Clip CR. Robotic News
กลายเป็นปรากฎการณ์น่าทึ่งที่สุด เมื่อนักวิจัยพบ “แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย” เป็นนกชนิดแรกของโลกที่ขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้มาผสมพันธุ์ หรือเรียกว่าภาวะการกำเนิดแบบพรหมจรรย์ (Parthenogenesis)
ขยายความให้เข้าใจง่ายๆ คือไข่ของแร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียมีเชื้อโดยไม่ต้องมีตัวผู้มาผสมพันธุ์นั่นเอง
Oliver Ryder นักพันธุศาสตร์จาก Wildlife Alliance ที่สวนสัตว์ซานดิเอโก กล่าวกับ Gizmodo ว่า “มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างน่าทึ่ง”
“เราคอยจับตาดูทุกครั้งที่ได้รับตัวอย่างเลือดสำหรับการทดสอบ เมื่อพบว่า แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย มีภาวะ Parthenogenesis เป็นช่วงเวลาที่ขนลุกไปหมด”
Ryder กล่าวอีกว่า เกิดขึ้นเมื่อทีมตรวจสอบจำนวนประชากรนกในประวัติศาสตร์เพื่อรักษาสุขภาพทางพันธุกรรมของแร้ง (เมื่อมีการเพาะพันธุ์สัตว์ขนาดเล็ก มีความเสี่ยงที่จะผสมพันธุ์ หรือ ปัญหาคอขวดทางพันธุกรรมซึ่งอาจทำให้สัตว์แข็งแกร่งน้อยลง)
กระบวนการ Parthenogenesis หรือการกำเนิดแบบพรหมจรรย์ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการให้กำเนิดลูกโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวผู้มาปฏิสนธิ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีรายงานพบแล้วในปลา , สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน แต่ว่าในสัตว์เลือดอุ่นเพิ่งจะมีเป็นครั้งแรกในวงการชีววิทยา นั่นก็คือนก ! แถมนกที่เกิดภาวะกระบวนการนี้ก็ดันเป็นนกหายากที่สุดในโลก “แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย”
นกให้กำเนิดไข่แบบมีเชื้อโดยไม่มีตัวผู้ได้อย่างไร? โอกาสเกิดขึ้นในสัตว์เลือดอุ่นจำพวกอื่นได้หรือไม่ ? และลูกนกจะออกมาเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย ?
- ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับแร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย (California condor) ซึ่งเป็นนกบินได้ที่มีขนาดใหญ่สุดในอเมริกาเหนือ เป็นนกจำพวกแร้งโลกใหม่ (New World Vulture) ปีกกว้างกว่า 3 เมตร หัวโล้นขนาดใหญ่สีชมพูเด่นชัด มีอุปนิสัยชอบกินซากสัตว์เป็นอาหาร เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งระดับโลกที่เหลือไม่ถึง 300 ตัวในปัจจุบัน
- แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียได้รับการฟื้นฟูประชากรโดยหน่วยงานสวนสัตว์ซานดิเอโก้ , สวนสัตว์ลอสแองเจลิส , สวนสัตว์โอเรก้อน และสวนสัตว์ฟีนิกซ์ โดยในปัจจุบันแร้งคอนดอร์ทุกตัวในธรรมชาติที่โบยบินออกไปมีป้ายแท็กติดทุกตัวเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในป่า
- เรื่องของการถือกำเนิดโดยพรหมจรรย์ เกิดขึ้นเมื่อ แร้งคอนดอร์เพศเมีย 2 ตัวที่เป็นตัวอย่างศึกษาพฤติกรรม เกิดการวางไข่ขึ้น ทีแรกนักวิจัยคิดว่าเป็นไข่ลมปกติ แต่พอนำไข่มาตรวจสอบพบว่า ไข่กลับมีเชื้ออยู่ด้านใน ! ทั้งๆที่นกสองตัวนี้ไม่เคยนำมาจับคู่ผสมกับตัวผู้ตัวไหนเลยตั้ง 30 ปี ! แถมตอนนี้ลูกนกฟักออกมาเรียบร้อย ได้รับการเลี้ยงดูทั้งจากแม่นกและนักวิจัย จัดว่าแร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียคือนกชนิดแรกของโลกที่เกิดภาวะ Parthenogenesis
- นักวิจัยได้ลงบทความวิจัยในวารสาร "Journal of Heredity" ในหัวข้อ "Facultative Parthenogenesis in California Condors" โดยได้อธิบายว่า แม่แร้งคอนดอร์มีโครโมโซมเพศผู้ (ZZ) อยู่ในรังไข่ที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งเมื่อยามที่นกขาดแคลนตัวผู้แบบไม่เห็นตัวหรือได้ยินเสียงร้อง นกตัวเมียจะทำการผลิตไข่ที่มีเชื้อจากการผสมโครโมโซมเพศทั้งสองเข้าด้วยกันในไข่ เพื่อเพิ่มประชากรทดแทนการปฏิสนธิที่ขาดไป ในตอนนี้ก็ยังไม่ทราบเพศที่แน่ชัดของลูกนกครับว่าเป็นนกเพศอะไร
- คำถามต่อมา คือ โอกาสเกิดขึ้นในสัตว์เลือดอุ่นจำพวกอื่นหรือไม่ ? คำตอบคือมีโอกาสได้ในนกและ Monotreme หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ อาจจะมีโอกาสเกิดได้ แม้แต่ไดโนเสาร์ก็อาจเกิดขึ้นได้แต่ยังไม่มีหลักฐานฟอสซิลยืนยันเพิ่มเติม
ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการชีววิทยาด้านการสืบพันธุ์ของสัตว์ ที่คนต่างให้ความสนใจกันชั่วข้ามคืนก็ว่าได้
ข้อมูลอ้างอิง
Supanut Benjadumrongkit
https://gizmodo.com/two-california-condors-had-virgin...
ลิงค์เปเปอร์วิจัยอ้างอิง
https://academic.oup.com/.../10.1093/jhered/esab052/6412509