xs
xsm
sm
md
lg

ซัมซุงหนุน ‘โค้ดดิ้ง’ ดันฝันเยาวชนไทยเป็นนวัตกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จัดโครงการ Samsung Innovation Campus อัดคอร์สอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์ให้สำหรับเยาวชนไทย พร้อมผลักดันให้เยาวชนได้ฝึกใช้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งและความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอไอเดียสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มั่นใจศักยภาพของเยาวชนและการศึกษาคือเข็มทิศชี้ทางของสังคมในอนาคต ตั้งเป้าส่งต่อความรู้และกระตุ้นให้เด็กพัฒนากระบวนการคิดของตนเอง วางรากฐานสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นนวัตกรผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมดิจิทัล

ด.ญ.นฤพร องค์มรกต นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) กับ ‘ความฝัน’ ที่อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ เล่าถึงการอบรมครั้งนี้ว่าใฝ่ฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์เหมือนพี่ชาย แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องโค้ดดิ้งมาก่อน การเข้าร่วมโครงการ Samsung Innovation Campus จึงเหมือนได้เปิดประตูสู่โลกใหม่ ซึ่งทำให้เข้าใจหลักพื้นฐานในการเขียนโค้ดและเห็นแนวทางในการนำความรู้ไปต่อยอด

"เกิดความภูมิใจเมื่อเราสามารถเขียนโค้ดให้ทำตามคำสั่งต่างๆ ได้สำเร็จ ในการนำเสนอผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนจบคอร์สจึงได้ลองนำเสนอไอเดีย ‘กล้องแปลภาษามือ’ โดยอาศัย AI ช่วยตรวจจับท่าทางของภาษามือแล้วเรียบเรียงเป็นเสียงคำพูด ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการด้านพูดหรือการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น เพราะหนูอยากให้ทุกคนสื่อสารกันได้อย่างไร้ข้อจำกัด"


หลังจากที่เข้าร่วมคอร์สอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์ จำนวน 70 ชั่วโมง นักเรียนทุกคนจะต้องผสานความรู้ที่เรียนไปทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลง ฝึกคิดแบบนวัตกร การคิดแบบมีตรรกะ (Logical Thinking) และเนื้อหาความรู้โค้ดดิ้ง 2 ภาษา ได้แก่ C และ Python รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่อง AI เพื่อนำมาพัฒนาไอเดียในการออกแบบนวัตกรรม ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน” โดยกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ในการช่วยฝึกเหล่านวัตกรรุ่นเยาว์ให้คิดวิเคราะห์ถึงปัญหาต่างๆ และสามารถใช้ความรู้และทักษะดิจิทัลของตนเองมาแก้ปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ทั้งยังเป็นการปูทางสู่การเรียน Coding & Programming ในระดับที่สูงขึ้น และความฝันในสายอาชีพด้าน IT ในอนาคต

ซัมซุงมองว่าปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียนอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์ได้ง่ายกว่าในอดีต วิธีการเรียนการสอนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเพื่ออำนวยการเรียนรู้ให้ผู้เรียนอย่างสูงสุด การเรียนรู้ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ การลงมือปฏิบัติจริง และการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเชื่อมการศึกษากับโลกยุคใหม่ที่ต้องเข้าใจจินตนาการและความต้องการของผู้เรียน

นอกจากนี้ ทักษะโค้ดดิ้งคือหนึ่งในทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ จินตนาการ และการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งทักษะโค้ดดิ้งเป็นทักษะที่สำคัญมากขึ้นในสังคมปัจจุบันที่เทคโนโลยีอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต โดยซัมซุงเห็นถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าวจึงได้เริ่มจัดโครงการนำร่อง Samsung Innovation Campus ขึ้นในประเทศไทยในปี 2562 และดำเนินโครงการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเยาวชนไทยสู่การเป็นพลเมืองโลกที่พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพื่อจุดประกายพลังแห่งจินตนาการให้เยาวชนได้ตื่นเต้นกับทุกความเป็นไปได้ของโลกโค้ดดิ้ง


ที่สำคัญ ซัมซุงเชื่อว่าเยาวชนคือวัยที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและพลังในการค้นหาตัวตน การศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจุดประกายไอเดียใหม่ๆ เพื่อผลักทุกความฝันให้ใกล้ความจริง คอร์สอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์นี้ก็ถูกจัดขึ้นบนความเชื่อแบบเดียวกัน เพื่อให้เยาวชนผู้เข้าร่วมได้ใช้ความรู้และประสบการณ์จากการอบรมเป็นประตูที่จะเปิดให้พวกเขาไปเจอกับความฝันที่แตกต่าง

ด.ญ.ทิพาวดี ศรีปีญญารัตน์ โรงเรียนสายปัญญารังสิต กับ ‘ความฝัน’ ที่จะก้าวสู่อาชีพในสายงาน Data Science และ Computer Engineering มองว่าความรู้พื้นฐานเรื่องโค้ดดิ้งเป็นสิ่งจำเป็นต่อสายอาชีพที่สนใจในอนาคต จึงสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด โดยเฉพาะ Python ซึ่งเป็นเนื้อหาที่โรงเรียนไม่ได้สอน

"หลังจากที่เรียนไป หนูมีไอเดียที่อยากจะประดิษฐ์ “กำไรจับโกหก” ที่จะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นของคลื่นเสียง ทำให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนตรวจพบพิรุธของผู้ที่กำลังโกหก นอกจากความรู้แล้ว สิ่งที่ประทับใจในโครงการ คือการได้รับมิตรภาพที่ดีจากเพื่อนต่างโรงเรียนที่ชื่นชอบในเรื่อง Programming เหมือนกัน ทำให้มีโอกาสในการแบ่งปันไอเดียและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ที่มีความสนใจแบบเดียวกัน"

 ด.ญ.นฤพร องค์มรกต นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ทางด้าน ด.ช.โชติวัฒน์ ตั้งสถาพร นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่หลงใหลในเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่สมัยอนุบาล กับ ‘ความฝัน’ ที่จะไปสอบแข่งขันโค้ดดิ้งระดับประเทศ เล่าว่าแม้จะมีพื้นฐานภาษา C มาแล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่เคยเรียน Python และ AI เพิ่งได้มีโอกาสมาเรียนที่ Samsung Innovation Campus เป็นที่แรก รู้สึกตื่นเต้นกับความรู้และกิจกรรมใหม่ๆ ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านสามารถอธิบายและถ่ายทอดความรู้ออกมาได้อย่างดีและเข้าใจง่าย

"ถือว่าได้เป็นการเพิ่มทักษะและเก็บประสบการณ์ให้มากขึ้นก่อนลงสนามจริงในอนาคต โดยผมได้เสนอไอเดียนวัตกรรมที่เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถกลับมารับรู้ได้เหมือนในอดีต ‘Blind All Can See’ โดยใช้หลักการทำงานของกล้องและ AI แอปพลิเคชันนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเผชิญเหมือนคนทั่วไป"

จากการนำเสนอผลงานไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์ ในโครงการ Samsung Innovation Campus ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน” ทำให้ซัมซุงเห็นว่าเหล่านวัตกรรุ่นเยาวน์ที่เข้าร่วมโครงการต่างก็มีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและความรู้ด้านโค้ดดิ้งให้เกิดประโยชน์ ไม่เพียงเท่านั้น นักเรียนแต่ละคนต่างมีมุมมองที่อยากจะช่วยพัฒนาสังคมในมิติมุมมองที่ต่างกันออกไป หากนักเรียนเหล่านี้ได้รับการบ่มเพาะความรู้และได้รับการสนับสนุนให้เดินตามความฝันก็จะกลายเป็นนวัตกรที่สามารถใช้สมองและสองมือในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

"ซัมซุงจะเดินหน้าพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่เยาวชนไทยต่อไป พร้อมผลักดันให้เยาวชนได้ฝึกสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แตกต่าง เพราะพลังแห่งจินตนาการและความรู้ของเยาวชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมดิจิทัลในอนาคต" ซัมซุงระบุในแถลงการณ์

ด.ช.โชติวัฒน์ ตั้งสถาพร นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น