พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCOV19 และจุฬาฯ ใบยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระบบติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ใน Home Isolation โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ณ อาคาร ส.ธ. ชั้น 4 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ต้อนรับ
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานด้านโควิด-19 ของจุฬาฯ โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จากนั้นได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth รับฟังการบรรยายสรุปการพัฒนาวัคซีน ChulaCOV19 ชนิด mRNA โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ต่อมานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้เดินทางมาที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ตรวจเยี่ยมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยใช้เซลล์พืชเป็นแหล่งผลิต (วัคซีนใบยา) ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตวัคซีนจากใบยา การเพาะเลี้ยงพืชและผลิตวัคซีน และฟังการบรรยายเรื่องการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการบรรยายเรื่องการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยใช้เซลล์พืชเป็น แหล่งผลิต (วัคซีนใบยา) โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ นักวิจัยและพัฒนาวัคซีน บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด จากนั้นนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการดำเนินงานด้านวัคซีนในประเทศไทย
วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เริ่มพัฒนามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยผ่านทดสอบในหนูทดลองและลิง ผลการทดลองพบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนงบประมาณ 160 ล้านบาท แก่จุฬาฯ และบริษัทใบยาในการปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุโดยใช้พืช ณ ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ขนาด 1,200 ตารางเมตร ซึ่งได้ผ่านมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น เริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ที่บริษัท คินเจ่นไบโอเทค จำกัด จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป
ทั้งนี้ วัคซีนจุฬา-ใบยาจะเริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ จำนวนประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี