xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” ตรวจผลิตวัคซีนจุฬาฯ-บ.ใบยาฯ สธ.จัด 160 ล้านพัฒนา รง.คาดได้ใช้ไตรมาส 3 ปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.สธ. ตรวจเยี่ยมการผลิตวัคซีนโควิด จุฬาฯ-บริษัท ใบยาฯ เผย สธ.อัดงบกว่า 160 ล้าน พัฒนาโรงงาน รายงานคาดว่าไตรมาส 3 ปี 65 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของคนไทยได้

วันนี้ (13 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข ได้เดินทางไป ที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 เพื่อตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ

โดย นายอนุทิน เปิดเผยว่า ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภาครัฐต้องการให้มีวัคซีนสัญชาติไทย เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ และได้ให้การสนับสนุนผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง สำหรับทีมจุฬาฯ และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม เริ่มพัฒนามาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ทดสอบได้ผลดีกับสัตว์ทดลอง จากนี้จะมีการทดสอบในมนุษย์ หวังว่า ผลการทดลองจะออกมาได้ด้วยดี เพื่อเป็นอาวุธให้คนไทยใช้สู้กับโรค

เพื่อยืนยันว่า ภาครัฐสนับสนันโครงการนี้อย่างเต็มที่ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงจัดสรรงบประมาณ 160 ล้านบาท ให้แก่จุฬาฯและบริษัท ใบยาฯ ในการปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุโดยใช้พืช ใช้เวลา 8 เดือน ในการปรับปรุงบนพื้นที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ขนาด 1,200 ตารางเมตร ผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น เริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ ที่บริษัท คินเจ่น ไบโอเทค จำกัด จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนกันยายนปีนี้ ทีมผู้ผลิตข้างต้น จะมีการทดลองในมนุษย์ เฟสที่ 1 เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่า ในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้ประมาณ 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี




กำลังโหลดความคิดเห็น