xs
xsm
sm
md
lg

“สิงคโปร์โมเดล” สถานบันเทิงครบวงจรและคาสิโน / สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) และคาสิโน ของสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ไปแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ ในเรื่องนี้โดยตรง


สำหรับเรื่องรูปแบบและการลงทุนใน สถานบันเทิงแบบครบวงจรนั้น ผมเห็นว่า “สิงคโปร์โมเดล” น่าจะเป็นโมเดลที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้ เนื่องจากคาสิโนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานบันเทิงแบบครบวงจรทั่วทั้งโลก เช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น ต่างก็มุ่งจูงใจให้นักเล่นการพนันเข้าไปเล่นการพนันในคาสิโน

แต่สำหรับสิงคโปร์แล้วกลับไม่จูงใจและไม่แข่งขันที่จะดึงนักการพนันเข้าประเทศ แต่มุ่งไปที่กลุ่ม Mice ซึ่งได้แก่กลุ่มวิชาชีพต่างๆ และผู้ประกอบการทางด้านธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่นักการพนันโดยตรง ดังนั้นกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้าไปเล่นคาสิโนในประเทศสิงคโปร์จึงไม่ใช่นักการพนันหรือมีจุดมุ่งหมายจะไป คาสิโนเพราะต้องการเล่นการพนัน นี่เป็นการหากลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยว กลุ่มใหม่ที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับประเทศต่างๆ ที่มีคาสิโน อยู่แล้ว

ความสำเร็จของสิงคโปร์โมเดลที่เปิดให้มีคาสิโนสองแห่งแข่งขันกัน ที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในการประมูลให้สัมปทานแก่สถานคาสิโน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดที่มีบรรษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกเข้าแข่งขันกันอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ คือการมีกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลค่อนข้างสูงมากที่จะให้ใบอนุญาตหรือสามารถถอนคำสั่งหรือยกเลิกใบอนุญาตเมื่อไหร่ก็ได้หาก รัฐบาลพบว่ามีการกระทำของผู้ประกอบการหรือพนักงานที่ไม่สุจริต

กฎหมายของสิงคโปร์ เขามีการควบคุมการเล่นการพนันและนักการพนันมากกว่ากฎหมายทุกแห่งในโลก เพราะกฎหมายของสิงคโปร์เข้าไปควบคุมนักการพนัน ถึงในระดับครอบครัว โดยมีสภาระดับชาติที่ทำหน้าที่ดูแลผู้มีปัญหาจากการพนัน จนกระทั่งทำให้อัตราของนักเล่นการพนันลดลง จำนวนคนสิงคโปร์ที่เข้าไปเล่นคาสิโนลดลง ทุกๆปี รวมทั้งอัตราการเกิดอาชญากรรมมีแนวโน้มลดลง เหมือนมาเก๊า ในขณะที่เกิดการจ้างงานมากขึ้น จนต้องมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

คาสิโน ในสิงคโปร์
ในเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการลงทุนสถานบันเทิงครบวงจร ผมเห็นว่าเราไม่ควรมองเรื่องคาสิโนแบบจุลภาค (Micro analysis) หรือมองแต่ปัญหาเล็กๆ จุกจิกๆ ที่จะเกิดขึ้น ตามมาจากปัญหาการพนัน แต่ควรมองแบบมหภาค (Macro analysis) ที่เล็งเห็นว่าสถานบันเทิงครบวงจรและคาสิโนสามารถที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น มีการประชุมนานาชาติและการจัดแสดงสินค้านานาชาติเพิ่มมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ผลผลิตทางด้านการเกษตร ปศุสัตว์และประมงเพิ่มสูงขึ้น มีการใช้จ่ายในการลงทุนและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายรายได้และทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น และรัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น

รัฐบาลควรชี้แจงกับประชาชนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจรและคาสิโนมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งหารายได้ให้แก่รัฐบาล และประชาชนมากยิ่งขึ้น การใช้พื้นที่สำหรับคาสิโนจะอยู่ในราว 3-5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดในสถานบันเทิงครบวงจร พื้นที่ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นห้องประชุมและสถานที่จัดแสดงสินค้านานาชาติ มีโรงแรมทันสมัย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสันทนาการของนักท่องเที่ยวและครอบครัว เป็นสถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านค้า แหล่งชอปปิ้งและสนามแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ เป็นต้น

สถานคาสิโน ของสิงคโปร์จะแยกขาดออกจากพื้นที่สถานบันเทิงส่วนที่เหลือทั้งหมด การมีกฎหมายคาสิโนที่เข้มงวดในการควบคุม ชาวสิงคโปร์ที่จะเข้า ไปในสถานคาสิโนตั้งแต่การกำหนดราคาค่าผ่านประตู ที่ค่อนข้างสูง อาชีพ และกลุ่มบุคคลบางประเภทไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคาสิโน การกำหนดอายุ ขั้นต่ำ และรายได้ต่อปี สิงคโปร์เรียกสถานบันเทิงครบวงจรของเขาว่า “รีสอร์ทแบบครบวงจร “ และ กำหนดให้คาสิโน ต้องเป็นสถานคาสิโนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible casino)

ในสถานการณ์ปกติของไทย หากมี การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ผมคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีรายได้จาก ธุรกิจนี้อย่างน้อยปีละ 1,000,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานอย่างน้อย 300,000 คน

สำหรับเรื่องการเก็บภาษีผู้ที่ได้รับสัมปทานสถานบันเทิงครบวงจรในประเทศที่มีการให้สัมประทานแก่ผู้ประกอบการ เพียงรายเดียว รัฐบาลจะเก็บภาษีสูงกว่าประเทศที่ให้สถานบันเทิงครบวงจรที่มีการแข่งขัน ของธุรกิจมากกว่า 2 รายขึ้นไป

ในมาเลเซียรัฐบาลเก็บภาษีรายได้จากผู้ประกอบการ สถานบันเทิงครบวงจรที่ผูกขาดรายเดียว เท่ากับ 56 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการพนันเบื้องต้น มาเก๊าเก็บภาษีการพนันและภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพนันระหว่าง 51-52 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมจากเกม ส่วนสิงคโปร์ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีรายได้จากธุรกิจคาสิโนราว 39 เปอร์เซ็นต์ของรายรับรวม เหตุผลที่รัฐบาลสิงคโปร์เก็บภาษีต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกเพื่อต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจนี้

สังศิต พิริยะรังสรรค์
แนวทางการป้องกันปัญหา ผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้จากคาสิโน กฎหมายควบคุมการพนันของทุกประเทศคล้ายคลึงกัน แต่กฎหมายของสิงคโปร์ มีความเข้มงวดมากที่สุด กฎหมายควบคุมคาสิโนจะมีการกำหนดอายุขั้นต่ำ ตามกฎหมายที่จะเข้าไปเล่นการพนันได้ การจำกัดจำนวนเงินในการเล่นการพนันแต่ละครั้ง รัฐบาลมีหน้าที่ ตรวจสอบประวัติของผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนว่าเคยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม หรือการฟอกเงินใดๆ มาก่อนหรือไม่ 

รัฐบาลของเขาจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเพื่อตรวจสอบ ภาษีอากรและอุปกรณ์การเล่นเพื่อมิให้ผู้ประกอบการสามารถโกงผู้เล่นได้ การห้ามมิให้มีการโฆษณาหรือจูงใจให้คนมาเล่น การกำหนดให้ธุรกิจคาสิโนเป็นบริษัทมหาชนเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ การห้ามมิให้บุคคลบางประเภทเข้ามาเกี่ยวข้อง และการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้ในการบำบัดผู้ที่เป็นโรคติดการพนันและ การพัฒนาสังคม เช่น เพื่อการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และอุดหนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถมีอาชีพ เป็นต้น

สำหรับข้อกังวลใจที่ว่า ในขณะนี้สถานบันเทิงครบวงจรในโลกมีจำนวนมากเกินไปแล้ว (Over supply) หรือไม่? ผมเห็นว่าถ้าหากมองจากการแข่งขันเพื่อหากลุ่มลูกค้านักการพนันเข้ามาเล่น อาจจะมีปัญหาเรื่องนี้อยู่จริง แต่ถ้าหากคิดแบบ “สิงคโปร์โมเดล” ที่มิได้มุ่งหานักการพนัน แต่มุ่งไปที่กลุ่ม Mice ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ แล้วประเทศไทยจะมีคู่แข่งเพียงชาติเดียวคือสิงคโปร์ ซึ่งผมเห็นว่าประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบในด้านต่างๆ เหนือกว่าสิงคโปร์ อาทิเช่นต้นทุนในการประกอบธุรกิจต่ำกว่าสิงคโปร์ (เช่นราคาที่ดิน) ไทยมีพืชผักผลไม้ที่ราคาถูกกว่า หลากหลายกว่าและมีตลอดทั้งปี นอกจากนี้ไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มีเลย สถานที่ท่องเที่ยวของสิงคโปร์ มีเพียงภัตตาคาร แหล่งชอปปิ้ง และสวนพฤกษศาสตร์กลางเมืองเพียงแห่งเดียว ในขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั้งสี่ภาค และมี ทรัพยากรทุกอย่างที่สิงคโปร์มี

ดังนั้น หากต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ ผมเห็นว่าสถานที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจรของไทยควรตั้งที่กรุงเทพเพราะเป็นจุดศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยว นักธุรกิจและผู้เข้าร่วมประชุมการสัมมนา นานาชาติสามารถเดินทางมาและกลับได้ง่ายมากที่สุด ที่สำคัญที่สุดสถานบันเทิงครบวงจรจะต้องมีสถานีรถไฟฟ้า ตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ถึงโรงแรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถใช้เวลาไปท่องเที่ยวต่อยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีก 2-3 วัน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม เช่น เดินทางไป ภูเก็ต หัวหิน พัทยา ระยอง และเชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่เห็นว่าควรไปเปิด สถานบันเทิงครบวงจรในที่ห่างไกลจากการคมมนาคม หรือเป็นที่ห่างไกลจากความเจริญเหมือนกับ เหมือนกับตอนที่ลาสเวกัส จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกพี่สหรัฐนั้น ผมไม่เห็นด้วย กับความคิดนี้ เพราะสถานการณ์ของประเทศไทยในเวลานี้แตกต่างจากการจัดตั้งลาสเวกัสคาสิโน ในขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง เพราะลาสเวกัสเกิดขึ้นเป็นแห่งแรก ในขณะที่รัฐต่างๆที่เหลือของสหรัฐอเมริกา ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งขึ้น ดังนั้นลาสเวกัสจึงสามารถผูกขาดอยู่ ในสหรัฐถึง 45 ปี จน ลาสเวกัสมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจจนกลายเป็นต้นแบบให้มลรัฐอื่นๆ ที่เหลือในสหรัฐหันมาเลียนแบบตามในภายหลัง

แต่สำหรับประเทศไทยหากต้องการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ในขณะนี้มี คาสิโน เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก และด้วยบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สถานบันเทิงครบวงจรของไทยจะต้องมีความสะดวก สบาย และง่ายในการเดินทาง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์ได้

บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น