xs
xsm
sm
md
lg

หยุดบังแดด!! แนวร่วมพลังงานทางเลือก จี้รัฐเดินหน้าส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ ปลดล็อกค่าไฟแพง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โซลาร์เซลล์โครงการระยะแรกของกองทุนแสงอาทิตย์ ได้จากการระดมทุนจากภาคประชาชนรวม 7.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง (ในภาพ โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร)
เหลือเวลาอีกเพียง 7 ปีเท่านั้น โลกใบนี้จะเข้าสู่วิกฤตคาร์บอนไดออกไซด์ล้นโลก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่รุนแรง

แต่ก่อนจะถึงวิกฤตโลกร้อน ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตปัจจุบันคือ ราคาน้ำมันพุ่งสูง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าแพงต่อเนื่องไปจนถึงราคาอุปโภคบริโภค ซึ่งทำให้ประชาชนแบกรับภาระค่าครองชีพถีบตัวอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น


สภาองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับ แนวร่วมเครือพลังงานทางเลือก และนักวิชาการ ได้เปิดเวทีเสนอมุมมอง “กองทุนแสงอาทิตย์เดินหน้า ปลดล็อกค่าไฟแพง” ที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศทั้งทางด้านลดโลกร้อน และลดค่าครองชีพประชาชน ด้วยการผลักดันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการขยายการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย ช่วยลดภาระหนี้ทั้งภาครัฐและประชาชน และมีส่วนกับประเทศทั่วโลกในการลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลก

บุญยืน ศิริธรรม
“ผู้บริโภคทุกคนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงพลังงานที่เป็นธรรม การส่งเสริมให้ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นในประเทศ จะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้” บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว 

“ความยั่งยืนด้านพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ภาคประชาชนต้องเริ่มลงมือทำ และเมื่อเกิดกระแสความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยลดภาระค่าไฟ ปลดแอกให้ประเทศก้าวสุ๋ความมั่นคงด้านพลังงานได้ ณ ปัจจุบันตนเชื่อว่าภาคประชาชนมีความพร้อมเพิ่มขึ้นมาก จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนพร้อมวางแนวนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนแอย่างแท้จริง”

ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคกล่าวเสริมว่า สภาฯ ได้ติดตามด้านความเป็นธรรมของผู้ใช้พลังงานมาโดยตลอด และต้องการผลักดันให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้หารือกับกลุ่มนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรแนวร่วมที่มีแนวทางเดียวกัน จัดตั้งกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น โดยเริ่มต้นจาการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้แก่โรงพยาบาล 7 แห่ง ต่อด้วยการดำเนินโครงการในสถานศึกษา พร้อมกับศึกษาเรียนรู้จากการดำเนินงานไปพร้อมกันในรูปแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้เสนอเป็นแนวทางให้แก่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบการกำหนดแนวนโยบายด้านพลังงานของประเทศต่อไป

ด้าน ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ ได้กล่าวถึงภาพรวมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันว่า พลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกเพียง 8 นาทีนั้นเท่ากับพลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ตลอดทั้งปี แสดงให้เห็นถึงปริมาณที่มหาศาลของพลังงานแสงอาทิตย์ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเรากำลังเผชิญปัญหาโลกร้อนขึ้นในทุกๆ ปี หากไม่เร่งแก้ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนบนโลกอย่างมาก ควรถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องตระหนักถึงวิกฤตที่

กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล จึงเป็นอีกหนึ่งทางที่จะลดวิกฤติดังกล่าวได้ ในมุมมองของตนเชื่อว่าไม่มีพลังงานใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าพลังของชุมชน ที่ลุกขึ้นมาสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้แก่ชุมชนของตนเอง พร้อมทั้งนำแนวทางด้านการใช้พลังงานจากทั่วโลกมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

“โลกของเรายังเหลือเวลาอีกเพียง 7 ปีที่จะยุติปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ล้นโลก ในหลายประเทศเริ่มมองเห็นปัญหาและวางแนวทางในการแก้ไขในระยะยาวไว้ อาทิ ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านพลังงานได้น้อยมากจึงได้วางแผนระยะยาว 30 ปี เพื่อใช้พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์ ลม และมูลสัตว์ ณ วันนี้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก 3 สิ่งนี้มีมากถึง 50% ของพลังงานทั้งหมด และตั้งเป้าขยายให้ถึง 80% ภายในปีนี้ เช่นเดียวกับในประเทศอินเดีย ที่รัฐบาลอินเดียมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์โดยมอบเงินสมทบค่าติดตั้งให้ พร้อมทั้งรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตเหลือใช้กลับคืนด้วย 

นอกจากนี้ ในประเทศออสเตรเลียรวมทั้งรัฐแคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นก็ส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งอยากเสนอให้รัฐบาลไทยนำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ พึ่งพลังงานที่เรามีอย่าพึ่งพลังงานที่ผูกขาด และต้องเร่งสร้างบุคลากรคุณภาพเพื่อรองรับการขยายตัวด้านพลังงานทางเลือก เพื่อสร้างความมั่นคงในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้มีเสถียรภาพมากกว่าปัจจุบัน เพื่อลดผลกระทบต้นทุนค่าไฟที่ถูกส่งต่อมายังประชาชนดังเช่นปัจจุบัน” ผศ.ประสาท มีแต้ม ฉายภาพให้เห็นวิกฤติพลังงานที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน


เริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง กล่าวว่า ทางวิทยาลัยฯ ได้กำหนดนโยบายสู่การเป็นสถานศึกษาประหยัดพลังงาน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้มีมติเข้าร่วมกับกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อวางแนวทางการใช้พลังงานแบบยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือเชิงบูรณาการของเหล่าคณาจารย์และนักเรียนในสาขาวิชาต่างๆ ลดภาระค่าไฟด้วยการจัดทำเครื่องปั้มน้ำ เครื่องตีน้ำ และระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ โดยใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ทั้งหมดกว่า 90% ส่งผลให้จากเดิมที่ต้องเป็นหนี้การไฟฟ้านานถึง 11 เดือน รวมหนี้ค่าไฟเกือบ 1,000,000 บาท แบกรับภาระค่าไฟเฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือน การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ทำให้สามารถลดลงเหลือเพียงกว่า 40,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น และลดการเป็นหนี้การไฟฟ้าเหลือเพียงแค่ 2 เดือนในปัจจุบัน

“ผมมองว่าแสงแดดเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานที่ไม่มีวันหมด สามารถช่วยลดภาระค่าไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ จ. ลพบุรีที่เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงนั้น มีตำแหน่งที่ตั้งที่เอื้อต่อการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันใน จ.ลพบุรี มีหน่วยงานเข้าร่วมกับกองทุนแสงอาทิตย์ 24 แห่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างให้คนในพื้นที่เห็นแบบอย่างของการดำเนินงาน ยิ่งไปกว่านั้น ทางวิทยาลัยฯ ยังวางแผนที่จะขยายการผลิตพลังงานลมในอนาคตอีกด้วยโดยใช้กังหันลม และพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ของชุมชนต่อไป” เริงศักดิ์ เข็มทอง กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานในอนาคต 

เช่นเดียวกับ ดร.ณัฐวุฒิ ไถ้เงิน อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี ที่มองว่า การเข้าร่วมกับกองทุนแสงอาทิตย์ เป็นการนำพลังงานธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดรายจ่ายค่าไฟได้ในระยะยาว ทั้งยังสามารถนำเงินที่เหลือจากการชำระค่าไฟไปใช้พัฒนาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนได้เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เล็ก แต่หากดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะสร้างมวลรวมแห่งผลลัพธ์ด้านพลังงานที่คุ้มค่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการขนานนามวิทยาลัยแห่งนี้ว่า “วิทยาลัยเสียดายแดด”

วินัย เตชะเกียรตินันท์ บริษัท เอ.ไอ.พาวเวอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เปิดเผยถึงการเข้ามาดำเนินให้แนวทางในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงว่า การติดตั้งในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดค่าไฟแล้ว จุดที่คิดตั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาเพื่อพัฒนาสู่อาชีพต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจโซลาร์ทั่วประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ให้พร้อมรองรับการขยายตัวในอนาคต 

สอดคล้องกับแนวคิดของ กรรณิการ์ แพแก้ว มูลนิธิภาคใต้สีเขียว กล่าวว่า ในปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายคนกินแดด และภาคเอกชนในพื้นที่ พัฒนาเครือข่ายโซลาร์เซลล์ครบทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ โดยประชาชนในพื้นที่มีการตื่นตัวอย่างมากและได้สร้างพื้นฐานความพร้อมในการร่วมกันพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานจากระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้เป็นทางเลือกทดแทนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานชีวมวลที่อาจส่งผงกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

“มูลนิธิฯ มองว่าการจะขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ทุกส่วนของกระบวนการต้องมีความพร้อม เราเริ่มจากสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก้คนในพื้นที่แล้ว และเราก็ต้องสร้างให้ภาคบริการระบบโซลาร์เซลล์มีความพร้อมด้วยเช่นกัน จึงได้เดินหน้าให้ความรู้แก่ช่างในพื้นที่ที่มีความสนใจพร้อมจัดฝึกอบรมและแจกคู่มือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อหวังพัฒนาระบบบริการให้ครบวงจรและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะหากจะทำให้ระบบโซลาร์เซลล์เป็นที่แพร่หลายทุกขั้นตอนต้องมีความพร้อม ด้วยเหตุนี้มูลนิธิฯ จึงได้ผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการด้านธุรกิจพลังงานโซลาร์เซลล์ นำร่องโดยการริเริ่มก่อตั้ง 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เซฟซัน จำกัดหรือบริษัทเก็บตะวัน โดยตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เป็นธุรกิจที่เน้นคืนกลับประโยชน์และองค์ความรู้ต่างๆ สู่ชุมชน และบริษัท ภาคใต้ โซลาร์เซลล์ จำกัด ที่รวมเครือข่ายวิศวกรที่เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดมาตรฐานที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ทั้งยังเป็นคลังศูนย์กลางขององค์ความรู้และสินค้าด้านพลังงานโซลาร์เซลล์เพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผล กำหนดมาตรฐานของการให้บริการและมาตรฐานในการแข่งขันด้านคุณภาพและราคาในการดำเนินการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ที่สำคัญช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้นด้วยบริการหลังการขายที่ดี เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่มักพบเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีในส่วนนี้ ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งในหลายหน่วยงานทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข งานราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากความพร้อมที่เรามี จึงวางแผนที่จะขยายการให้บริการไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ” กรรณิการ์ แพแก้ว กล่าวถึงความร่วมมือของเครือข่ายพลังงานโซลาร์เซลล์ภาคใต้

ภานุมาศ คำร้อย ตัวแทนนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ได้นำเสนอมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อกระแสการใช้พลังงานโซลาร์ว่า จะเป็นอีกหนึ่งพลังงานหลักที่เป็นที่ต้องการของประชาชน เพราะพลังงานถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติเริ่มลดน้อยลงในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตทั่วโลกต้องหันมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ทดแทน

อย่างแน่นอน โดยส่วนตัวเริ่มคิดที่จะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ตั้งแต่เรียนอยู่ ม.1 การที่ได้มาเรียนรู้เรื่องการติดตั้งในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ตนเองจะนำไปติดตั้งที่บ้านให้สมกับความตั้งใจที่มีมาแต่เดิม แต่อยากเตือนไปยังประชาชนให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับการใช้ เพราะหากติดตั้งมากเกินไปหากมีการผลิตไฟฟ้าเหลือภาครัฐก็จะไม่รับซื้อไฟฟ้ากลับคืน จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแบบไม่ได้ผลตอบแทน ซึ่งอยากฝากไปยังรัฐบาลให้พิจารณาเรื่องการรีบซื้อคืนและที่สำคัญควรให้ราคาที่เป็นธรรมด้วย

ขณะที่ ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงวิกฤติการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกต้องเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน และหันมาให้ความสำคัญเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ผลการวิจัยของกรีนพีซ พบว่า การจ้างงานด้านพลังงานหมุนเวียนมีเพิ่มขึ้นในทุกปีสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ 

หากประเทศไทยเริ่มส่งเสริมการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในสถานศึกษาแล้ว นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟ ยังช่วยส่งเสริมการศึกษาด้านพลังงานหมุนเวียนไปในตัว ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรคุณภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น