xs
xsm
sm
md
lg

คนช่วยนกเงือกขยายพันธุ์! ซ่อมโพรง-ทำโพรงรังเทียมก่อนวางไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงนี้ไปจนถึงราวมีนาคม -เมษายนของทุกปี คือห้วงเวลาทองของนกเงือกก็ว่าได้ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ บรรดานกเงือกหนุ่มสาว ก็จะเริ่มจับคู่ พอตกลงปลงใจที่จะร่วมทุกข์สุข ธรรมชาติของเขาซึ่งเป็นคู่ผัวเมียเดียวกันตลอดชีวิต จะพากันไปเสาะหาโพรงรังที่เหมาะสมด้วย เพื่อเตรียมพร้อมให้ตัวเมียวางไข่และฟักไข่

สถานการณ์ในปัจจุบัน กลุ่มนักวิจัยนกเงือกทราบดีว่าปัญหาการหาโพรงรังตามธรรมชาติ ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกในผืนป่าต่างๆ

ทำให้คนอนุรักษ์นกเงือก อย่างพี่หมีน้อย-วิชัย กลิ่นไกล คนทำงานในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ติดตั้งโพรงเทียม ในพื้นที่ชายป่าของทับลาน
ร่วมกับกลุ่มฅนรักนกเงือกทับลาน (ชมคลิป)

เขาบอกว่า “การอนุรักษ์นกเงือกด้วยการซ่อมแซมโพรงรังเดิม หรือทำโพรงรังเทียม ไม่ใช่การแทรกแซงธรรมชาติ แต่เป็นการช่วยในการแพร่พันธุ์ให้นกเงือก โดยเฉพาะสภาพป่าที่เติบโตใหม่ยังไม่มีต้นไม้ใหญ่มากพอต่อการสร้างโพรงรัง การมีโพรงรังเทียมย่อมเป็นทางเลือกที่ดีให้เขา”

ส่วนการซ่อมแซมโพรงรังเดิม เราเข้าไปปรับโพรงที่อาจจะกว้างไป หรือแคบเกิน ลึกเกินให้เหมาะสม “นกเงือกมีพฤติกรรมโดดเด่นเฉพาะตัวอย่างมากในเรื่องการสร้างโพรงรัง เมื่อนกเงือกหาโพรงรังที่เหมาะสมได้แล้ว นกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงให้แคบลง โดยใช้มูล เศษไม้ และเศษดิน ค่อยๆ ปิดจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพื่อให้ตัวผู้ส่งอาหารให้เท่านั้น”

คนทำโพรงรังอย่างผมช่วยเสริมวงจรประชากรนกเงือกขยายพันธุ์ และยังเป็นการช่วยขยายพันธุ์ไม้ในผืนป่าในทางอ้อม เพราะนกเงือกกินผลไม้ป่าหลายชนิดเป็นอาหารหลัก รวมถึงพฤติกรรมนกเงือกที่กลับมาใช้รังเดิมไปตลอด

หากว่านกเงือกตัวผู้มีเหตุให้ต้องตายจากในขณะที่ตัวเมียกำลังฟักไข่อยู่ในรัง ก็มักตายตกตามกันไป เนื่องจากตัวเมียจะไม่ได้รับอาหารจากตัวผู้ที่คอยนำอาหารไปป้อนจนฟักเป็นลูกนก ตัวผู้เป็นผู้คอยส่งเสบียงแก่ครอบครัวจนลูกเติบโต ดังนั้น การล่านกเงือกตัวผู้ในช่วงนี้ จึงเหมือนการฆาตกรรมนกเงือกให้ตายแบบยกครัว



เครดิตคลิป กรีนฟาร์ม story


กำลังโหลดความคิดเห็น