศษ

คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ยึดหลักการทำงาน ‘ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้เทคนิคการประสานสิบทิศ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน’ ทำให้กองทุนฯ เติบโตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ เป็นแนวทาง เพราะกิ้งกือมีหลายขา เดินไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดพลังและถึงจุดหมายได้เร็ว

นำข้าวสารอาหารแห้งไปแจกจ่ายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ว่างงาน หรือมีรายได้ลดลงจากโควิด-19
ประธานกองทุนฯ อธิบายการทำงานว่า ‘ขาที่ 1’ คือ สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีความหลากหลาย เริ่มจากกลุ่มอาสาสมัครยาเสพติด กลุ่มแกนนำ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มเยาวชน โดยสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี รวมแล้วคนละ 365 บาทต่อปี เพื่อนำเงินกองทุนฯ มาช่วยเหลือสมาชิก เมื่อผลการดำเนินงานการจัดสวัสดิการเกิดประโยชน์แก่สมาชิกจริง จึงเกิดเป็น ‘ขาที่ 2’ คือ ท้องถิ่น เข้าร่วมส่งเสริมกองทุน โดยเทศบาลตำบลบ้านส้องสมทบงบประมาณเข้ากองทุนทุกปี

‘ขาที่ 3’ คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ‘ขาที่ 4’ คือ ห้างร้าน บริษัท และภาคเอกชนในท้องถิ่น ร่วมบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุน และ ‘ขาที่ 5’ การจัดงานระดมทุน (ปี 2563 เริ่มการจัดงานวิ่ง-เดินเพื่อสุขภาพ เพื่อระดมเงินเข้ากองทุน และมีการบริจาคเงินสมทบ ทำให้มีเงินเข้ากองทุนกว่า 1 ล้านบาท)

การจัดงานวิ่งระดมทุนในปี 2563

จัดงานหอบรักมาห่มป่า
ประธานกองทุนฯ อธิบายต่อไปว่า การใช้ทฤษฎีขากิ้งกือยังหมายถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมาหนุนเสริมการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน เช่น กองทุนฯ เป็นแกนหลักในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจัดการท่องเที่ยวชุมชน รายได้ส่วนหนึ่งสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯ, การส่งเสริมอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์-สินค้าชุมชน ฯลฯ

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา กองทุนไม่ได้จัดงานระดมทุน แต่ยังมีบริษัทห้างร้าน ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปสนับสนุนกองทุน โดยการบริจาคเงินเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มียอดเงินแล้วประมาณ 1 ล้านบาทเศษ และเทศบาลบ้านส้องสมทบเงินเข้ากองทุนในปี 2565 อีก 1 ล้าน 5 แสนบาท”

ประธานกองทุนฯ บอกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 กองทุนได้ช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนที่เดือดร้อนทั่วไป โดยนำข้าวสารอาหารแห้งไปแจกจ่ายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ว่างงาน หรือมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ ยังนำสมาชิกกองทุนและคณะกรรมการร่วมตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงโควิด เช่น วัดไข้ ทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายประชาชน ฯลฯ

“ส่วนสมาชิกที่ติดเชื้อโควิดนั้น แต่เดิมเรามีกฎระเบียบช่วยเหลือคนที่เจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลรายละ 3 พันบาท แต่สถานการณ์โควิดช่วงนี้ เมื่อตรวจพบเชื้อโควิด หมอจะให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ไม่ให้นอนโรงพยาบาลเพราะเตียงไม่พอ จะรองรับเฉพาะคนป่วยหนัก กองทุนจึงต้องปรับระเบียบ คือหากใครติดเชื้อโควิด หมอให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน กองทุนจะให้เงินช่วยเหลือรายละ 1,500 บาท เพราะคนที่ติดเชื้อจะต้องหยุดงาน ขาดรายได้ กองทุนจึงต้องปรับระเบียบเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิดด้วย”