xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนแสงอาทิตย์” ทางเลือกเพื่อรอดค่าไฟแพง ช่วยลดวิกฤตโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวคิดของการจัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ (Solar Fund) มีที่มาจากพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี

พระคุณเจ้าริเริ่มนำโซลาร์เซลล์มาใช้ในวัดเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหยิบยกประเด็นเรื่องพลังงานทดแทนมาใช้ในการสอนนักเรียน จนกลายเป็นศูนย์อบรมโซลาร์เซลล์ให้แก่ประชาชนทั่วไปและเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนและวัดที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

พระครูวิมลปัญญาคุณ
แนวคิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าวได้ขยายผลไปสู่การจัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund)ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งด้านผู้บริโภค ด้านศาสนา ด้านการพัฒนาเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ และผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานและการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงพลังงานสะอาดและมุ่งสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการระดมทุนและเปิดรับบริจาคเพื่อนำไปจัดซื้อโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียน โรงพยาบาลทั่วประเทศ ชุมชน และสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการผลักดันและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายรับให้แก่ประชาชนหากสามารถผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายได้ในระยะต่อไป

โครงการระยะแรกของกองทุนแสงอาทิตย์ ได้ระดมทุนจากภาคประชาชนรวม 7.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยมีกำลังผลิตติดตั้งเริ่มต้นที่แห่งละ 30 กิโลวัตต์ในระบบออนกริดหรือระบบที่ไม่ใช้แบตเตอรี่สำรองแต่ยังเชื่อมต่อระบบหลักของการไฟฟ้า เพื่อเป็นการเริ่มต้นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้กับโรงพยาบาล ซึ่งกำลังการผลิตดังกล่าวช่วยจะลดภาระค่าไฟฟ้าของแต่ละโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปีและยาวนานถึง 25 ปี

ปัจจุบันกองทุนแสงอาทิตย์ และกรีนพีซ ประเทศไทย อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพ 7 แห่ง เพื่อให้เป็นสถานเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับนักเรียน นักศึกษา และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับหน่วยงาน

ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ ไถ้เงิน อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรีให้มุมมองจากการเข้าร่วมกับกองทุนแสงอาทิตย์ ว่าเป็นการนำพลังงานธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดรายจ่ายค่าไฟได้ในระยะยาว ทั้งยังสามารถนำเงินที่เหลือจากการชำระค่าไฟไปใช้พัฒนาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนได้เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เล็ก แต่หากดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะสร้างมวลรวมแห่งผลลัพธ์ด้านพลังงานที่คุ้มค่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการขนานนามวิทยาลัยที่ได้ติดตั้งจากกองทุนแสงอาทิตย์ว่า “วิทยาลัยเสียดายแดด”

ข้อมูลอ้างอิง
https://thailandsolarfund.org/

https://www.facebook.com/thailandsolarfund



กำลังโหลดความคิดเห็น