xs
xsm
sm
md
lg

“รักษ์พลี-เทวา” เหยี่ยวดำไทยหนีหนาว กลับถึงบ้านแล้ว! บินยาวๆ จากอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เหยี่ยวดำใหญ่ สัญชาติไทย ที่มีการศึกษาวิจัย โดยการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม (บน) รักษ์พลี (ล่าง) เทวา
เหยี่ยวดำใหญ่ไทย “นกนักล่า” ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวด้วยสัญญาณดาวเทียม บินอพยพจากอินเดียกลับถึงบ้านเกิดแล้วที่ อ.บางพลี จ.นครนายก

ชื่อว่า “รักษ์พลี” และ “เทวา” ทั้งสองตัวเป็นเพศผู้ ตัวเต็มวัย รักษ์พลีกลับมาถึงก่อน เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 14.00 น. ส่วนเทวา มาถึงเวลา 18.00 น.ในวันเดียวกัน

เพจเฟซบุ๊ค Thai Raptor Group กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย รายงานสถานการณ์ของเหยี่ยวดำใหญ่ไทย ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัว ทำให้ทราบพิกัดในการเดินทาง ได้เผยข้อมูลการอพยพของเหยี่ยวดำทั้งสองตัวว่า

ฤดูเหยี่ยวอพยพต้นหนาว เมื่อลมเปลี่ยนทิศ จากทิศตะวันตก มาเป็นลมหนาวหรือลมว่าวจากทิศเหนือ

เส้นทางอพยพของรักษ์พลี
รักษ์พลี เพศผู้ ตัวเต็มวัย ใช้รหัส R209 น้ำหนักตัว 620 กรัม

รักษ์พลี เดินทางอพยพออกจากเมืองริปูร์ ประเทศอินเดีย (ถิ่นอาศัยนอกฤดูผสมพันธุ์) ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 ใช้เวลา เดินทาง 1 เดือน 13 วัน มาถึงทุ่งใหญ่ปากพลี อันเป็นถิ่นอาศัยที่กำเนิดในฤดูผสมพันธุ์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน.2564

ก่อนหน้านี้ รักษ์พลีอพยพออกจากปากพลีไปประเทศอินเดีย (ผ่านเมียนมาร์ และบังคลาเทศ) และถึงจุดหมายเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564


เทวา เพศผู้ ตัวเต็มวัย ใช้รหัส R226 น้ำหนักตัว 599 กรัม

เทวา ใช้เวลาเดินทาง 13 วัน จากประเทศอินเดีย มาไทย ออกมาตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2564 จากเมือง Lohardaga รัฐฌาร์ขัณฑ์ เป็นการบินอพยพรวดเดียว เป็นระยะทางกว่า 280 กม.

เทวา บินเข้าไทย ที่ป่ารอยต่อจังหวัดตากและกาญจนบุรี และพักนอน บนต้นไม้ ริมเขื่อน/อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี ก่อนบินผ่านชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี และมาถึง ดงเหยี่ยวดำปากพลี จ.นครนายก บ้านเกิด

ก่อนหน้านี้ เทวาอพยพออกจากปากพลี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 และผ่านเข้าประเทศพม่า ที่จ.ตาก วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 แล้วบินเข้าบังคลาเทศ 29 พฤษภาคม ถึงอินเดีย วันที่ 4 มิถุนายน 2564 แล้วถึงเป้าหมาย ถิ่นอาศัยนอกฤดูผสมพันธู์ที่เมือง Lohardaga รัฐฌาร์ขัณฑ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564

เส้นทางอพยพของเทวา
ทั้งนี้ เหยี่ยวดำใหญ่ ไทย ทั้งสองตัว ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ดาวเทียม น้ำหนัก 14 และ 22 กรัมบนแผ่นหลัง (back mounting) เหมือนสะพายเป้ เมื่อต้นปี 2564 ที่อ.ปากพลี จ.นครนายก ซึ่งพิกัดดาวเทียม มีความแม่นยำ ภายในระยะ 5 เมตร

สำหรับผลวิจัยครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของโลก ที่นักวิจัยยืนยันได้ว่าพฤติกรรมอพยพ ในแนวทิศตะวันออกตะวันตกของเหยี่ยวดำพันธุ์ govinda ระหว่างประเทศไทยและอินเดีย เป็นบรรทัดฐานของประชากรเหยี่ยวดำในจ.นครนายก ด้วยตัวอย่าง จำนวน 3 ตัว (ตัวเต็มวัย 2, ส่วนวัยเด็ก 1 ตัว ยังรอผลการอพยพ) ตามโครงการนิเวศวิทยาของเหยี่ยวดำไทย โดยหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ สนับสนุนงบประมาณวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช)


ทั้งนี้ เหยี่ยวดำใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ /Milvus migrans govinda/ เป็น “นกนักล่า” และเป็นนกอพยพอีกชนิดหนึ่งที่ถือกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

นายสัตวแพทย์ ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบาย “เครื่องติดตามนกที่มีลักษณะเป็นเป้แบ็กแพ็กสะพายหลังให้นก” ว่า เราจะใช้กับนกนักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ข้อดีของเครื่องนี้คือเราสามารถรู้พิกัดจีพีเอสแบบเรียลไทม์ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ชาร์จแบตไปในตัว อายุการใช้งานของเครื่องก็จะยาวนานขึ้น ทำให้เราสามารถดูได้ว่าหลังปล่อยนกไปแล้ว นกไปเกาะที่ใด สูงจากพื้นดินหรือน้ำทะเลกี่เมตร บินด้วยความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าติดตามด้วยห่วงขาอย่างเดียวและไม่มีใครถ่ายภาพได้ เราจะไม่มีทางได้ข้อมูลแบบนี้เลย”

ดร.ไชยยันต์ กล่าวถึงความสำคัญของเหยี่ยวดำใหญ่ในธรรมชาติ ว่า “เหยี่ยวดำใหญ่เป็นนกนักล่า เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร อาหารของมันจะผันแปรไปตามที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นอีแร้งจะไม่ล่าสัตว์อื่น แต่จะกินซากสัตว์เท่านั้น ถ้าเป็นเหยี่ยวหรือนกอินทรีจะล่าหนูนา นกขนาดเล็ก งู หรือแมลง เพราะฉะนั้นฟังก์ชั่นของนกนักล่าในธรรมชาติจึงสำคัญมากในเรื่องการควบคุมประชากรสัตว์เหล่านี้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน”

“จะสังเกตว่านกนักล่าแต่ละชนิดจะมีสัญชาตญาณที่เป็นนาฬิกาชีวิตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูแล้งในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ถ้านกสุขภาพดีก็จะบินกลับไปยังบ้านเกิด เพราะมีสัญชาตญาณผูกพันกับถิ่นอาศัย คือเกิดที่ไหนก็จะกลับไปหาคู่และทำรังวางไข่ที่เดิม ภูมิประเทศในถิ่นอาศัยจึงสำคัญมาก หากป่าไม้ถูกทำลาย พื้นที่เปลี่ยนไปก็จะลดโอกาสในการขยายพันธุ์ของนกในกลุ่มนี้”

“สัตว์ป่าวิวัฒนาการมาเพื่อสามารถอาศัยอยู่ในป่าได้ด้วยตัวเอง ธรรมชาติไม่ได้สร้างนกให้มีปีกขึ้นมาเพื่ออยู่ในกรงหรือเป็นสัตว์เลี้ยง ถ้ารักสัตว์ป่าและนกนักล่า ขอความร่วมมือ ไม่ซื้อ ไม่เลี้ยง ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เพราะสำหรับสัตว์ป่า ธรรมชาติคือบ้านที่วิเศษที่สุดครับ” ดร.ไชยยันต์ทิ้งท้าย

ข้อมูลอ้างอิง
Thai Raptor Group กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย
หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์
https://adaymagazine.com/raptor-rehabilitation-unit


กำลังโหลดความคิดเห็น