สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเวทีพูดคุย "ชวนมองมุมใหม่ หากไทยเข้าร่วม CPTPP ได้หรือเสียมากกว่ากัน" เจาะลึกผลเสียที่จะเกิดหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมขบวน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน ที่วันนี้อาจคาดไม่ถึงหากขาดการพิจารณาเชิงลึกแบบองค์รวม หลังเริ่มมีกระแสต่อต้านในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สิ่งที่ สอบ. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เพื่อให้เป็นตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย ได้ทำข้อเสนอไปถึงนายกรัฐมนตรีในแบบที่เป็นกลางที่สุดก็คือ หากประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP มากกว่าก็ขอให้เดินหน้า แต่ถ้าประเทศได้ประโยชน์น้อยกว่าเราก็ขอให้ไม่เข้าร่วม ผู้บริโภคอาจจะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่อยู่ในข้อตกลง CPTPP ในราคาที่ถูกลง เช่น เราอาจจะได้เนื้อหมูที่ราคาถูกลง หรือเครื่องในหมูที่ต่างประเทศเขาไม่ทานเราจะได้ทานในราคาถูกลง แต่ผู้บริโภคคงจะไม่มองอะไรสั้นๆ เฉพาะของที่ถูกลงเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราได้กินของถูกแต่กลับมีผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคก็ไม่ได้ประโยชน์อยู่ดี ดังนั้นควรที่จะคิดถึงความเป็นประชาชน ความเป็นพลเมืองของเราด้วย อย่างเช่น เรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่เอาไปใช้งานต่อไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ส่งผลต่อความหลากหลาย ส่งผลต่อรสชาติความอร่อย สิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อผู้บริโภคเช่นกันไม่ใช่แค่เรื่องของราคาถูกเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจในเรื่องอื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะกลับมาในเรื่องของทางเลือก ความมั่นคง ความปลอดภัยของผู้บริโภคอยู่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เหมือนกับโฆษณาที่ยังไม่ตรงปกก็คือ มีการบอกว่าการเข้าร่วม CPTPP จะได้ประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน และผู้บริโภคจะได้ใช้ของที่ถูกลง แต่จริงๆ ก็มีอีกฝั่งที่บอกว่า ผลเสียมีเยอะกว่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ เรื่องการเข้าถึงยารักษาโรค เรื่องค่ารักษาพยาบาล เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์มือสอง รวมถึงสินค้าออนไลน์ซึ่งขณะนี้ ผู้บริโภคถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์มีสัดส่วนถึง 50% แต่การเข้าร่วม CPTPP สินค้าออนไลน์จะไม่ต้องจดทะเบียนยิ่งจะเพิ่มความรุนแรงของปัญหามากยิ่งขึ้น
“สอบ.ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปว่า ขอให้รัฐบาลทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบให้ชัดเจนก่อนว่าได้กับเสียอะไรมากกว่ากัน ซึ่งทางเรากับภาคอุตสาหกรรมในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลควรจะทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ประเด็นที่สำคัญคือถ้าเสียมากกว่าได้ก็ควรจะต้องชะลอไว้ก่อนไม่ต้องเร่งรีบที่จะเข้าร่วม ซึ่งเป็นข้อเสนอทางฝั่งของผู้บริโภคที่ชัดเจนว่าเราอยากเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่มีข้อโต้แย้งจากฝ่ายต่างๆ ว่าการเข้าร่วมจะได้มากกว่าเสียจริงๆ แต่ในขณะนี้ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ในหลายเรื่องที่เห็นว่าเราจะเสียมากกว่าได้” นางสาวสารี ยังกล่าวต่ออีกว่า “ทั้งนี้รัฐบาลอาจจะมีข้อมูลอยู่ชุดหนึ่ง ขณะที่ภาคประชาสังคมเองก็อาจจะมีข้อมูลอยู่อีกชุดหนึ่ง ก็น่าจะหาคนที่เป็นกลางเข้ามาดูว่า การลงทุน การค้าจะดีขึ้นจริงหรือไม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร ผู้บริโภคที่มักจะถูกอ้างว่าจะได้ของถูกแล้วมันจริงอย่างนั้นหรือไม่ เพราะว่าเราอาจจะต้องจ่ายหลายอย่างที่แพงขึ้นจะคุ้มหรือไม่ ผู้บริโภคอยากเห็นข้อเท็จจริง ข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ และน่าจะเป็นจุดยืนของผู้บริโภคสำหรับการทำข้อตกลงในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งควรจะใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญของประเทศด้วยเช่นกัน”
สำหรับผู้ที่ร่วมพูดคุยในเวทีเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยมีนายฐิติกร พูลภัทรชีวิน (โค้ชกาย) และนางสาววิชดา นฤวรพัฒน์ (ดีเจเป้ย) เป็นผู้ดำเนินรายการ