การแถลง” 6 ทิศทางCSR” ของสถาบันไทยพัฒน์ประจำปี 2564 นับว่าได้จุดประกายความคิดที่สำคัญหลายประเด็น น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้นำองค์กรที่ฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถปรับกลยุทธ์องค์กรเพื่อความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม รับมือและพลิกฟื้นธุรกิจจากผลกระทบของโควิค-19 ได้ดีขึ้น
1. สถานการณ์โควิดทำให้ประเด็นสุขภาพ กลายเป็นสาระสำคัญ เพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กร
นโยบายและมาตรการดูแลสุขภาพ เพื่อปกป้องพนักงานและลูกจ้าง ให้”ปลอดโรค-ปลอดภัย”
เป็นประเด็นที่องค์กรชั้นนำเริ่มคำนึงถึง(นอกเหนือจากที่เคยมีสวัสดิการด้านสุขภาพแก่่พนักงาน เช่น การประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาล)
มีตัวอย่างที่ดีของผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีมาตรการดูแลและป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิคตามมาตรฐานสากลด้านสาธารณสุขแล้ว ล่าสุดมีหลายกิจการที่เตรียมการจัดซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดเพื่อฉีดให้กับพนักงาน เช่น เครือ SCG ,บมจ.บางจาก ,AIS ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบมจ. ท่าอากาศยานไทย เป็นต้น
ขณะที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก ถึงกับได้จัดทำเอกสาร ESG Guidance & Metric กำหนดให้ ประเด็นสุขภาพโลก( Global Health) เป็นประเด็นสำคัญด้านESGได้แก่การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม(Environmental) รับผิดชอบต่อสังคม( Social) และมีธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ใช้เป็นข้อมูลฐาน( Baseline) ในการเปิดเผยข้อมูลด้านESG แก่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
2. “วัฒนธรรมสุขภาพ” ถูกจัดให้เป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแนะนำโดยGRI ( Global Reporting initiative ) องค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการจัดทำรายงานมาตรฐานสากล ที่มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 GRI ได้เผยแพร่ “ข้อปฏิบัติทางธุรกิจ ด้านวัฒนธรรมสุขภาพ” ( Culture of Health Business Practice ) แนะนำให้กิจการผนวกประเด็นด้านสุขภาพเข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์โควิค
ข้อแนะนำนี้มี 16 ข้อปฏิบัติใน 4 ด้านหลักได้แก่ 1 ด้านกลยุทธ์ 2 ด้านนโยบายและสวัสดิการ 3 ด้านแรงงานและสถานประกอบการ 4 ด้านชุมชน
ข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้เกื้อหนุนปัจจัยด้านสุขภาพโดยรวม และมีผลดีต่อธุรกิจ จะช่วยคลายกังวลในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้อง
3. สร้างองค์กรพร้อมผัน (ฺฺBuilding Resilient Enterprise) คือพร้อมที่จะผันตัว เปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่นในการฟื้นตัว ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการปรับตัวในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 ที่แม้จะคลี่คลายลง และเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันในหลายประเทศ แต่ก็มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค จนยังไม่แน่ชัดว่าการระบาดจะสิ้นสุดเมื่อใด
แต่เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ จึงต้องมีกลยุทธ์ ลด-ปรับ-เปลี่ยน
*ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
*ปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้า หรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
*เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ให้มีความยืดหยุ่นและมุ่งสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
4. กิจการจำเป็นต้องวางแผนสรรหาวัตถุดิบใกล้สถานที่ตั้ง เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ ที่ส่งผลกระทบกรอบความยั่งยืนในสายอุปทาน เป็นการสำรองในกรณีเกิดภาวะชะงักงันของสายอุปทาน
5. ผู้ประกอบการทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิคจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดในช่องทางใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการเว้นระยะห่างทางสังคม เนื่องจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปใช้ช่องทางออนไลน์
6. การรับมือคู่แข่งรายใหม่ ที่เป็นผลจาก การแข่งขันข้ามสนามธุรกิจ
7. การปรับองค์กรให้มีความเป็นดิจิทัลธรรมชาติ
8. กิจการที่มีการพัฒนามุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มข้น จะผันองค์กรดำเนินธุรกิจที่”เกื้อกูลโลก”( Regenerative Business) โดยทยอยประกาศเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ ( Carbon Negative) หรือแนวทางกิจการที่ส่งเสริมให้มีสภาพภูมิอากาศเป็นบวก(Climate Positive)
ข้อคิด…
การเกิดกระแสทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง(Stakeholder Capitalism) เป็นแนวโน้มที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ชี้ให้เห็นในการแถลงเมื่อปี 2563
นั่นคือทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่องค์กรในยุคก่อนจะมุ่งทำธุรกิจเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทุนหรือผู้ถือหุ้นเป็นหลัก กลยุทธ์ธุรกิจจึงทำเพื่อ ยอดขายสูงสุด ส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด กำไรสูงสุด และราคาหุ้นสูงสุด โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญความ ถูกต้องและเป็นธรรม
แต่ในยุคดิจิตอลปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีข่าวสารยุคใหม่ ช่วยให้สังคมได้ “รับรู้-เรียนรู้-เปรียบเทียบ” และคาดหวังให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส
ดังนั้นจึงมิใช่เพียงทำเพื่อเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่การคำนึงถึง”ผู้มีส่วนได้เสีย”ก็รวมถึงผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า( supplier) ชุมชน และสังคม
การเป็นองค์กรที่”เก่งและดี”ย่อมเป็นที่พึงปรารถนา ของลูกค้าและนักลงทุน ที่อยากจะ”คบ-ค้า”ด้วย เพราะมีความเชื่อถือและเชื่อใจ
suwatmgr@gmail.com