xs
xsm
sm
md
lg

เมษาหนาว! ภาวะโลกรวนสะเทือนไทย เผชิญปรากฎการณ์ “ลมวนขั้วโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงสภาพอากาศที่เย็นลงในประเทศไทยแบบวูบวาบ คือผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ลมวนขั้วโลก” หรือ Polar Vortex


ปรากฎการณ์ดังกล่าว คือผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุด หรือบางจุดมาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก

เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้กระแสลมที่เคยพัดวนทวนเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ปกติหมุนพัดที่ความสูง10กิโลเมตรจากพื้นดินรอบเขตขั้วโลกมานับล้านปีเกิดสะดุด

“กำแพงลมนี้เป็นเสมือนปราการธรรมชาติที่เคยขังไอเย็นไว้ในขั้วโลกครับ” บัดนี้เริ่มมีจุดที่มันยืดย้วยออกเป็นห้วงๆ เพราะไออุ่นจากมหาสมุทรและแผ่นดินทวีปบางย่านที่มากขึ้นลอย ไปกระทบกำแพงลมทำให้ลมหมุนถูกเบี่ยงเบน อ้อมออกจากเส้นทางเดิมๆ

ทีนี้ไอเย็นก็ขยายออกตามลงมา แล้วแต่ว่ารอยยืดนั้นไปเกิดในจุดไหน พอจุดนั้นยืดย้วย ก็จะดันเอาอากาศชุดที่ติดกับมันให้ดันกันต่อไปลงมุ่งสู่เส้นศูนย์สูตร

“ความเยือกเย็นจึงถูกดันมาเป็นทอดๆ ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า “ลมวนขั้วโลก” (Polar Vortex) แม้จะย้วยมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ชี้ให้เราตระหนักว่า โลกใบนี้เล็กกว่าที่เราเคยรู้จัก”

คงเห็นกันแล้วว่า สิ่งที่เกิดกับภาวะโลกร้อนที่ขั้วโลกเหนือ สะเทือนมาถึงเส้นศูนย์สูตรได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน ในทางกลับกัน กำแพงลมเย็นที่ถูกไออุ่นเบียดให้แคบลงก็แปลว่าจะมีไอร้อนเบียดเข้าหาขั้วโลกเช่นกัน

“ปีนี้เราคงได้เห็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลตามมาครับ สิ่งที่ต้องเร่งดูแล นอกจากคนให้มีที่นอนที่อบอุ่นเพียงพอแล้ว สัตว์เองก็จะประสบปัญหาความหนาวเย็นที่เค้าอาจปรับตัวไม่ทันเช่นกันครับ” วีระศักดิ์ กล่าว


Polar Vortex หรือ ลมวนขั้วโลก เป็นปรากฎการณ์กระแสลมที่มีความรุนแรงหมุนทวนเข็มนาฬิกาวนรอบเหนืออาร์กติกราว 50 กิโลเมตร และมีบทบาทในการเก็บรักษาลมเย็นไว้ที่ภูมิภาคอาร์กติก และไม่ให้ความร้อนจากภายนอกเข้ามา กระแสลมนี้ไม่ใช่พายุแต่อย่างไร เป็นเสมือนอาณาเขตกั้นระหว่างอากาศเย็นเยือกแข็งของอาร์กติกและอากาศอุ่นรอบแลติจูดกลางไม่ให้เล็ดลอดไปหากัน นั่นคือสภาพปกติของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ แต่หากมีอะไรทำให้สมดุลของระบบกระแสลมนี้เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการลดความแข็งแกร่งของกระแสลม เปลี่ยนทิศทางลม หรือทำให้กระแสลมแตกเป็นหลายสาย จะทำให้อุณหภูมิของภูมิภาคอาร์กติกสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่อื่นของโลกได้รับอิทธิพลจากโพลาร์ วอร์เท็กซ์ที่แปรปรวน ก็คือมีอุณหภูมิต่ำลง

ช่วงหลายปีมานี้ผลกระทบจากโพลาร์ วอร์เท็กซ์ที่ไม่สมดุลเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น อาจจะตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา (Pierre-Louis, New York Times, 2019) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระแสลมโพลาร์ วอร์เท็กซ์มีภาวะไม่สมดุล แตกเป็นหลายสาย ทำให้อุณหภูมิหนาวเย็นของอาร์กติกหลุดลอดออกมา (เช่นเดียวกับที่อากาศร้อนหลุดเข้าไปที่อาร์กติก) นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตโลกร้อนกับโพลาร์ วอร์เท็กซ์ ว่าต่อจากนี้ไป อาร์กติกที่อุ่นขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงมากขึ้น เช่น ฤดูหนาวสั้นลง พายุถี่และทวีความรุนแรงขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง https://www.greenpeace.org/thailand/story/18767/climate-emergency-polar-vortex/


กำลังโหลดความคิดเห็น