ลูกเสือดาวเพศผู้ อายุประมาณ 1 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม หรือ บก.ปทส. ได้มาจากการจับกุมชาวอินเดียที่ลักลอบขาย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อมากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับมอบลูกเสือดาวตัวดังกล่าวเพื่อนำมาดูแล
สัตวแพทย์ได้ปล่อยในสนามหญ้ากว้างๆ เพื่อลดอาการเครียด ก่อนนำเข้าตู้อบเพื่อเพิ่มออกซิเจน เนื่องจากอยู่ในกล่องแคบๆ ระหว่างผู้ต้องหานำส่งเพื่อขายให้กับสายลับ จากนั้น ทีมสัตวแพทย์จะตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาโรคเกี่ยวกับสัตว์ป่า ก่อนส่งไปอนุบาลต่อยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในสังกัดของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อไป
บทความบางตอนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเกี่ยวกับ “เสือดาว : ผู้ควบคุมโซ่อาหารแห่งพงไพร” ระบุว่า เสือดาว (Leopard) และเสือดำ คือชนิดเดียวกัน แต่หลายคนแยกทั้งสองออกจากกัน นั่นเพราะตัดสินจากเพียงสีและลวดลายภายนอก แต่หากเสือดำเดินไปต้องแสงแดด เราจะเห็นลวดลายที่เหมือนกับเสือดาวไม่ผิดเพี้ยน
ลวดลายที่ว่านั้น เราเรียกกันว่า “ขยุ้มตีนหมา” คือ เป็นจุดหลายๆ จุด รวมกันเป็นวงกลม ตรงจุดนี้ “เสือจากัวร์” ก็มีลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่จุดของจากัวร์จะมีจุดเล็กๆ สีดำอยู่ตรงกลางวงกลม แต่ของเสือดาว-เสือดำไม่มี
ในประเทศไทย พบการกระจายตัวของเสือดาว-เสือดำอยู่ในพื้นที่ 7 กลุ่มป่า และมีเพียง “กลุ่มป่าตะวันตก” (ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง) ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด หรืออาจพูดได้ว่าเยอะที่สุดในภูมิภาคอินโดจีนเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังถือเป็น “บ้านแห่งความหวัง” ในการฟื้นฟูประชากร “เสือดาว-เสือดำอินโดจีน” อีกด้วย
ด้านความเป็นอยู่ของเสือดาว-เสือดำในระบบนิเวศเขา คือ “ผู้ควบคุมโซ่อาหาร” คอยควบคุมจำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ไม่ให้มีจำนวนมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากในป่ามีสัตว์กินพืชมากเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อระบบป่าเป็นแน่แท้
ความยิ่งใหญ่ของเสือดาว-เสือดำ จึงอยู่ที่ “คุณค่าต่อระบบนิเวศ” ไม่ใช่ “มูลค่าต่อระบบตลาดมืด” หนังของพวกเขาอาจไปสร้างอำนาจบารมีให้กับใครบางเหล่า ซึ่งคือตรรกะที่แสนจะบิดเบี้ยว แท้จริงแล้วหนังนั้นจะมีอำนาจบารมีมากที่สุด เมื่ออยู่บนตัวเสือดาว-เสือดำเอง
เสือดาว-เสือดำ มีสถานภาพปัจจุบันเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทไม่มั่นคง (VU)
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าย้ำว่า สัตว์แต่ละชนิดล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกมันต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลในระบบ ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ดังนั้น ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม สัตว์ป่าย่อมมีคุณค่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในผืนป่า มิใช่ในกรงเลี้ยง หรือแขวนประดับไว้ตามบ้านเรือนของใคร
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการต่อต้านและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผู้พบเห็นการกระความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่าสามารถแจ้งสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา - เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช