xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์คุณธรรม เจาะพฤติกรรมคนไทยในวิกฤตโควิดระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์คุณธรรม เจาะพฤติกรรมคนไทยในวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ถอดบทเรียนสู่การเรียนรู้ พร้อมจัดทำแบบประเมินความเครียด คำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิต

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานด้านคุณธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการจัดประชุมวิชาการคุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม ผ่านระบบ Facebook Live เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีในสังคมไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้หัวข้อ " โควิด-19 Lesson and Learn จากบทเรียนสู่การเรียนรู้" โดยภาคเช้า จัดในหัวข้อ “เจาะพฤติกรรมคนไทยในวิกฤติโควิดระลอกใหม่” และภาคบ่าย “เมืองจิตสำนึกสาธารณะ และภาคพลเมืองกับการรับมือโควิด”

นอกจากนี้ ศูนย์คุณธรรม ยังได้จัดทำแบบประเมินความเครียดในสถานการณ์โควิด-19 ให้ประชาชนสามารถทดสอบประเมินความเครียดของตนเอง ซึ่งมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น รายได้ที่ไม่เพียงพอ หนี้สิน ภัยพิบัติต่างๆ ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นหากมากเกินไปจะเกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ เพียงกรอกแบบสำรวจด้วยตนเอง โดยจะมีการแปลความหมายระดับคะแนน ทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นผู้เสี่ยงมีความเครียดสูงหรือไม่ อีกทั้งจะมีคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตเพื่อลดความเครียดในด้านต่างๆ ประชาชนสามารถเข้ามาประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านเพจของศูนย์คุณธรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

๐ แนะสังคมใช้แบบประเมินความเครียด

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า คุณธรรมหมายถึงความดีงามที่ถูกปลูกฝังในจิตใจ พฤติกรรมดีหรือเรียกว่าพฤตินิสัย พฤติกรรมของผลกระทบโควิด-19 มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ที่ผ่านมา ศูนย์คุณธรรมได้พัฒนาแบบสำรวจความเครียดร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยใช้แพลตฟอร์ม “บวร” ซึ่งเป็นการประเมินตัวเอง 10 ข้อ โดยใช้คำถามง่ายๆ และมีคู่มือวิธีการจัดการความเครียดทุกรูปแบบ มีทั้งหมด 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ อินเดีย จีนและพม่า แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1.ความเครียดที่จัดการเองได้ (สีเขียว : ภาวะปกติ) 2.ความเครียดที่มีอาการปรากฏด้านร่างกายต้องมีกระบวนการที่ทำให้จัดการความเครียดได้ เช่น ใจสั่น ปวดหัว เหงื่อแตก (สีเหลือง : ภาวะปานกลาง) และ3.ความเครียดที่มีอาการปรากฏด้านจิตใจ เช่น จิตตก กินข้าวไม่ได้ (สีแดง : ภาวะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ) หลังจากได้ทำการสำรวจแบบประเมินแสดงให้เห็นว่า 55% ส่วนใหญ่ในปีนี้อยู่ในสีเหลืองและแดง 45% อยู่ในสีเขียว โดย 5% ของสีแดงส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และพนักงาน ซึ่งวัตถุประสงค์ของเครื่องมือนี้คือต้องการควบคุมให้เป็นสีเหลืองและปรับเป็นสีเขียว โดยมุ่งให้สามารถนำคู่มือนี้ไปใช้ได้ทั่วไปเพื่อประเมินความเครียด

๐ ประชาชนต้องรู้ทันสื่อ

ด้าน ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีการบัญญัติคำว่า “Infodemic” หมายถึงการระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข่าว โดยเกิดจากการรวมคำสองคำเข้าด้วยกันคือ Information (ข่าวสาร) และ Epidemic (การระบาด) ข้อมูลที่เป็นความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (Information Disorder) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลที่ปลอมขึ้นมาหรือเป็นเท็จ แต่เผยแพร่เพราะเชื่อว่าเป็นความจริง แชร์ด้วยความหวังดี มีคุณธรรมแต่ขาดเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ 2. ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารที่ตั้งใจให้ส่งผลกระทบในทางลบ และเผยแพร่เพราะรู้ว่าเป็นเท็จ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนคือจำเป็นต้องรู้เท่าทันสื่อหรือการสามารถตรวจอบข่าวสารได้ ต้องมีความกล้าที่จะบอกและคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการแชร์ กลุ่มคนที่ทำให้เกิดปัญหามี 2 แบบ ได้แก่ 1.Echo Chamber เสพข่าวในแวดวงตัวเองหรือในกลุ่มที่ชื่นชอบ และคิดว่าเป็นข่าวจริงทั้งหมด 2.ไม่อยากตกเทรนด์ แชร์ตามกระแสโดยขาดการยั้งคิด สื่อหลักควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เปิดเผยและเที่ยงตรง

๐ ต้องแก้ปัญหาความรุนแรงจากครอบครัวจากภายใน

ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ความรุนแรง หมายถึงการใช้กำลังหรือพลังทางกายโดยเจตนาต่อตนเอง ผู้อื่น หรือต่อกลุ่มหรือชุมชนอื่น โดยข่มขู่หรือแท้จริง เพื่อให้เกิดหรือมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต การทำร้ายจิตใจ การเจริญเติบโตผิดปกติหรือการลิดรอน ซึ่งจากผลสำรวจทั่วโลกเกิดความรุนแรงขึ้นทุกที่ ความรุนแรงในครอบครัวควรเกิดจากการกำกับตนเองหรือกำกับจากภายใน แต่เมื่อเกิดประเด็นความรุนแรงในครอบครัว โดยทั่วไปมักใช้ทางเลือกคือ 1.ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อดำเนินคดี 2.ร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือมูลนิธิไปแจ้งดำเนินคดี ซึ่งทั้ง 2 ข้อเป็นการกำกับจากภายนอกหรือการปกป้องจากภายนอก ทั้งนี้ ข้อมูลในต่างประเทศพบว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสำเร็จได้ด้วยการมีชุมชนช่วยเหลือคอยสอดส่องดูแลและกำกับภายในที่ดี ในประเทศไทยประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาคือ 1.จิตอาสาที่สนใจชีวิตอื่นน้อยไป 2.ไม่พูดถึงการเติบโตภายใน แต่มุ่งแก้ภายนอกมากกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวได้ บ้านก็จะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

๐ ใช้ 3 ทักษะจัดการความเครียด

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ชีวิตการทำงานคือ 1.เทคโนโลยี Telepressure โดยปัจจุบันใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารงานทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลา 2.ความเร่งด่วน เนื่องจากมีการแข่งขันในบริษัททำให้เกิดความกดดันในการทำงาน 3.การรับรู้ถึงความไม่มั่นคง เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนทำให้กังวลถึงอาจจะตกงานหรือความอยู่รอดของบริษัท 4.สภาพแวดล้อม ที่บ้านไม่ได้เอื้อต่อการทำงานและบทบาทภายในบ้าน เมื่อโควิดทำให้ต้อง Work From Home ซึ่งทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลได้ง่ายและการหมดไฟ (Burnout syndrome) คือความเหนื่อยล้าทางอารมณ์เก็บสะสม อาการที่พบคือเกิดอาการเหนื่อยล้าไม่มีสาเหตุ และเริ่มรู้สึกไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งนี้ 3 ทักษะที่ช่วยจัดการความเครียดคือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ตัดสินคนอื่นทันทีและคำนึงถึงความแตกต่าง


๐ 6 วิธีส่งเสริมจิตสาธารณะในเมือง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “เมือง จิตสำนึกสาธารณะ และภาคพลเมืองกับการรับมือโควิด” เริ่มด้วย “รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กล่าวว่า 3 ส่วนสำคัญ ที่เป็นตัวทดสอบของสถานการณ์โควิด คือ 1.คุณภาพของระบบสาธารณสุข(Quality of healthcare) 2.มาตรฐานของการบริหารรัฐ(Standard of Governance) 3.ความเข้มแข็งของทุนทางสังคม (Social Capital) ซึ่งทุนทางสังคมหรือ Social Capital คือคุณธรรม ความเชื่อมโยงของสังคม มีค่านิยมร่วมกัน ไว้ใจกัน สร้างความปลอดภัย เมืองคือตลาดแรงงาน ขณะที่ปัญหาที่มีผลต่อจิตสาธารณะคือ 1.มีความหนาแน่น พื้นที่สาธารณะมีจำกัด มีแต่พื้นที่ส่วนตัว และคนใช้ชีวิตเงินเดือน (เดินทาง-ทำงาน-นอน) 2.คนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทำให้เกิดคนตกงานมากขึ้นในช่วงโควิด 3.มีความหลากหลายทางฐานะเนื่องจากคนต้องอยู่ใกล้ที่ทำงาน 4.ต่างคนต่างอยู่ บ้านมีรั้วเกิดความเหลื่อมล้ำ 5.มีความเปราะบางสูงเกิดจากภาครัฐเข้าไปไม่ถึง ทำให้เกิดช่องโหว่ ในเมืองไม่มีจิตอาสา

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาช่องโหว่จึงมีการส่งเสริมจิตสาธารณะในเมือง คือ 1.จิตอาสา+Empathy มีโครงการบ้านใกล้ เรือนเคียงโดยการดูแลชุมชนเปราะบางใกล้ ๆ ตัวเรา 2.พัฒนาฐานข้อมูลเนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน 3.ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการประชุมและการมีจิตอาสามาช่วยเหลือ 4.ความร่วมมือของทุกภาคส่วนต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 5.จัดเตรียมพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพใกล้ๆบ้าน ลงพื้นที่ช่วยกันแบ่งปันกัน 6.Walk-the-talk ผู้บริหารทำเป็นตัวอย่าง คุณธรรมภาครัฐต้องเป็นตัวอย่าง คือความมีระเบียบวินัย ความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความมีน้ำใจและความสามัคคี

๐ ออกแบบแก้ปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน

สุรนาถ แป้นประเสริฐ กลุ่มบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะ คือที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์โดยปราศจากกำแพงทางเศรษฐกิจหรือค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกกันว่า Private Own Public Space (POPS) ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ และบริหารจัดการโดยเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกับสาธารณะโดยต้องแชร์ความรู้สึกร่วมและการใช้ประโยชน์ร่วม ฐานข้อมูลที่ดีคือสถานการณ์ปัจจุบันและการเข้าไปพบกับคนที่เจอปัญหาจะตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มคนมากกว่า การนำฐานข้อมูลมาแก้ปัญหาโดยชุมชนกับชุมชน จากข้อมูลชุมชนที่เกิดผลกระทบระลอกแรก เล็งเห็นความยั่งยืนโดยการออกแบบคือดึงภาคส่วนเกี่ยวข้อง ชุมชน และเมืองที่มีปัญหา ทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นที่ให้คนมาเจอกันด้วยการแบ่งปันอาหารหรือเงินทำให้เป็นมีการหมุนเวียนเงินระยะยาว คนตกงานต้องการมีอาชีพ ชวนปลูกผักและการแลกเมล็ดพันธุ์กันในระหว่างบ้านทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเองในระยะยาว การทำถุงยัง Ac (tivity) มอบให้เด็กเพื่อเล่นกับเพื่อนและเล่นกับครอบครัว ทำให้มีวิธีคิดที่เรียนรู้ร่วมและความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่

๐ ประชาชนอาสา อุดช่องโหว่รัฐ

คริส โปตระนันท์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่มเส้นด้าย (Zendai) กล่าวว่า กลุ่มเส้นด้ายคือประชาชนอาสาซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้คนหลากหลายวงการ มีตั้งแต่แพทย์ ทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจ ศิลปิน รวมถึงพี่ชายของ อัพ กุลทรัพย์ นักกีฬา E-Sports ที่ต้องจบชีวิตลง เพราะเข้ารับการรักษาล่าช้าอันเนื่องจากการบริหารของรัฐไม่ดีพอและเป็นการอุดช่องโหว่และรองรับช่องว่างไม่ให้แพร่กระจาย โดยการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุด จัดเตรียมรถเพื่อนำส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่สามารถเดินทางเองได้ไปรักษายังโรงพยาบาล เริ่มจากการทำรถขนส่งใส่ Carryboy คนขับใส่ชุด PPE

โดยมีความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายผ่านการกระจายทางโซเชียลมีเดียและจัดการข้อมูลต่างๆ มีการเทรนนิ่งผ่าน สพฉ. พัฒนาจากการรับส่งมาทำถุงชูใจให้โรงพยาบาลสนาม รวมถึงประสานงานเรื่องหาคิวตรวจ หาคิวเตียง เป็น partnershipกับโรงพยาบาลต่างๆ การมีปัญหาเกิดจากการขาดคนบริหารจัดการระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทางเส้นด้ายสามารถเป็นตัวกลางโดยมีงบจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และนำส่งผู้มีความเสี่ยงสูงไปตรวจ มีการทำจุดตรวจเชิงรุกจับมือโรงพยาบาลปิยะเวทและกรุงเทพมหานครเกิดจากส่งผู้ป่วยไม่พอในแต่ละวัน ทำให้สามารถตรวจได้มากขึ้น 3,000 คน / วัน เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกอย่างที่สามารถช่วยเหลือได้แก่ผู้ป่วย โควิด-19