ศูนย์วิจัย "เทเลนอร์" ย้ำทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันเพื่อทำให้ประชากรโลกเข้าถึงดิจิทัลได้ทุกคน พบโควิด-19 ดันให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโมบายเน็ตเวิร์กโดยเฉพาะ 5G กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหารอบตัวผู้คนทุกชนชั้น ระบุการระบาดใหญ่กระตุ้นให้ทุกประเทศปรับใช้เทคโนโลยีเข้ากับการทำงานและไลฟ์สไตล์แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนใน 5 ด้าน มีแนวโน้มว่าทั้ง 5 เทรนด์นี้จะยิงยาวคลุมปี 64 และอีกหลายปีถัดไป
5 แนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2564 ที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ประกาศออกมาล้วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหลักรอบตัวชาวโลกดิจิทัล เช่น ปัญหาสุขภาพจิตจากความเหงา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงาน ความปลอดภัยทางดิจิทัล และปัญหาโลกร้อน ทั้งหมดนี้มีวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่ง จนเกิดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้คนไม่มีอินเทอร์เน็ตยิ่งเสียเปรียบกว่าเดิม
บียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า 5 เทรนด์เทคโนโลยีนี้จะทำให้บทบาทของโมบายโอเปอเรเตอร์มีความสำคัญมากขึ้นในปี 64 ชาวโลกจะคาดหวังยิ่งขึ้นกับเครือข่ายที่ต้องทำงานได้ดีและรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งเครือข่ายนั้นจะต้องเก่งพอที่จะรับมือกับปริมาณดาต้ามหาศาลที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดให้ได้
***โควิด-19 เร่งทุกสิ่ง
จุดเริ่มต้นของการประเมิน 5 แนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2564 ของศูนย์วิจัยเทเลนอร์นั้นอยู่ที่โควิด-19 คำถามคือการระบาดใหญ่จะส่งผลกระทบถึงชาวโลกในด้านใดบ้างตลอดปีนี้ นักวิจัยของเทเลนอร์จึงสรุปออกมาเป็น 5 เทรนด์ซึ่งเน้นที่ผู้บริโภคคนทั่วไปโดยที่ 5 เทรนด์นี้ไม่ได้กล่าวถึง 5G โดยตรงเพราะว่า 5G จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่แฝงอยู่ในทุกเทรนด์อยู่แล้ว
สิ่งแรกที่เทเลนอร์มั่นใจว่าจะมาแรงในปี 64 คือเทคโนโลยีคลายความเหงา บียอนอธิบายว่าปัญหาด้านจิตใจนั้นเป็นปัญหารุมเร้าชาวโลกมาหลายปี แม้แต่ในประเทศไทยก็มีการสำรวจในช่วง 2 ปีที่แล้วจนพบว่า 40% ของคนไทยจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ทุกข์ทรมานจากความเหงา
ปัญหาเรื่องความเหงาจึงมีแนวโน้มเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นอีกในช่วงที่ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาด ที่ผ่านมา โลกมีหุ่นยนต์คลายเหงาลักษณะนี้มากมายทั้งหุ่นยนต์พาโล (Palo) หุ่นยนต์ที่อ่านสีหน้าผู้ใช้ได้ และมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผู้ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน หรือหุ่นยนต์โซเฟีย (Sofia) สัญชาติฮ่องกงที่พร้อมจะผลิตสำหรับวางตลาดในวงกว้างแล้ว ทั้งหมดนี้มีมาก่อนยุคโควิด-19 แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยม เชื่อว่าโควิด-19 อาจจะทำให้คนเหงามากขึ้น จนส่งให้หุ่นยนต์เหล่านี้ได้รับความสนใจมากขึ้นในปี 64
สำหรับนอร์เวย์ บียอนบอกว่า การสำรวจพบจำนวนคนเหงามากขึ้น 10% ส่วนใหญ่เป็นเพราะการกักตัวอยู่บ้านตามมาตรการล็อกดาวน์ เชื่อว่าปัญหานี้จะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น VR/AR ซึ่งจะมีศักยภาพมากขึ้นหากบวกกับ 5G รวมถึงแชทบอทที่จะถูกพัฒนาให้เข้าใจผู้ใช้ได้ดีขึ้น ต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่สรุปแล้วว่า การคุยกับแชทบอทช่วยให้ผู้ใช้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้จริง
เทรนด์ที่ 2 คือเทคโนโลยีแก้ปัญหาโลกร้อน แม้โควิด-19 จะมีผลดีกับสิ่งแวดล้อมเพราะทำให้จำนวนการโดยสารเครื่องบินลดลงชัดเจน มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสื่อสารและนำเสนองานผ่านออนไลน์ แต่บียอนย้ำว่าเมื่อโลกต่อสู้กับโควิด-19 จบแล้ว ปัญหาต่อไปที่จะต้องสู้กันต่อ ก็คือปัญหาโลกร้อน
บียอนเชื่อว่าปีนี้จะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศจะหันไปใส่ใจกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เช่น ยุโรปที่จะหันไปใช้เทคโนโลยีกรีนเทคในปีนี้ เชื่อว่าจะได้เห็น AI มีบทบาทในระบบลดมลพิษโลก หรือการใช้ AI ในฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และการควบคุมไฟฟ้าด้วย 5G รวมถึงเทคโนโลยีโดรนที่จะติดเซ็นเซอร์วัดสุขภาพต้นไม้ หรือระบบติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของอากาศ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะเข้าสู่การเกษตรเต็มรูปแบบ
ปี 64 ยังเป็นปีของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อจดจำรหัสผ่าน หรือ password สำหรับเข้าสู่บัญชีบริการดิจิทัลที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้งานตลอดเวลา กลายเป็นเทรนด์ที่ 3 ที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ประเมินไว้
บียอนอธิบายว่า การใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นในปี 64 มีผลทำให้ผู้คนต้องมีบัญชีดิจิทัลมากมายตามไปด้วย จนอาจต้องใช้ระบบ smart password ที่จะเพิ่มความปลอดภัยได้มากขึ้น ทำให้ password ไม่ถูกคาดเดาได้ง่าย และจะทำให้ไม่ถูกแฮกในที่สุด
เทคโนโลยีที่ทำให้รหัสผ่านเหล่านี้ปลอดภัยมากขึ้นถูกมองว่าจะมีความสำคัญมากในมุมขององค์กรธุรกิจด้วย โดยปัจจุบัน บางบริษัทในเอเชียเริ่มให้บริการซูเปอร์แอป (super app) ที่ช่วยรวมหลายแอปให้ผู้ใช้สามารถใช้งานทุกแอปได้ผ่านยูเซอร์เนมและรหัสผ่านเดียวกัน
ประเด็นนี้บียอนยอมรับว่าทุกเทคโนโลยีมีความเสี่ยง แม้แต่ระบบไบโอเมตริกซ์ที่ถือว่าปลอดภัยกว่าสิ่งที่มีใช้งานอยู่ในขณะนี้ เช่นลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา ก็ยังมีข้อเสียเรื่องความเสี่ยงถูกแฮกข้อมูลใบหน้า และข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ดังนั้น แม้ทุกเทคโนโลยีจะมีปัญหา แต่ถ้ามีการใช้งานทั้งคู่หรือผสมผสานกันก็จะปลอดภัยมากขึ้น
เทรนด์ที่ 4 เกี่ยวกับโลกของการทำงาน เทเลนอร์มองว่าเทคโนโลยีจะเป็นหนทางเข้าสู่สังคมของชาวโลก (Society-as-a-service) ทั้งสังคมการทำงาน สังคมเมาท์มอย และสังคมค้าขาย
เทเลนอร์อธิบายว่า ช่วงของการระบาด มนุษย์งานที่ทำงานจากบ้านต่างเรียนรู้ที่จะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงเครื่องมือในบริษัท ซึ่งต่อไปในอนาคต แม้โควิด-19 จะจบลง แต่การทำงานลักษณะนี้ก็ยังจะมีต่อไป พนักงานของหลายองค์กรอาจยังทำงานจากระยะไกลโดยที่สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าออฟฟิศกี่โมง เรียกว่าจะจัดการชีวิตได้ดีและยืดหยุ่นมากขึ้น
หนึ่งในสาเหตุที่เทเลนอร์มั่นใจว่าการทำงานจากระยะไกลจะยังมีอยู่ต่อไป คือพนักงานที่มีความรู้ความสามารถจะได้รับข้อเสนอให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ขณะที่บางประเทศจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยดึงชาวต่างชาติให้เดินทางมาพักผ่อนและทำงานไปด้วย เช่น ประเทศกรีซที่มีการประกาศลดภาษี 50% เพื่อยั่วใจพนักงานทั่วโลก
เทรนด์ที่ 5 คือการศึกษา เทเลนอร์พบว่าโควิด-19 มีผลให้ตัวเลขเยาวชนโลกที่ไม่ได้รับการศึกษานั้นเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับก่อนหน้านี้ที่ลดลงชัดเจนมาหลายปี
สถิติเยาวชนโลกที่ไม่ได้เรียนเคยลดลงจาก 26% จนเหลือ 17% แต่ว่าวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 ทำให้ตัวเลขเด็กที่ไม่ได้เรียนกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกรอบ มีการประกาศแล้วว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้โรงเรียนต้องปิดทำการนั้น มีผลกระทบกับเด็กทั่วโลก 1,600 ล้านคน
บียอนกล่าวถึงกรณี “น้องวิว” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เด็กหญิง ม.6 ที่ต้องนั่งตากแดดกางร่มเรียนออนไลน์กลางหุบเขาเพราะที่บ้านไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยบอกว่าถ้าหากเยาวชนไม่อาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เช่นนี้ต่อไปอีกปี เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อไปอีกหลายเจนเนอเรชันทีเดียว
สถานการณ์นี้เทเลนอร์มองว่า ภาวะที่เด็กออกจากโรงเรียนไปอาจจะยากในการเรียกให้กลับมา ปัญหาเยาวชนที่ไม่ได้รับการศึกษานี้จึงถือว่าใหญ่เกินกว่าจะแก้เพียงลำพังโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ทุกอย่างในโลกกำลังจะเป็นดิจิทัล ใครที่ถูกตัดขาดก็จะเสียเปรียบมาก
“เรื่องดีคือโควิด-19 ทำให้เห็นชัดว่าปัญหานี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน” บียอนระบุ “โมบายโอเปอเรเตอร์จะต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผู้ใช้รับมือกับภัยธรรมชาติและหายนะได้ดีขึ้น ความท้าทายก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพของเน็ตเวิร์กที่จะต้องจัดการดาต้า ให้ผู้คนทำงานระยะไกลได้ต่อเนื่อง รวมถึงต้องหาทางรับมือกับสภาพอากาศที่ผันผวนสุดขั้วได้ด้วย”
ผู้บริหารเทเลนอร์มองว่าดีแทค (DTAC) โอเปอเรเตอร์ในไทยมีการร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้มากแล้ว ทำให้สามารถรับมือช่วงโควิด-19 ระบาดหนักจนเกิดการเชื่อมต่อดาต้าที่ปลอดภัย เกิดเป็นการพัฒนาและให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น
***โอเปอเรเตอร์สำคัญกว่าเดิม
เทรนด์เหล่านี้ทำให้บทบาทของโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายเปลี่ยนไป บียอนย้ำว่าผู้คนจะคาดหวังมากขึ้นว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะต้องรวดเร็วตลอดเวลา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเป็นเหมือนระบบสาธารณูปโภคเช่น น้ำประปา หรือไฟฟ้าซึ่งต้องทำให้มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ
บียอนทิ้งท้ายว่า “กรีนเทค” หรือเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเทรนด์ที่จะเกิดผลกระทบมากที่สุดหากมีการละเลย เนื่องจากการรับมือกับโควิด-19 ยังมีจุดสิ้นสุด แต่วิกฤตโลกร้อนจะยังอยู่กับโลกมนุษย์ตลอดเวลา ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมใจกันรับมือ และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้โลกใบนี้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
ที่สุดแล้ว ปี 64 จึงเป็นปีที่ “ไม่มีอินเทอร์เน็ตไม่ได้” โดยที่กรีนเทคเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้จริงๆ