xs
xsm
sm
md
lg

Forbes ชู ViaBus แอปไทย คว้าสุดยอดนวัตกรรมเอเชีย พลิกโฉมระบบขนส่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ViaBus แอปพลิเคชันติดตามและนำทางขนส่งสาธารณะแบบเรียลไทม์รายแรกในประเทศไทย ผลงานนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้รับคัดเลือกเป็น “ Forbes 30 under 30 Asia – 2021” รางวัลเกียรติยศของคนเอเชียวัยไม่ถึง 30 ปี ที่กล้าเสี่ยงลงทุนและพัฒนานวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบขนส่งในอนาคต

“การรอคอยที่คาดเดาไม่ได้” ปัญหาหนักอกที่ผู้ใช้ระบบบริการขนส่งสาธารณะรู้ซึ้งกันดี ต่างมีประสบการณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นการพลาดนัดครั้งสำคัญ เข้างานสาย เสียเวลาเป็นชั่วโมงบนท้องถนนแทนที่จะได้ใช้เวลากับครอบครัวหรือพักผ่อน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพจิต และนับเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกด้วย

แต่ปัญหานี้กำลังจะกลายเป็นอดีต ด้วย ViaBus (เวียบัส) แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ชีวิตและการเดินทางง่าย สะดวก และวางแผนได้! ผลงานสร้างสรรค์จากทีม ViaBus ที่ล่าสุดคว้ารางวัล Forbes 30 under 30 Asia – 2021 โดยนิตยสาร Forbes


อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และนิสิตเก่าภาควิชา Information and Communication Engineering คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (ปีการศึกษา 2557) แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของ ViaBus นวัตกรรมเปลี่ยนโลกการเดินทางที่สร้างชื่อให้ประเทศไทยในเวทีโลก

๐ ViaBus คืออะไร

“เวียบัส” เป็นเพื่อนเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ แอปพลิเคชันติดตามและนำทางระบบขนส่งประจำทางแบบเรียลไทม์รายแรกของไทยที่เชื่อมโยงทุกระบบคมนาคมเข้าไว้ด้วยกันในแอปฯ เดียว ทั้งรถเมล์ รถสองแถว รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ เรือด่วน เรือข้ามฟาก และรถตู้ระหว่างจังหวัด โดยมีบริการครอบคลุมกว่า 70 จังหวัด

“ผู้ใช้งาน ViaBus จะรู้ตำแหน่งและหมายเลขรถโดยสารประจำทาง ป้ายประจำทางที่ใกล้ที่สุด ค้นหาเส้นทางการเดินทางที่เร็วที่สุด และช่วยนำทางคนไทยและคนต่างชาติที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไทย”


๐ ผุดไอเดีย ViaBus เมื่อ “ตกรถ”

สมัยเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ต้องเดินทางไปทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย แต่ตกรถ Chula Pop Bus หรือรถโดยสารสาธารณะภายในจุฬาฯ ทำให้วันนั้นไปสาย จึงเกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่ารถจะมาถึงเมื่อไหร่ก็คงจะดี จากวันนั้น จึงร่วมกับเพื่อนๆ พัฒนาแอปพลิเคชัน Chula Pop Bus เพื่อแก้ปัญหาการรอรถภายในจุฬาฯ

เมื่อนำออกมาทดลองใช้ก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก มีคนดาวน์โหลดแอปฯ มากถึง 4,000 คน ผ่านไปหนึ่งปีมีคนโหลดมากขึ้นอีกสิบเท่า เป็น 40,000 คน คนโหลดแอปฯ ก็ไม่จำกัดเพียงชาวจุฬาฯ แต่มีคนในพื้นที่สามย่านและสยามซึ่งใช้บริการรถโดยสารภายในจุฬาฯ ด้วย

“แอปฯ Chula Pop Bus เปรียบเสมือนต้นแบบและแรงบันดาลใจของ ViaBus แอปพลิเคชันซึ่งขยายผลและรองรับการทำงานระบบขนส่งโดยสารประจำทางในระดับมหภาค”

๐ เบื้องหลังความสำเร็จของ ViaBus

ViaBus เป็น Tech Startup ที่ก่อตั้งร่วมมากับธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ และธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร ซึ่งเริ่มต้นจากในมหาลัย โดยตอนเริ่มนั้นได้รับการสนับสนุนจาก CU Innovation Hub ที่ช่วยทั้งเรื่องของโอกาส เงินทุนเริ่มต้นในการทดลองนวัตกรรม และยังได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

มีการ ViaBus พัฒนาและทดสอบนวัตกรรมเป็นเวลาประมาณ 2 ปี กับผู้ใช้งานจริงหลายหมื่นราย จึงเปิดใช้งานในปี 2561 และพัฒนามาตลอดจนถึงปัจจุบัน และขณะนี้ได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

“ผมคิดว่าความสำเร็จของ ViaBus มาจากการได้รับโอกาส เงินทุน และ passion ที่ทำให้พวกเราสามารถเริ่มต้นได้ และไม่ย่อท้อต่อปัญหาต่างๆที่เข้ามาในระหว่างทาง”

๐ จุดเด่นของ ViaBus ที่ผู้ใช้ต้องปลื้มมีอะไรบ้าง

จุดเด่นของ ViaBus คือการแสดงผลข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะแบบเรียลไทม์ โดยแอปพลิเคชันจะอัปเดตข้อมูลเส้นทางและสภาพจราจร คำนวณเวลาเดินทางบนฐานข้อมูลจริงและทันเหตุการณ์ตลอดเวลา เช่น ป้ายรถที่ถูกยกเลิก จุดไหนมีรถจอดเสีย รถเปลี่ยนเส้นทาง และจุดที่มีการปิดถนน เป็นต้น

“ดาวน์โหลด ViaBus มาวางแผนการใช้ชีวิตบนท้องถนนกันนะครับ เราออกแบบแอปฯ ให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เพียงดาวน์โหลดแอปฯ ซึ่งรองรับผู้ใช้งานทั้งระบบ IOS และ Android แล้วเลือกเมนูที่ต้องการ เช่น วิธีการเดินทาง ดูแผนที่ ค้นหาป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุด”

หลักๆ แล้ว ViaBus จะช่วยให้ผู้ใช้งาน
- สามารถวางแผนการเดินทางด้วยระบบขนส่งโดยสารสาธารณะได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะด้วยรถโดยสาร เรือ รถไฟ และรถตู้ระหว่างจังหวัด
- บริหารจัดการเวลาได้ ไม่เสียเวลากับการคอยรถโดยสารหรือเรือเป็นเวลานานๆ
- ลดความเสี่ยงจากการหลงทาง โดยการนำทางด้วย ViaBus
- มีความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งผู้โดยสารสามารถดูตารางเดินรถ เที่ยวรถ พร้อมเวลาที่รถจะมาถึงยังสถานี ไม่ต้องเสียเวลารอรถที่สถานี
- ลดข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณะของคนพิการ โดย ViaBus จะระบุรถคันที่สามารถรองรับรถเข็นของคนพิการได้ รวมทั้งช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงบริการสะดวกขึ้น
- ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไทยได้สะดวกขึ้นด้วย เนื่องจาก ViaBus แสดงผลเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย

๐ ก้าวต่อไปของ ViaBus

ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอปฯ ViaBus ไปใช้งานแล้วกว่า 2 ล้านคน ครอบคลุมการติดตามขนส่งประเภทโดยสารต่างๆ ซึ่งแอปนี้ได้ช่วยผู้โดยสารลดเวลาในการรอขนส่งสาธารณะได้ไปแล้วกว่า 7,700 ล้านนาที หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งผมมองว่านี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเราจะยังพัฒนา ViaBus ต่อไปอย่างต่อเนื่อง 

โดยมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างที่เราจะทำ เช่น
- พัฒนาและเพิ่มศักยภาพของระบบนิเวศระบบขนส่งโดยสารประจำทาง ซึ่งรวมทั้ง ผู้โดยสาร และผู้ประกอบการขนส่ง
- เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นระบบเดียวกันโดยเพิ่มจำนวนและประเภทพาหนะ เช่น รถโดยสารท้องถิ่น และขยายพื้นที่การใช้งานผ่านแอปฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ”

“เราอยากทำให้ ViaBus เป็นเสมือนผู้ช่วยการเดินทางของทั้งผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเป็นผู้ช่วยงานบริหารจัดการให้กับผู้ประกอบการในการควบคุมและติดตามการขนส่งโดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและลดการใช้พลังงาน”

อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และนิสิตเก่าภาควิชา Information and Communication Engineering คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (ปีการศึกษา 2557)
๐ นวัตกรรมแห่งเกียรติยศ พลิกโฉมระบบขนส่ง

อินทัช ย้ำความภูมิใจในรางวัล “Forbes 30 under 30 Asia – 2021” จากนิตยสาร Forbes ซึ่งนับว่า ViaBus ได้ทำหน้าที่ Startup สัญชาติไทยที่ประกาศชื่อเสียง พิสูจน์ความเป็นเลิศของคนไทยกระทั่งเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

“ก่อนหน้านี้ ViaBus เคยได้รางวัล Best Performing Startup จัดโดย Dtac ปี 2562 รางวัลชนะเลิศ ในการประกวดโมบายแอปพลิเคชันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และรางวัล MEGA PITCH 100 SID จาก Siam Innovation District ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปี 2561 ซึ่งผมและทีมงานรู้สึกดีใจและภูมิใจอย่างยิ่งในทุกๆ รางวัลที่ ViaBus ได้รับ ทำให้ทีมทุกคนมีพลังใจที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมต่อไป” อินทัช กล่าวทิ้งท้าย