xs
xsm
sm
md
lg

แล้วฝุ่นก็มา! เรื่องจริงที่ต้องสู้ต่อในโควิด / วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงนี้ฝุ่นกลับมาปกคลุมเป็นบริเวณกว้างอีกครั้ง และไต่อันดับจนติดอันดับโลก โดยเฉพาะกรุงเทพกับภาคเหนือของไทย

เห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า แม้การจราจรจะลดลงมากมานานเป็นเดือน เพราะสถานศึกษาต่างๆทุกระดับ หยุดพักทุกกิจกรรมที่มีการเดินทางมาสถานศึกษาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ จึงไม่มีกิจกรรม รับส่งมากมายเหมือนช่วงปกติ อีกทั้งห้างร้านก็มีคนไปกันน้อยลง เครื่องบินแทบไม่มีผู้โดยสาร สนามบินไม่มีการแย่งที่จอดรถ สถานีบขส.และรถไฟก็เงียบราวถอดปลั้ก

องค์กรหลายแห่งนัดกันทำงานจากที่บ้านไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ นี่ก็ช่วยลดปริมาณยานยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนนไปได้อย่างไม่ค่อยเห็นกันมาก่อน

ส่วนรถโดยสารประจำทาง ในไทย ซึ่งมีจำนวนเท่าๆกับจำนวนรถโดยสารไม่ประจำทาง คืออย่างละ 7หมื่นกว่าคันนั้น ก็มีเที่ยววิ่งลดลงอย่างไม่เคยเจอ บางเมืองในพื้นที่สีแดงสั่งห้ามจอดรับส่งเลยก็มี

รถโดยสารส่วนบุคคลเช่นรถบัสรถทัวร์ อีกหมื่นสามพันคันนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวกรุ้ปทัวร์มาให้ขนไปเที่ยวที่ไหน

แต่แล้ว...ฝุ่นในกรุงเทพและปริมณฑลก็หนาแน่นอยู่ดี!!

ดังนั้น จะโทษแต่ท่อไอเสียเฉยๆว่าเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นในกรุงเทพและปริมณฑลก็คงจะต้องถ่วงค่าน้ำหนักใหม่แล้วกระมัง

เว้นแต่ว่าจะถือเสียว่า แม้รถในเมืองจะจอดเงียบไปสัก 30% แต่ที่ยังแล่นอยู่ก็สร้างฝุ่นมากพอจะติดแชมป์สากลแล้ว...

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องสู้สร้างระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมกันมากๆ ทำทางเท้าให้น่าใช้ ทำทางเท้าให้ร่มรื่น และกรุณาอย่ามีน้ำขังรอการระบายมากนัก

ปริมาณฝุ่นรายวันขึ้นลงตามความแรงลมที่พัด เราจึงได้ตระหนักว่า ฝุ่นที่มาถึงอาจมาจากที่ห่างไปเป็นร้อยๆกิโลเมตร
ฝุ่นจากการเผาในกัมพูชาสามารถถูกลมพัดพามาถึงกรุงเทพและปริมณฑลได้

ฝุ่นของกรุงเทพก็อาจถูกลมพาไปไกลถึงภาคเหนือได้ และบางครั้งฝุ่นของกรุงเทพที่ถูกพัดพาออกทะเลไปแล้วก็ยังอุตส่าห์ถูกลมอื่นพา กลับมาครอบกรุงเทพอีก แม้เคยจากไปไกลเป็นร้อยกิโลเมตรแล้ว

ฝุ่นนั้น ไม่ละลาย ไม่ระเหย ไม่ระเหิด ไม่หลุดไปนอกอวกาศและไม่มีวันหายไปจากโลก มีแต่จะเพิ่ม

ถ้าโชคดีหน่อยมันอาจตกลงพื้นทับถมกันอัดผสมเข้าเป็นดินอีกครั้งเท่านั้นและรอจะตลบเป็นฝุ่นอีก

ฝุ่นยิ่งเล็กยิ่งลอยได้สูงและลอยได้ไกล แปลว่าลมมีส่วนสำคัญกับวัฏจักรของฝุ่น

ส่วนร่องความกดอากาศก็มีกระแสความเคลื่อนไหวเป็นร่อง เป็นหลุม มีผลให้ฝุ่นที่ลอยตัวในที่ระดับสูงมาก ถูกกดลงต่ำจนเติมความหนาแน่นให้กับอากาศระดับผิวพื้นที่เราต้องสูดหายใจเข้าไป...

ดังนั้น "ลม"และ"ความกดอากาศ" จึงช่วยการอธิบายว่า ช่วงไหนทำไมเราจึงมีคุณภาพอากาศที่ต่างกัน....
แต่ก็ควบคุมอะไรไม่ได้


เหลือที่ "แหล่งกำเนิด" ของฝุ่นนี่แหละครับ ที่พอจะหวังควบคุมกันได้อยู่บ้าง

แหล่งกำเนิดของฝุ่นที่ถูกเพ่งเล็งมาตลอด คือการเผาในที่โล่ง กับการสันดาปของเครื่องยนต์โดยเฉพาะดีเซล

ฤดูหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วไทย เพิ่งเริ่มเมื่อ15 ธันวา 2563 ที่ผ่านมา ตรงกับช่วงที่โควิดระรอกใหม่เพิ่งเริ่มพอดี และน่ายินดีที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลมีมติตั้งแต่ปลายพฤษจิกายน กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการตัดอ้อยสดให้ได้80%ต่อวัน คือยอมให้เหลือการเผาไร่อ้อยที่20%ต่อวัน ากที่เคยยอมรับอ้อยไฟไหม้ถึง60%แล้วลดเหลือ40%ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

และตอนนี้ประกาศเป้าให้เหลืออ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5% ต่อวัน ในฤดูหีบถัดไปคือปลายปี2564นี้ ซึ่งหวังใจว่าควรลดเหลือ0%ให้ได้จริงๆในปี 2565

แปลว่าต้องประชาสัมพันธ์และใส่มาตรการใหม่ๆ เข้าไปอีกให้คนจะเผาไร่อ้อยร่วมมือให้ได้

ปีนี้ภัยแล้งในช่วงต้นฤดูปลูกอ้อยทำให้ผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วเกือบ 11% ดังนั้นราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จึงสูงขึ้นไปอยู่ระดับ ตันละ 850บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ดี ราคารับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวตลอดจนวัสดุเหลือจากการเก็บเกี่ยวพืชไร่ที่สามารถนำเข้าเตาเผาของโรงงานปูนซีเมนต์และโรงงานรับซื้ออยู่ที่ราคาตันละ 1พันบาท ซึ่งว่าไปแล้วก็สูงกว่าราคารับซื้ออ้อยสดล่ะ...

แต่ด้วยความยุ่งยากกว่าในการจัดเก็บวัสดุจากแปลงปลูก เพราะเป็นของน้ำหนักเบา การจะอัดก้อนเป็นมัดเพื่อยกขึ้นรถไปส่งขายเป็นเชื้อเพลิงให้ถึงลานรับซื้อ จึงถูกมองว่าไม่คุ้มราคา

แต่จะให้รับซื้อแพงกว่านี้ก็คงยาก ฟางและใบอ้อยจึงยังไปไม่ถึงสถานที่รับซื้อส่งเข้าเตาเผาสักเท่าไหร่อยู่ดี

ปีที่แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับอนุมัติงบจากคณะรัฐมนตรีในการจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปลูกอ้อย 1 หมื่นล้านบาท

จึงหวังว่าคงจะได้ซื้อหาอุปกรณ์ที่ช่วยลดการจุดไฟเผาไร่อ้อยลง เช่นรถตัดอ้อย รถเก็บใบอ้อย อุปกรณ์สำหรับเก็บวัสดุการเกษตรมารวมมัดเป็นก้อนกองฟางให้มากขึ้น เพื่อจะช่วยลดโสหุ้ยและข้ออ้างในการเผาลง

ยิ่งในปีโควิด ปิดพรมแดน แรงงานตัดอ้อยน่าจะหายากขึ้น และคนไทยก็ยังไม่ค่อยยอมรับทำงานแบบนี้ เพราะงานบริการรับขนส่งยังเปิดกว้างอยู่มาก ทั้งส่งอาหารแนวไรเดอร์ขี่มอเตอร์ไซด์ หรือแนวขับรถขนส่งสินค้าก็ตามที (สถิติของขนส่งทางบกในปีก่อนมีโควิด คือระหว่างพศ.2561-62 มีรถบรรทุกไม่ประจำทางเพิ่มขึ้น 7.39% รถโดยสารไม่ประจำทางมาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 6.06% ดังนั้นรถเหล่านี้ย่อมถูกนำออกใช้บริการหารายได้เท่าที่มีโอกาสแน่นอน)

อีกข้อมูลที่น่าติดตามคือ รถใหม่เพื่อใช้งานในแปลงเกษตรกรรมที่เคยจดทะเบียนลดลงเหลือ 681 คันในปี2561 นั้น ได้กลับเพิ่มการมาขึ้นทะเบียนเป็น 735 คันในปี2562 (สถิตินี้ไม่นับรวมทะเบียนรถแทรกเตอร์ ซึ่งจดทะเบียนเพิ่มมาตลอด จาก 5หมื่น3พันคัน ต่อปีก็ขยายมาเป็นจดใหม่เพิ่มอีก 5 หมื่น 8 พันคัน ในปี 2562 )

ถ้าเราจะหวังลดการเผาในไร่ลง การมีรถในไร่นาที่ใช้ในการเกษตรโดยตรงมากขึ้น ก็น่าจะอนุมานได้ว่าจะพึ่งพาแรงงานน้อยลง การเผากำจัดตอซังข้าว ข้าวโพด การเผากำจัดใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อขจัดหนามใบอ้อยและจะได้ไล่งูที่ตามมารอกินหนูในไร่ก็จะได้มีน้อยลง

เอาล่ะ แหล่งกำเนิดฝุ่นทั้งจากรถยนต์ก็ดี ทั้งจากการเผาในที่โล่งก็ดี ได้รับการอธิบายข้างต้นแล้ว


แต่ยังมีแหล่งกำเนิดฝุ่นอื่นอีก เช่น ไฟไหม้ในป่า ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นจากการเผาถ่านหินครับ

เรื่องไฟป่านั้น รัฐบาลและชุมชนให้ความสนใจมาก หน่วยงานต่างๆทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนจังหวัด ส่วนท้องถิ่น ตลอดถึงชุมชน ต่างก็ระดมพลังกันเฝ้าดูแลป้องกันเรื่องไฟป่ากันแข็งขันขึ้นเรื่อยๆ อันนี้น่าชมเชย!!

ปีนี้ไฟป่าถูกบริหารได้ดี มีการทำแอพลิเคชั่นให้ชาวบ้านตรวจสอบจุดความร้อนจากดาวเทียมเพื่อรับรู้ว่ามีกี่จุด อยู่แถบไหน ใครอยู่ใกล้สามารถไปเข้าช่วยแต่เนิ่นๆ ดับไฟไม่ให้ลุกลามใหญ่โตจนควบคุมไม่ได้

บางพื้นที่มีการจัดทีมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อ"ชิงเผา"เศษใบไม้ที่ร่วงลงมาบนพื้นป่าเพื่อไม่ให้ทับถมหนาจนกลายเป็นทุ่งเชื้อเพลิง ที่หากติดไฟในภายหลังจะยิ่งดับยาก

รัฐมนตรีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คุณวราวุธ ศิลปอาชา เคยมาตอบกระทู้ถามเรื่องนี้ในที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภา บอกเพิ่มว่ามีการนำเศษกิ่งไม้และใบไม้ที่เก็บออกมาอัดแท่งเป็นฟืนสำหรับใช้ประโยชน์ต่ออีก อันนี้นับว่า''เก๋''...

หลายพื้นที่ชาวบ้านร่วมกับกรมป่าไม้ ทำฝายชุมชน เพื่อถนอมรักษาน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งนับว่ามากันถูกทางแล้ว
ชาวบ้านบางแห่งวางตะบันน้ำไว้ตามลำธาร เพื่อดันน้ำบางส่วนกลับขึ้นที่สูงเพื่อกักไว้ให้ป่าเขามีความชื้นนานขึ้น โดยไม่ต้องเสียค่าพลังงานสักบาท ...อันนี้ก็ดีมาก

ในขณะเดียวกัน เดี๋ยวนี้มีเวป มีเฟซบุ้คแสดงภาพจากดาวเทียมตรวจจุดความร้อนที่เห็นไปได้ทั่วไทย ถึงในกัมพูชา ในเมียนมาร์ และในลาวหรือเจอจุดความร้อนโผล่มาในอ่าวไทย!!(ทำให้น่าคิดว่ามีเรือเดินทะเลเผาอะไรทิ้งกลางทะเล ที่ขัดต่อพิธีสารลอนดอนซึ่งรัฐสภาไทยเพิ่งเห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นภาคีไปหยกๆ หรือไม่)

นับว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นจากไฟในป่าได้รับการสนองโดยความร่วมมือดีขึ้นมาก และต้องเร่งทำกันต่อไป


ทีนี้ก็พวกปล่องจากโรงงาน ซึ่งคงไม่มีทางอื่นนอกจากติดตั้งเครื่องตรวจจับความหนาแน่นของฝุ่นแบบแสดงผลตรงแบบเรียลไทม์เข้าศูนย์ติดตามเฝ้าระวังมลพิษ

ยิ่งถ้าที่ไหนใช้ถ่านหินต้มหม้อน้ำบอยเล่อร์ ยิ่งต้องเฝ้าระวังให้ดี

ย้อนไป 7ปีก่อน โรงงานอุตสาหกรรมด้านอาหารเครื่องดื่ม ฟอกย้อม สิ่งทอ หันมาลดต้นทุนจากการเผากะลาปาลม์เพื่อต้มบอยเลอร์ มาเป็นการนำเข้าถ่านหินบิทูมินัสจากอินโดนีเซียแทน เพราะ ราคาถ่านหินถูกกว่ามาก.......นี่ก็เป็นอีกกลุ่มผู้ปล่อยควันปล่อยฝุ่นที่เราอาจหลุดหูหลงตาไปหลายนาน

ส่วนแหล่งที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินนั้น นอกจากที่แม่เมาะ ลำปางแล้ว เมืองไทยเราก็ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนอีก ราว 9 แห่ง กระจายใน4จังหวัด คือที่ระยอง 6 โรง ปราจีนบุรี 2 โรง และอยุธยาอีก 1 โรง

ที่ระยองมี 2 โรงที่เมื่อรวมพลังไฟฟ้ากันจะไล่ๆกับโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะเชียวล่ะ!!

ดังนั้น ก็คงต้องเอาใจใส่มีอุปกรณ์ตรวจวัดติดตามปริมาณสิ่งปลดปล่อยออกมาอย่างใกล้ชิด แบบเรียลไทม์เช่นกันว่ามีปริมาณฝุ่นและมีสารอันตรายอะไรออกมาเท่าไหร่จากแต่ละโรง แล้วเปิดให้สังคมติดตามได้

ถ้าถ่านหินมีเทคโนโลยีที่ควบคุมไม่ให้เกิดฝุ่น เกิดสารอันตรายได้จริง ก็ให้นึกสงสัยว่าแล้วทำไม จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จึงเร่งประกาศแผนเลิกใช้ถ่านหินกันขนาดนั้น

ส่วนประเทศเยอรมันนีกำหนดแผนยุติการใช้ถ่านหินทั่วประเทศให้ได้ในปีคศ.2038 คืออีก 17 ปีข้างหน้า ทั้งที่เยอรมันนีเป็นเจ้าแห่งสารพัดเทคโนโลยี แถมเยอรมันนีมีเหมืองถ่านหินเยอะด้วย

จะอ้างว่าเยอรมันนีลดการใช้ถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก้าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดภาวะโลกร้อนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

งั้นภาคธุรกิจเราเองก็ต้องเตรียมทำใจ ถ้าใช้ถ่านหินไปเรื่อยแล้วสินค้าและบริการที่ส่งออกจากพื้นที่แบบนั้นจะเจอการต่อต้านหรือการกีดดันทางการค้าในภายหน้า

กำไรก็หดแถมโดนชาวบ้านรุมยำฐานปล่อยสาร ปล่อยฝุ่นใส่สิ่งแวดล้อม และอากาศหายใจของพวกเขา พอลมพัดก็พาให้สุขภาพคนที่อยู่ห่างออกไปเสียหาย กลายเป็นคดีฟ้องร้องตามมาอีกเป็นพรวน

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่เพิ่งลงนาม นำสหรัฐกลับเข้าข้อตกลง Paris Agreement อีกครั้ง ย่อมทำให้แนวรบด้านสิ่งแวดล้อมโลกกลับมาตื่นตัวคึกคักอีกครั้งแน่นอน

พลังงานที่ไม่สะอาด จะพาให้เราได้ไม่คุ้มเสียเอาก็ได้

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เคยตั้งข้อสังเกตให้ผมฟังว่า ฝนที่ตกแถวระยองมักจะไม่ตกในย่านที่มีโรงงานเยอะๆ ท่านมีข้อสงสัยว่าม่านฝุ่นม่านควันและไอความร้อนจากปลายปล่องทำให้เกิดกำแพงความร้อน ที่ทำให้เมฆฝนที่พัดความชื้นเข้ามาจากอ่าวไทย จำต้องเทฝนลงทะเลไปก่อนอย่างน่าเสียดายเพราะชนกำแพงความร้อนและฝุ่นในอากาศ ดังนั้นน้ำจืดจากฝนที่จะได้ ก็เลยลงทะเลไปเปล่าๆ หรือไม่ก็ต้องรอจนความชื้นสามารถยกตัวลอยข้ามโดมความร้อนและม่านฝุ่นเข้าไปในแผ่นดินลึกๆหน่อยจึงจะพอได้รวมไอน้ำออกมาเป็นเมฆฝนได้ ซึ่งถ้าตกลึกเข้าไปในแผ่นดินก็มักตกไม่ลงแหล่งกักเก็บเสียอีก

ข้อสังเกตนี้อาจไขปริศนาอาการขาดน้ำฝนมาเติมในอ่างเก็บน้ำที่สร้างรอไว้ และเป็นผลให้เขตนี้มีปัญหาขาดแคลนน้ำดิบอย่างมากก็ได้

ฝุ่นจึงมีอะไรให้เราได้ศึกษาและปรับความคุ้นเคยของเราอีกพอควร

แต่ทำเถอะนะครับ เพราะยังไงๆ เราก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่กับสิ่งที่ต้องป้องกันไม่ให้เข้าจมูกของเรา ในปีโควิดอยู่แล้ว

บทความโดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา, กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น