เตือนอย่าชินชา!! เสวนา “PM2.5 มัจจุราชเงียบ” ย้ำภัยร้ายคุกคามชีวิตยิ่งกว่าสึนามิ ผลวิจัยระบุยานพาหนะก่อปัญหามากที่สุด ชี้ที่ผ่านมาประเทศไทยแก้เพียงปลายเหตุ เรียกร้องภาครัฐต้องจริงจังเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และกำหนดทิศทางให้ชัดเจน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “PM 2.5 มัจจุราชเงียบ” เมื่อเร็วๆ นี้ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า ประชากรโลกกว่า 7 ล้านคนต่อปีเสียชีวิตด้วยมลพิษทางอากาศ ซึ่งมากกว่าภัยพิบัติอื่นๆ แม้กระทั่งสึนามิ แต่ไม่มีคนเสียชีวิตด้วย “โรค PM2.5” เนื่องด้วย PM2.5 ไปเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดในสมอง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน ตับ ไต อัลไซเมอร์ ฯลฯ แต่ PM2.5 เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคนั้นๆ ในรูปแบบ “มัจจุราชเงียบ” ที่คอยบั่นทอนเราไปเรื่อยๆ นั่นเอง แตกต่างจากโรคโควิด-19 ที่มีคนเสียชีวิตโดยตรง สร้างความน่ากลัวอย่าเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลความสัมพันธ์ของผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลกับ PM2.5 พบว่า ในเรื่องเพศมีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อมลพิษทางอากาศได้ไวกว่าผู้ชาย เรื่องอายุ หากแบ่งช่วงอายุตามหลัก WHO หรือ องค์การอนามัยโลก จะพบว่า กลุ่มเด็กเล็กจะอ่อนไหวมากที่สุด ต่างจากผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันแล้วนั่นเอง ส่วนสิ่งที่ส่งผลต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากที่สุดคือก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ สอดคล้องกับ การวิจัยในช่วงปี 2017-2018 พบว่า ควันจากยานพาหนะยังคงเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
ทางด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น และเราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุเลย แต่เป็นที่ตัวเราเองและการซื้อเวลาเท่านั้นที่ทำให้ฝุ่นมันดีขึ้น เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราจึงต้องเสียเงินซื้ออากาศบริสุทธิ์หายใจ เช่น การหาซื้อหน้ากากอนามัย ซื้อเครื่องกรองฝุ่นไว้ที่บ้าน ทุกอย่างล้วนเป็นการเสียเงินของเราทั้งนั้น และมีหลายคนโดยหลอกจากคนที่เอาวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส มีการหลอกขายสินค้าแปลกประหลาด เช่น สร้อยประจุไฟฟ้าลบที่ไม่สามารถช่วยได้จริง ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การซื้อเครื่องหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับฝุ่น การรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ การฉีดน้ำไล่ฝุ่นหรือความเชื่อผิดๆ ว่าฝนตกแล้วจะทำให้ฝุ่น PM 2.5 หายไป ซึ่งไม่จริง เพราะการจะทำให้ฝุ่นหายไปหรือลดลงอย่างน้อยต้องฉีดน้ำ 24 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน หรือหากฝนตกจะต้องตกเป็นเวลานานและหนักมากจึงจะช่วยสลายฝุ่นได้
ดังนั้น เราจึงต้องมองหาการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและหน่วยงานสำคัญที่ควรริเริ่มและเป็นตัวแปรสำคัญคือ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น มลภาวะจากพาหนะยานยนต์ต่างๆ ซึ่งสามารถเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าได้ เริ่มจากภาครัฐก่อนโดยการเปลี่ยนรถสาธารณะให้เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งสามารถทำได้ แต่ยังไม่ได้ทำ ถ้าภาครัฐทำเป็นแบบอย่างเชื่อว่าหลายคนจะตามมา ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน เช่น ปั้มปตท.พร้อมจะเปลี่ยนปั๊มน้ำมันให้กลายเป็นปั๊มชาร์จไฟฟ้า ได้เพียงแค่รัฐประกาศออกมาอย่างจริงจังว่า รถไฟฟ้า (EV) คือทางออก เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมตัวไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาคประชาชน เชื่อว่ามีหลายคนพร้อมจะเปลี่ยน แต่ทิศทางต้องชัดเจน
เนื่องจากอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นในทุกจังหวัดมาจากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ สังเกตได้ว่าปริมาณรถกับปริมาณคนและถนนขัดแย้งกัน รถมีปริมาณมากแต่ถนนมีเล็กนิดเดียว และรถยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวันส่งผลไปให้เกิดเรื่องรถติด การสร้างทางด่วน การขยายเมืองและอื่นๆ อีกมากมาย เห็นได้ว่าสิ่งนี้กระทบกับทุกภาคส่วน ถ้าเราเปลี่ยนอะไรหลายอย่างจะเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน และอยากฝากไว้ว่า ขอให้ทุกคนอย่าไปชินกับมัน แต่ต้องช่วยกันหาทางแก้
ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อมูลหลายๆ ปีที่เก็บมาและทำการวิเคราะห์พบว่า การเกิดฝุ่นหลักๆ มี 6 รูปแบบ ได้แก่ 1. ฝุ่นหลังเที่ยงคืน มักเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากมีความชื้นส่วนเกินที่ทำให้เกิดฝุ่นเพราะอุณหภูมิเริ่มต่ำ ทั้งที่ยังมีความชื้นอยู่ ตอนกลางคืนจึงเป็นช่วงที่มีฝุ่นมากและในตอนเช้าเมื่ออุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นฝุ่นก็จะเริ่มลดลง
2. แบบผกผัน หรือ Inversion เกิดเมื่ออุณหภูมิพื้นดินมีความเย็นกว่าบรรยากาศด้านบน เกิดในกรุงเทพฯ
ถี่ขึ้นทั้งที่ไม่ควรเกิดในตอนกลางวัน เมื่อก่อนเราจะพบแค่ที่เชียงใหม่
3. การเคลื่อนที่ระยะไกล คือฝุ่นที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศทางไกลที่มีลมพัดมาและเข้ามาสู่กรุงเทพฯ
4. หมอกควันจากโฟโตเคมิเคิล ก๊าซโอโซนสูงในเวลากลางวัน แดดจัดๆ เป็นฝุ่นทุติยภูมิ
5. ผสมผสาน อาจมีแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 หรือแบบที่ 2 กับที่ 3 คือมีหลายๆ อย่างผสมกัน
6. แบบไม่มีแพทเทิร์น อาจจะสูงต่ำๆ หรืออาจจะมาจาก local ของเราเอง
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ม.เกษตรศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้จากเครื่องเครื่องมือวัดค่าฝุ่นในชั้นบรรยากาศที่ความสูงชั้นต่างๆ เรียกว่า KU Tower ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ 3 ระดับความสูง โดยสูงสุดที่ 117 เมตร โดยมีหุ่นยนต์ที่สามารถปีนขึ้นไปเก็บข้อมูลทุกวัน และยังมีเครื่องมือพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า ทั้งสองเครื่องมือนี้ทำงานร่วมกันในเรื่องของการวัดและการเตือนภัยล่วงหน้าจากการพยากรณ์
ทั้งนี้ ข้อสรุปจากการเสวนาแนะแนวทางแก้ปัญหาหลักๆ คือภาครัฐต้องเข้ามาเป็นตัวหลักในการเปลี่ยนแปลง เริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเริ่มใช้รถพลังงานไฟฟ้า การเลิกเผาอ้อย การเข้มงวดหรือดูแลโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเรื่องการร่างกฎหมายสะอาด ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีนานแล้ว ประเทศไทยควรจะมีอย่างจริงจัง ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนมุมมองจับทิศทางและประกาศนโยบายชัดเจน ให้ภาคเศรษฐกิจและภาคสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญใกล้เคียงกัน