xs
xsm
sm
md
lg

วาฬบรูด้าเคราะห์ร้าย! ติดบนหัวเรือบรรทุกน้ำมันญี่ปุ่น ตอกย้ำมาตรการอนุรักษ์ยังเข้มแข็งไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





Credit Clip PatrynWorldLatestNew

ภาพซากวาฬบรูด้า ถูกคร่าชีวิต ปรากฎต่อสายตาคนญี่ปุ่นอย่างน่าหดหู่ เมื่อพบว่าติดอยู่ที่หัวเรือบรรทุกน้ำมันกำลังวิ่งเข้าท่าในเมืองคูราชิกิ (Kurashiki) จังหวัดโอกายามะ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แต่ภาพข่าวมาถูกเปิดเผย โดยหนึ่งในหนังสือพิมพ์ชั้นนำของญี่ปุ่น โยมิอุริ ชิมบุน (Yomiuri Shimbun) เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้

โฆษกจากกรมยามชายฝั่งมิซูชิมะ กล่าวว่า วาฬบรูด้าเคราะห์ร้ายที่ถูกพบติดอยู่ที่หัวเรือขนส่งน้ำมัน เป็นเพศผู้ มีความยาวอยู่ที่ 39 ฟุต และมีน้ำหนักมากถึง 5 ตัน “นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นอะไรแบบนี้ ซึ่งจะสอบสวนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถป้องกันได้อย่างไรในอนาคต”

และตามรายงานของโยมิอุริ ชิมบุน ระบุด้วยว่าลูกเรือของเรือบรรทุกน้ำมันดังกล่าวไม่ทราบด้วยว่าพวกเขาได้ลากปลาวาฬไปด้วยขณะแล่นผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก

แม้ว่าวาฬบรูด้าจะได้รับการขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครองของประเทศญี่ปุ่น แต่ ณ วันนี้ กลับยังไม่มีข้อมูลว่า บริษัทใดเป็นเจ้าของเรือน้ำมัน และลูกเรือจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายหรือไม่

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการขนส่งทางเรือเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 300% ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่พบว่า เรือบรรทุกน้ำมันเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ที่ทำให้ประชากรวาฬได้รับบาดเจ็บ หรือต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

รายงานเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำกับสัตว์จำพวกวาฬ (Shipping and Cetaceans Report) โดย WWF ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหานี้ไว้ว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกเเบบระบบเก็บเสียงเครื่องยนต์เรือ หรือการลดระดับความเร็วเรือลงที่ 10 น็อต หรือต่ำกว่านั้น อาจช่วยลดปัญหาความสูญเสียลงได้

ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับพวกวาฬและโลมาที่ยังมีชีวิตอยู่ในมหาสมุทร พวกมันต่างต้องเผชิญหน้ากับ “มลพิษทางเสียง” จากเครื่องยนต์ของเรือขนส่ง ซึ่งเป็นเสียงที่คอยรบกวนคลื่นเสียงใต้น้ำที่พวกมันใช้ในการสื่อสาร โดยเสียงจากเรือที่ดังเกินค่ามาตรฐานไปมาก อาจทำลายการได้ยินของวาฬและโลมาไปชั่วคราว หรือตลอดกาล

ปัจจุบัน วาฬบรูด้า(Bryde's whale) ยังตกอยู่ในสถานภาพที่ใกล้สูญพันธุ์ พวกมันถูกคุกคามจากมนุษย์จนมีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจากปลาและกุ้งขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารของมันมีจำนวนลดลงเพราะมนุษย์ และมนุษย์ยังปล่อยมลพิษทางน้ำ และมลพิษทางเสียงจากการเดินเรือยนต์ บางครั้งมันยังได้รับอุบัติเหตุจากอวนของชาวประมง หรือการขับเรือชนโดยมิได้ตั้งใจทำนองเดียวกับเหตุการณ์ครั้งนี้

ข้อมูลอ้างอิง https://rb.gy/5cunmm,https://bit.ly/2Ulgada


กำลังโหลดความคิดเห็น