ทุกวันนี้พฤติกรรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั่วไป ส่วนมากเจาะจงซื้อกันที่แบรนด์สินค้า จากนั้น สำหรับพ่อบ้านแม่เรือนที่ครุ่นคิดมาก ต้องการใช้เงินในกระเป๋าตนให้คุ้มค่าที่สุด ก็มักไปส่องรายเอียดบนแพ็กเกจจิ้งสินค้า
แต่ขอโทษนะ! เธอไม่ได้สังเกตหรอกนะว่ามีฉลากแสดงหรือไม่ ที่ว่าฉลากเขียว ฉลากลดคาร์บอน หรือฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ เธอกำลังอ่านป้ายราคา และปริมาณ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันที่เป็นแบรนด์อื่นต่างหากเล่า!
อยากให้ผู้บริโภคทั่วไปทำความรู้จักกับฉลากตัวใหม่ชื่อว่า “ฉลากลดคาร์บอน” ที่แสดงบนแพ็กเกจจิ้งของสินค้า เป็นตัวอักษร CO2 เขาไม่ได้ติดไว้เท่ๆ หรอกนะ มันคือ “ฉลากลดคาร์บอน” ซึ่งได้รับการผลักดันจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้เครือข่ายพันธมิตรจากภาคธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่มีคาร์บอนต่ำ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยและติดฉลากคาร์บอนเพื่อแสดงความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
ตัวฉลากบอกผู้บริโภคถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิต เพื่อให้เกิดการเลือกใช้ ทำให้สินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมล้มตายไปเอง (แต่ที่พวกเขายังไม่ตาย คงขายได้ดีก็เพราะคนตัดสินใจเลือกซื้อโดยส่องดูแต่ แบรนด์ ปริมาณ และราคาเท่านั้น)
ทีนี้อยากรู้ไหมว่าหตุผลหลักในการทำฉลากลดคาร์บอน มาจากการเกิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งองค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจก ที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ปิโตรเลียม การเกษตร การดำรงชีวิตประจำวัน ฯลฯ ต่างปลดปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้สมดุลของชั้นบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป และเกิดเป็นภาวะโลกร้อน (คนทั่วไปอาจไม่เห็นภาพโลกร้อนควรคำนึงทำไม ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ที่เรากำลังเผชิญกับฤดูกาลที่ผิดเพี้ยน น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุที่สร้างความเสียหายมากขึ้นทุกวันนี้นั่นไง)
ดังนั้นหนทางการลดการเกิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทุกคนต้องช่วยกันลงมือทำ โดยข้อมูลเบื้องต้นคนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประมาณ 4.8 ตัน/ปี
การดำเนินงานหลัก ทำฉลากลดคาร์บอน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย ในการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ที่อนาคตจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความตระหนักแก่คนบริโภคทั่วไทย ให้หันมาใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยนั่นเอง
ทีนี้ ฉลากลดคาร์บอน ยังแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ในขั้นตอนการผลิตสินค้านั้นๆ ผู้ประกอบการได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นปริมาณเท่าใด หลังจากผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแล้ว ซึ่งขณะนี้ทาง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้กำหนดฉลากคาร์บอน ให้มีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5 ที่เราท่านอาจคุ้นเคย และสังเกตก่อนตัดสินซื้อ
ฉลากลดคาร์บอน เขาแบ่งไว้เป็น 5 ระดับ เริ่มตั้งแต่หมายเลขที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุดไปจนถึงมากที่สุด คือ เบอร์ 1 (สีแดง) เบอร์ 2 (สีส้ม) เบอร์ 3 (สีเหลือง) เบอร์ 4 (สีน้ำเงิน) และเบอร์ 5 (สีเขียว) พร้อมระบุตัวเลขแสดงสัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการประเมินวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment, LCA)
ผลการประเมินจะถูกเทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) เช่น ฉลากลดคาร์บอนเบอร์ 1 จะมีพื้นฉลากสีแดง เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด ที่ 10% ฉลากเบอร์ 2 (สีส้ม) ลดปล่อยก๊าซฯได้ 20% ฉลากเบอร์ 3 (สีเหลือง) ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 30% ฉลากเบอร์ 4 (สีน้ำเงิน) ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 40% และฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 (สีเขียว) เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือ 50% หรือสินค้านี้อยู่ในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยที่สุดและมีความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
ฉลากลดคาร์บอนจะไม่เหมือนฉลากเขียว เพราะฉลากเขียวจะครอบคลุมทุกมิติของสินค้า ทั้งด้านวัตถุดิบ และมลพิษที่เกิดขึ้น แต่ฉลากลดคาร์บอนจะดูเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยเฉพาะ
สรุปว่า ผู้บริโภคได้อะไร?
-ทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ ปรับปรุงกระบวนการผลิตและพลังงานที่ใช้ เพื่อผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย
-มีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ผู้ผลิตได้อะไร?
-ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเกิดของเสีย
-แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท
ข้อมูลอ้างอิง http://www.csrcom.com/articles/view/54 , http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/carbonlabelhttp://www.tei.or.th/carbonreductionlabel/namelist.html
เครดิตคลิป Pinyada Charoensin