โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ประกาศเปิดตัวแคมเปญโซเชียลมิเดีย “ข้างในคนนอก (Inside Khonnok)” ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงทัศนคติเลือกปฏิบัติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดย “ข้างในคนนอก” หมายถึงการที่เราเข้าไปมอง และทำความเข้าใจถึงข้างในจิตใจของคนที่ถูกมองว่าเป็นคนนอกของสังคม
แคมเปญนี้เป็นความร่วมมือกับองค์กรสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในไทย เลิฟ แฟรงค์กี (Love Frankie) เพื่อให้สังคมไทยได้ทบทวนทัศนคติและปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ผ่านการนำเสนอด้วยคอนเทนต์ที่น่าสนใจเป็นซีรีส์ ไล่เรียงตั้งแต่สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวจากมุมของคนนอก การเสวนา นิทรรศการภาพถ่าย และข้อความที่เกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ ที่มีต่อแรงงานข้ามชาติในรูปแบบอินโฟกราฟิกบนแพลตฟอร์มโซเชียลมิเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram)
ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศประมาณ 2.5 ล้านคน โดยราวๆ 91% ของจำนวนนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ พม่า เขมรและลาว และแม้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะทำประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าครึ่งของชาวไทยผู้ตอบแบบสำรวจ ILO เมื่อปี 2563 ได้แสดงความคิดเห็นซึ่งระบุได้ว่าแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับสิทธิหรือเข้าถึงสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน และจากจำนวนดังกล่าวถึง 76% เมื่อกล่าวถึงแรงงานชั่วคราวและแรงงานตามฤดูกาล
กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ต้องพบกับการเลือกปฏิบัติผ่านสื่อ อย่างการใช้คำเรียกว่า “ต่างด้าว” หรือ “คนงานต่างด้าว” ในพาดหัวข่าวที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน การนำเสนอภาพลักษณ์ที่ไม่ถูกต้องในข่าว และการให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้บนเฟซบุ๊ก
แคมเปญ “ข้างในคนนอก”สร้างขึ้นเพื่อที่จะลบล้างความเข้าใจผิด แนวคิด อคติที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมของเรา โดยการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18-35 ปี เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ ความสามารถที่จะเข้าใจและรู้สึกร่วมไปกับผู้อื่นโดยการนำคุณค่าที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของไทยมาอย่างยาวนานอย่าง “น้ำใจ” มาใช้ และด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ แคมเปญนี้คาดหวังว่าจะนำไปสู่การคุ้มครองและช่วยให้แรงงานข้ามชาติในไทยได้เข้าถึงสิทธิอันพึงมี
แคมเปญนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยวิดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติ 3 คนในกรุงเทพฯ ซึ่งจะมาแบ่งปันประสบการณ์และความมุ่งหวังที่จะตามหาความฝันในมหานครแห่งนี้ ตามด้วยกิจกรรมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำรวจสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติของแรงงานข้ามชาติในไทย (Observing Migrants Rights and Discrimination in Thailand) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์บนช่องทางหลัก: https://www.facebook.com/USAIDThailandCTIP ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ครอบคลุมตั้งแต่การถูกเหยียดด้วยคำพูด ไปจนถึงการหาประโยชน์จากความไม่รู้ และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติในไทยได้
รวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอินสตาแกรมที่ @InsideKhonnok ซึ่งประเดิมเปิดตัวในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกับการปล่อยวิดีโอหลักของแคมเปญ โดยนิทรรศการออนไลน์นี้จะรวบรวมเอาภาพที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นกระบอกเสียงให้แก่แรงงานข้ามชาติ พร้อมทั้งอินโฟกราฟิกที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อ อคติ หรือความเข้าใจผิดที่มีต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของโครงการตลอดแคมเปญ
ลอร่า พัฟโลวิซ ผู้อำนวยการสำนักการพัฒนา องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “เราเชื่อว่าหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการปรับเปลี่ยนทัศนคติเลือกปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน คือการสร้างรากฐานของความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นในใจ พร้อมเสริมสร้างความคิดให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างตนเองและแรงงานข้ามชาติ เราหวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่สร้างความแบ่งแยก ซึ่งกำลังทบทวีคูณอยู่บนโซเชียลมิเดียในขณะนี้”
เมแกน แมคเบน ผู้อำนวยการโครงการ USAID Thailand CTIP กล่าวเพิ่มเติมว่า แคมเปญนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดการกับแนวคิด ทัศนคติเหมารวมที่เป็นอันตราย สร้างความเพิกเฉย และอาจนำไปสู่การหาประโยชน์และปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยได้ คนรุ่นใหม่จะเป็นตัวแทนในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ เราหวังว่าการเริ่มต้นเปิดบทสนทนาในประเด็นนี้ของแคมเปญ จะช่วยจุดประกายให้ชุมชนและสังคมเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจและความไว้วางใจแรงงานข้ามชาติ
"เราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะได้กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดผ่านบทสนทนาที่สำคัญนี้ ซึ่งเราหวังว่ามันจะนำไปสู่สิทธิแรงงานที่เท่าเทียมให้แก่แรงงานข้ามชาติในไทยได้ในที่สุด”
โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID Thailand Counter Trafficking in Persons Project หรือ USAID Thailand CTIP) ภายใต้การบริหารงานโดย วินร็อค อินเตอร์เนชันแนล (Winrock International) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อขจัดความด้อยโอกาส เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกคนและสนับสนุนการแสวงหาทรัพยากรที่ยั่งยืน