xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกพลัง!! อุตฯ ปูนซีเมนต์ไทย ประกาศเป้าใหม่ ลุยลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันCO2 ในปี 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Green Mining
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกรายในการผนึกกำลังร่วมมือบูรณาการกับทุกภาคส่วน ลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ดในปี 2564 ได้ 300,000 ตัน CO2 บรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่ตั้งไว้ พร้อมเร่งเดินหน้าสู่เป้าหมายใหม่ “MISSION 2023” ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตันCO2 ภายใต้การคาดการณ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ยังคงเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ในปี 2565 จากปัจจัยหนุนโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ


นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยถึง ผลงานความสำเร็จกับความก้าวหน้าสำคัญในปี 2564 และแนวโน้มในอนาคตว่า ประกอบด้วย 4 เรื่อง ดังนี้ เรื่องแรก สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตันCO2 จากมาตรการทดแทนปูนเม็ด เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายจากที่ตั้งไว้ในปี 2565 จากการที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) จึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกวิจัย พัฒนา และนําเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ตาม มอก. 2594


โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ภายใต้ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” ระหว่าง 19 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ มีการรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ถึงความร่วมมือที่ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมใช้งาน ตลอดจนการรายงานผลและการทวนสอบ เป็นต้น

“ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกโครงการก่อสร้างเพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องขอบคุณภาคีพันธมิตรทุกกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนี้ จนมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ สามารถบรรลุเป้าหมายการลด 300,000 ตันCO2 เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2565 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น ทุกภาคส่วนที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการลดก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามนโยบายภาครัฐ และมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก” นายชนะ กล่าว

เหมืองแม่ทาน จังหวัดลำปาง
เรื่องที่สอง สามารถพัฒนาเหมืองหินปูนสู่ความยั่งยืน โดย “เขาวงโมเดล” และ “แก่งคอยโมเดล” ได้รับความเห็นชอบในร่างแผนผังโครงการจากภาครัฐ เป็นต้นแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในอนาคตจะเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน

TCMA ตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐให้นำทรัพยากรแร่มาใช้ให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาประเทศ เรียกว่า License to Operate จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ให้สังคมและชุมชนให้การยอมรับและอนุญาตให้ทำเหมือง หรือมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ TCMA ยังส่งเสริมสมาชิกให้ความสำคัญต่อการนำทรัพยากรแร่มาใช้อย่างคุ้มค่าตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุด โดยพื้นที่เหมืองที่เหมาะสมอาจพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือจุดเรียนรู้สำหรับชุมชนนั้นๆ

เพื่อยกระดับความก้าวหน้า TCMA ส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินงานตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) ด้วยการทำเหมืองให้ถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ ดังนั้น ปัจจุบันแนวทางการฟื้นฟูเหมืองได้ปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตลอดกระบวนการดำเนินงานของเหมือง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการฟื้นฟูเหมือง และสอดคล้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่

ตัวอย่างเช่น 1) การเป็นแหล่งน้ำ: เหมืองบ้านแม่ทาน จังหวัดลำปาง พัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และส่งต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า 250 ครัวเรือน ทั้งนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา ได้นำน้ำกว่า 1.3 ล้านลูกบาศ์เมตรจากบ่อเหมือง ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง 2) การเป็นแก้มลิงรับน้ำ: เหมืองห้วยแร่ จังหวัดสระบุรี เปิดคันขอบเหมืองแร่ดินซีเมนต์ที่สิ้นสุดการทำเหมืองแล้ว ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 6.6 ล้านลูกบาศก์เมตรช่วยป้องกันน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ และบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่โดยรอบ เมื่อช่วงสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา 3) เหมืองในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ จุดเรียนรู้ และพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชนใช้ประโยชน์ ตัวอย่างดังกล่าวนี้ นับเป็นต้นแบบความร่วมมือการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า และพัฒนาพื้นที่เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมและชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน


เรื่องที่สาม สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ ด้วยการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน TCMA จึงมีนโยบายส่งเสริมสมาชิกจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ Waste อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำ Waste ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตร มากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing รวมทั้งสนับสนุนภาครัฐในการใช้ประโยชน์จากกระบวนการเผาของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มาดำเนินการจัดการขยะติดเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในนำเศษคอนกรีตที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและรื้อถอน (Demolition Waste) มาใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยการดำเนินงานลักษณะนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องที่สี่ ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสนับสนุนทุนและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ด้านสาธารณสุข และด้านความเป็นอยู่ไปยังทุกภูมิภาค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายในสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ยังสนับสนุนถุงยังชีพ เครื่องใช้จำเป็น ยารักษาโรค น้ำดื่ม และสุขากระดาษ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งระหว่างน้ำท่วมและภายหลังน้ำลด รวมถึง สนับสนุนการศึกษาด้านเหมืองแร่ การพัฒนาด้านทรัพยากรธรณี และทำนุบำรุงพุทธศาสนา


๐ มองภาพรวมปี’64 คาดปี’65 เติบโต 2%
เดินหน้าหนุน Green Mining


สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2564 และแนวโน้มในอนาคต นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยก็คล้ายกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องปรับตัวให้ก้าวข้ามความท้าทายหลายประการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม การสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม/ ชุมชน ด้านกฎหมายและระเบียบ เป็นต้น”

ทิศทางความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะสอดคล้องไปกับภาคการก่อสร้างของประเทศ ทั้งของภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และของภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เป็นต้น แบ่งเป็น 1) ปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้างและงานหล่อผลิตภัณฑ์คอนกรีต ประมาณร้อยละ 89 2) ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ประมาณร้อยละ 10 และ 3) ปูนซีเมนต์สำหรับงานพิเศษ ประมาณร้อยละ 1โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ประมาณ 30 – 35 ล้านตัน/ ปี คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 - 60 ของกำลังการผลิตโดยรวม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาเติบโตของประเทศเป็นหลัก ไม่มีนโยบายผลิตเพื่อการส่งออก ด้วยคุณลักษณะของสินค้าที่มีน้ำหนักมาก อ่อนไหวต่อความชื้น และขนส่งระยะไกลต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยในปี 2564 มีการส่งออกประมาณร้อยละ 12 เพื่อระบายอุปทานส่วนเกินที่เหลือจากความต้องการใช้ภายในประเทศ และรักษาระดับการผลิตเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงมีปัจจัยบวกจากงบประมาณภาครัฐ ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการอื่นๆ ดังนั้น การปรับตัวในอุตสาหกรรมจึงมุ่งเน้นการผลักดันสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น รวมถึงการขยายไปยังการขายโซลูชั่นให้ครอบคลุม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทุกภาคส่วนได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น โดยประเมินอัตราการเติบโตโดยรวมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2564 ที่ -1% และปี 2565 ที่ 2%

นายกสมาคมฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับทิศทางดำเนินงานในปี 2565 TCMA ยังคงมุ่งเดินหน้าดำเนินการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต การทำเหมืองตามแนวทาง Green Mining ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลชุมชนโดยผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคีในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น โดยกำหนด“Mission 2023” ตั้งเป้าในปี 2566 ลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ดให้ได้ 1,000,000 ตันCO2 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้นโดยผู้ผลิตทุกรายพร้อมใจส่งปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เข้าสู่การใช้งานในวงกว้างทั่วประเทศ เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกบรรลุเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์


กำลังโหลดความคิดเห็น