xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก!! อุณหภูมิแบบสุดขั้ว ชาวโลกตายปีละ 5 ล้านคน ทวีปเอเชียมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ - GETTY IMAGE
ผลการศึกษาล่าสุด จากการสำรวจครั้งใหญ่ พบในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 ล้านคน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด

ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากนานาชาติเผยแพร่ผลวิจัยในวารสาร The Lancet Planetary Health ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า มีการเก็บข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้คน ในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินขอบเขตที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรืออุณหภูมิห้อง จากสถานที่ทั้งหมด 750 แห่งทั่วโลก ในช่วงระหว่างปี 2000-2019 ซึ่งเป็นยุคที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น 0.26 องศาเซลเซียสทุกหนึ่งทศวรรษ และถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในโลก นับตั้งแต่ยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม

ผลวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กรณีเสียชีวิต 9.43 % ของทั้งโลกจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดจนเกินไป คิดเป็น 9 ใน 10 ของกรณีการตายที่เกินความคาดหมาย โดยทวีปเอเชียและแอฟริกามีอัตราการตายเพราะความหนาวเย็นสูงที่สุดของโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านคน และ 1.18 ล้านคน ตามลำดับ ส่วนกรณีการตายด้วยอุณหภูมิร้อนจัดนั้น ทวีปเอเชียยังคงครองแชมป์ที่ 224,000 รายต่อปี ตามมาด้วยภูมิภาคยุโรปที่ 178,700 รายต่อปี โดยยุโรปเป็นทวีปเดียวที่มีกรณีการตายจากทั้งอุณหภูมิร้อนจัดและเย็นจัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก หรือโดยรวมกว่า
นักวิจัยกังวลว่า สัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิร้อนจัด อาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับปัจจุบัน ซึ่งอัตราการตายส่วนเกิน (excess deaths) ซึ่งเป็นส่วนต่างของจำนวนผู้เสียชีวิตที่คาดการณ์กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ปรากฏจริง ด้วยสาเหตุนี้ อยู่ที่ 74 รายในประชากรโลกทุก 100,000 คน และถือเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของสาเหตุการตายที่พบมากทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะอัตราการตายจากอุณหภูมิร้อนจัดกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวและภาวะโลกร้อน แม้ในช่วงการวิจัยพบว่าอัตราการตายจากสภาพอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ


๐ หนาวตาย - ร้อนตาย เป็นอย่างไร??

อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ปกติจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่ในกรณีที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงจนต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส จะถือว่าเป็นภาวะวิกฤต (Severe Hypothermia) เนื่องจากร่างกายจะไม่สามารถปรับสภาพได้ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะที่อวัยวะจะหยุดทำงานและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นและร่างกายไม่สามารถสร้างความอบอุ่นได้ทัน จะเกิดการสูญเสียความร้อนสู่ภายนอกทางผิวหนังถึงร้อยละ 90 และสูญเสียทางการหายใจร้อยละ 10 ซึ่งในภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรุนแรง อยู่ในระดับต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียส ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ จะล้มเหลว ระบบการเต้นของหัวใจจะผิดปกติ หากอุณหภูมิของร่างกายลดลงจนต่ำกว่า 20 องศา ระบบประสาทจะหยุดทำงาน

เมื่อร่างกายต้องเผชิญกับภาวะอุณหภูมิที่ระดับต่ำอย่างรุนแรง จะมีอาการสั่นจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดความร้อน เส้นเลือดส่วนปลายหดตัวเพื่อลดการสูญเสียความร้อน มือและเท้าจะซีดและเย็น หายใจช้า ซึมลง พูดช้า พูดไม่ชัด ชีพจรเต้นช้าลง และในระยะสุดท้ายร่างกายจะเข้าสู่ภาวะโคมา (coma) และเสียชีวิตได้

อย่างที่รู้กัน อุณหภูมิปกติในร่างกายของคนเราจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ถ้าสูงเกิน 37.5 องศา ถือว่าไม่สบายมีไข้ เมื่อเผชิญอากาศร้อนอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินกว่า 37 องศา ร่างกายจะแสดงออกมาให้เห็นในรูปของเหงื่อ ที่ขับออกมาเพื่อระบายความร้อน ลดอุณหภูมิในร่างกายให้มาอยู่ในภาวะปกติ อาการขาดน้ำในระยะแรก ร่างกายจะแสดงอาการกระหายน้ำ เรียกร้องให้เราหาน้ำมาดื่มชดเชยส่วนที่เสียไป

สำหรับอุณหภูมิในร่างกายสูงถึงขั้นทำให้เจ็บป่วย มี 3 ระดับ ระดับเริ่มต้น “ตะคริว” เกิดได้ทั้งจากอากาศร้อนและจากการออกกำลังกาย จนอุณหภูมิภายในร่างกายร้อนผิดปกติ เสียเหงื่อมาก ร่างกายขาดเกลือแร่ จะแสดงอาการเป็นตะคริว ที่ขา น่อง ท้อง

ระดับที่สอง “เพลียแดด” เกิดจากอากาศร้อนอุณหภูมิภายในร่างกายอยู่ระหว่าง 38-40 องศาเซลเซียส เหงื่อจะออกมารุนแรงมากกว่าระดับเป็นตะคริว ตัวเย็นมือเย็นเพราะเหงื่อ และรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหัว หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน

จะรู้ว่าอุณหภูมิในร่างกายสูงแค่ไหน ต้องวัดด้วยการอมปรอทวัดอุณหภูมิที่ใต้ลิ้น ส่วนใช้เครื่องวัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผาก หรือในรูหูไม่ได้อุณหภูมิที่ถูกต้อง ได้แค่อุณหภูมิภายนอก ไม่ใช่ภายในร่างกาย

ระดับสูงสุด “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” อุณหภูมิในร่างกายจะสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวจะแห้งไม่มีเหงื่อ เพราะเสียไปจนหมดตัว เป็นระดับที่อวัยวะภายในทำงานผิดปกติ มีอาการซึม ชัก หมดสติ ไตวาย ตับวาย หัวใจวาย

แต่โดยหลักแล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากหัวใจวาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ และคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น จะรู้สึกไม่สบายตัว และเกิดความเครียดตามมาโดยอัตโนมัติ เมื่อเครียดมากหัวใจเต้นเร็ว หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น แต่เส้นเลือดตีบ เลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทัน กล้ามเนื้อหัวใจก็จะตาย และในที่สุดจะเสียชีวิตจากหัวใจวาย

ที่มา - BBC ,The Guardian


กำลังโหลดความคิดเห็น