เครดิตคลิป JEAB THAIREFERENCE TEAM
ฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบหลายร้อยตัว แวะพักในสวนยางพารา ใกล้ๆโรงเรียน ตชด.เชิญพิศลยบุตร ต.ทับช้าง อ.นาทวี จ.สงขลา และจะพากันอพยพต่อและไปรวมฝูง หากินอยู่ตามป่าในเขตอุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี และเป็นน่าสังเกตว่านกเงือกกรามช้างฝูงใหญ่หลายร้อยตัว บินมาจากทางเหนือหลายร้อยตัวและนกอีกส่วนหนึ่งก็จะอพยพมาจากทางประเทศมาเลเชียที่อยู่ติดกัน เพื่อรวมตัวกันนับพันตัวที่สันกาลาคีรี และจะบินวนหากินอยู่ตามป่าประมาณ 10-15 วัน ก็จะทยอยแยกย้ายบินกลับหาไปหากินยังถิ่นอาศัยเดิม ซึ่งเป็นพฤติกรรมของนกเงือกกรามช้างที่เกิดขึ้นทุกปี
ทุกๆ ปี พอเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว “นกปลูกป่า” ฉายาของเหล่านกเงือก มักจะพบอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัว ต่อจากนั้นก็จะยกครอบครัวเข้าร่วมสังคมใหญ่ ทำให้เราเห็น “ปรากฎการณ์รวมฝูง” นกเงือกชนิดเดียวกันจะรวมตัวเป็นฝูงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้างปากเรียบ และนกเงือกกรามช้าง เคยพบว่ารวมฝูงจำนวนมากกว่า 2,000 ตัว
ช่วงเวลานี้จึงมักเห็นนกเงือกรวมฝูงกันทุกๆ เช้า เริ่มจากค่อยๆ พากันทยอยบินออกจากที่เกาะนอนไปยังแหล่งอาหาร จนกระทั่งตอนเย็น ฝูงนกเงือกก็จะทยอยบินกลับมาเกาะนอนรวมกันบนต้นไม้ในหุบเขา ครั้นเมื่อถึงกลางฤดูหนาวซึ่งใกล้ฤดูผสมพันธุ์ (ราวๆ มกราคม) จำนวนของนกเงือกในฝูงก็จะเริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ และเริ่มแยกเป็นคู่ๆ พากันกลับไปสำรวจโพรงเก่า หรือเสาะหาโพรงใหม่ เพื่อทำรังและวางไข่กันอีกครั้ง
เครดิต คลิป BKK DOC Bangkok International Documentary Awards
นูรีฮัน ดะอูลี ผู้ช่วยวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ขึ้นซ่อมแซมโพรงรังนกเงือก
แต่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ นักอนุรักษ์ นักวิจัยนกเงือก อย่างเจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก และอาสาสมัคร จะระดมสรรพกำลัง “ซ่อมแซมโพรงรัง”เดิมของนกเงือกให้กลับมาใช้ได้ ซึ่งมีทั้งการปรับปรุงโพรงในธรรมชาติให้เหมาะสมที่จะใช้ได้ หรือบางพื้นที่ต้องติดตั้ง “โพรงเทียม” เพิ่มโอกาสในการทำรังของนกเงือกในฤดูกาลใหม่ที่จะวางไข่และเลี้ยงลูกในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปีหน้า
ด้านสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุป่าฮาลา-บาลา เผยเรื่องราวการทำงานเกี่ยวกับนกเงือกว่า นกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงรังเองได้ เราจึงต้องมีทีมสำรวจและซ่อมโพรงรังเพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากรนกเงือก
นกเงือกอาศัยโพรงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ปัจจัยจำกัดในการเพิ่มประชากรนกเงือก จึงมีสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนโพรงรังที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ต้นไม้ที่มีโพรงนั้นมีเต็มป่า แต่โพรงที่มีขนาดเหมาะกับนกเงือกก็พอมีแต่ก็ไม่เพียงพอกับประชากรนกเงือกที่มีในพื้นที่นี้
ลักษณะของโพรงรังที่เหมาะสมกับนกเงือกจะต้องมีทางเข้าทางออกเป็นรูปรี ปากโพรงสูงและกว้างเพียงพอที่นกเงือกตัวเมียจะสอดตัวเข้าไปได้ นกเงือกขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ต้องการโพรงรังที่มีความกว้างของปากโพรงประมาณ 10-15 เซนติเมตร สูง 20-30 เซนติเมตร ภายในโพรงควรมีเพดานสูงมากกว่า 1 เมตร เพื่อการไหลเวียนของอากาศภายในโพรง พื้นโพรงไม่ลึกจากขอบโพรงด้านล่างมาก ขนาดไม่ลึกกว่า 15-20 เซนติเมตร รัศมีภายในโพรงพอสำหรับแม่และลูกนกเงือก กว้างหรือยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร โพรงธรรมชาติที่มีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ง่ายเลย ยากที่ธรรมชาติจะสร้างโพรงรังที่พอเหมาะได้อย่างทั่วถึง แม้แต่ป่าที่มีความชื้นและฝนมากอย่าง ป่าบูโด หรือป่าบาลา ก็ยังไม่เพียงพอ
ข้อจำกัดดังกล่าวในเรื่องลักษณะโพรงรัง และโพรงรังมีความทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงเป็นปัจจัยจำกัดของนกเงือก ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำรังวางไข่ จึงต้องมีการซ่อมแซมโพรงรังให้แก่นกเงือก
ในระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2561-2563) สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา ซ่อมแซมโพรงรังในพื้นที่ป่าบาลาแล้ว 12 โพรง แล้วก็มีนกเงือกเข้าใช้หลังซ่อมแซม 4 โพรง ในจำนวนนี้ 2 โพรง เป็นโพรงของนกเงือกหัวแรด RH#1 และ RH#4 ที่นกตัวเมียออกจากรังในระหว่างฤดูทำรัง หลังจากที่เห็นว่านกเงือกตัวเมียออกจากโพรงกลางคัน ก็ได้ปีนต้นไม้ไปสำรวจ พบว่าพื้นโพรงทรุดลงไปมาก จึงถมดินให้พื้นโพรงเสมอปากโพรงและขยายช่องภายในโพรงรังให้กว้างขึ้น และเมื่อฤดูกาลทำรังในปีถัดมานกเงือกหัวแรดคู่เดิมทั้ง 2 โพรงรังก็เข้ามาใช้ตามเดิม
ในปี 2561 เราพบโพรงรังเก่าที่ไม่มีนกเข้าใช้ประโยชน์ เมื่อประเมินแล้วคาดว่าหากซ่อมอาจจะเพิ่มโอกาสที่นกเงือกจะเลือกใช้ เพราะโพรงรังยังสภาพดีอยู่ จึงซ่อมแซมในฤดูกาลที่นกยังรวมฝูงอยู่ก่อนจับคู่ในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นในฤดูสืบพันธุ์เดือนเมษายน 2562 พบว่านกเงือกปากดำ เข้ามาใช้โพรงดังกล่าว (BH#1)
อีกโพรงหนึ่งเป็นโพรงเก่าของนกชนหิน สำรวจพบในปี 2557 โพรงนี้นกชนหินเข้าใช้ปีเดียว แล้วก็ไม่มีนกเงือกเข้าใช้อีกเลยในหลายปีต่อมา ปีที่แล้ว 2563 เมื่อมีอุปกรณ์การปีนต้นไม้พร้อม จึงปีนขึ้นไปซ่อมโพรงนี้ในเดือนมกราคม หลังจากซ่อมเพียง 2 เดือน เดือนมีนาคม 2563 ก็มีนกกก ก็เข้ามาใช้ทำรังในฤดูกาลนั้น (GH#1) ทั้งที่หวังให้นกชนหินเข้า แต่ก็ดีใจมากๆ แล้ว ยังไงก็ได้ขอให้มีนกเงือกเข้ามาใช้หลังจากขึ้นไปซ่อม
นกเงือกที่ยังไม่มีโพรงของตัวเองจะสำรวจหาโพรงรังอยู่เสมอ แล้วรอโอกาสที่โพรงจะมีลักษณะที่เหมาะสมกับการทำรัง เมื่อเห็นว่ามีโพรงที่เหมาะ จึงเข้าใช้ประโยชน์ ส่วนนกเงือกที่มีโพรงรังเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ก็จะเฝ้าระวังโพรงของตัวเองและพยายามที่จะไม่ให้ใครมาแย่งไปได้ เมื่อโพรงทรุดโทรมไปก็ยังหวงโพรงและรอโอกาสให้โพรงกลับมาเหมือนเดิม การซ่อมแซมโพรงรังจึงเหมือนเป็นการช่วยให้นกเงือกได้มีโพรงและเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากรเท่าที่จะเป็นไปได้
ข้อมูลอ้างอิง
-THAILAND HORNBILL
PROJECT
-สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ
ป่าฮาลา-บาลา• Hala Bala Wildlife Research Station