xs
xsm
sm
md
lg

8 กองทุนสวัสดิการฯ คว้ารางวัล ดร.ป๋วย สืบสานงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•ชวนไปรู้จัก 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ที่คว้ารางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ครั้งล่าสุด ตามแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย


•แต่ละกองทุนสวัสดิการฯ มีข้อโดดเด่นในการช่วยเหลือชุมชนแต่ละด้าน พวกเขามาจากจังหวัดสุรินทร์ ลพบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช


เมื่อปี 2559 หน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงานได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นครั้งแรก เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ พร้อมกับมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทุกวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย

ครั้งล่าสุด เป็นการมอบรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ให้กับ 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นครั้งที่ 5 ประจำปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการเลื่อนการจัดงานมาจัดเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลมาจากจังหวัดสุรินทร์ ลพบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทั้งหมดคัดสรรมาจาก 36 กองทุนทั่วประเทศ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดและผ่านการพิจารณาในเบื้องต้น

พิธีมอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น (ปี 2563)  ครั้งล่าสุด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมถ่ายรูปกับผู้แทนกองทุนฯ
รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ตามแนวคิด ดร.ป๋วย

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา อดีตคณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ตามปกติจัดขึ้นทุกปี ตามวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นแนวคิดของอาจารย์ป๋วย กล่าวคือ

1.เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ

2.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ จังหวัด ภาค และประเทศ และขยายผลกองทุนฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

และ 3.เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล ภาคเอกชนและสังคม ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และนำไปสู่การพัฒนาระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนเข้าถึงและเหมาะสม

ทั้งนี้ องค์กรที่ร่วมจัดประกวดรางวัล มีด้วยกัน 8 องค์กร คือ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์



8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นครั้งที่ 5

การพิจารณารางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น มีคณะกรรมการพิจารณา ประกอบด้วย ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ศูนย์คุณธรรม ผู้แทนกองทุนที่เคยได้รับรางวัล และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีผลการพิจารณาดังนี้

1. ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น (ทุกช่วงวัยและเพศสภาพ) การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตและคุณค่าในสังคม ได้แก่ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา” อ.เมือง จ.ระยอง

2. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาดูแล ป้องกัน สุขภาวะในชุมชน (ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล)

3. ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ ได้แก่ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางหลวง” อ.บางเลน จ.นครปฐม

4. ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงดินแดง” อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี

5. ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ ได้แก่ “กองทุนสวัสดิการชุมชนสัจจะวันละ 1 บาท” เทศบาลตำบลที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

6. ด้านการจัดการที่ดิน/จัดสรรที่ดินทำกิน เพียงพอต่อการดำรงชีพ การจัดการที่อยู่อาศัย (ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล)

7. ด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ “กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง” อ.จอมพระ จ.สุรินทร์

8. ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล ได้แก่ “กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก” อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

9.ด้านการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม หลายมิติ สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง” อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี

10. ด้านการฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกลุ่มและภาคี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นและสังคม ได้แก่ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองขาว” อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

กองทุนสวัสดิการชุมชนสัจจะวันละ 1 บาท เทศบาลตำบลที่วัง ให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลในครัวเรือนมาแลกของกินของใช้เพื่อจัดการปัญหาเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา ใส่ใจการดูแลผู้สูงอายุภายในชุมชน

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี สนับสนุนสมาชิกและชุมชนด้านวัฒนธรรม
17 ปี กองทุนสวัสดิการฯ จัดตั้งแล้ว 6,071 กองทุน

กองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลเริ่มมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาล นำร่องในพื้นที่ 99 ตำบลทั่วประเทศ

หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือเดือนละ 30 บาท หรือปีละ 365 บาท (ตามความสะดวกและเหมาะสม) หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ เช่น ช่วยเหลือในยามคลอดบุตร (500-1,000 บาท) เจ็บป่วย (100 บาท /ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน) เสียชีวิต (3,000-10,000 บาท)

นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ รวมถึงสวัสดิการที่ไม่ใช่เงิน เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขภาพอนามัย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้สมาชิกกองทุนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฯลฯ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยสมทบงบประมาณเข้าสู่กองทุนต่างๆ ผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รวมทั้งการสมทบงบประมาณจาก อปท. เงินบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ดังตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนให้กองทุนเติบโต สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง

ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เทศบาลทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,071 กองทุน มีเงินกองกองทุนรวมประมาณ 20,027 ล้านบาท