xs
xsm
sm
md
lg

โกลบอลคอมแพ็กฯ ผนึกกรมคุ้มครองสิทธิฯ-UNDPจัดเวทีระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ผนึกกำลังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ UNDPจัดเวทีระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4ภายใต้ประเด็น “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19” พร้อมจัดตั้งศูนย์อบรมฯ ติดอาวุธภาคธุรกิจไทยให้ปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง


สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Programme - UNDP) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 (National Dialogue on Business and Human Rights) ในหัวข้อ“ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในโลกหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เพื่อหารือถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด 19 รวมทั้งการหาทางป้องกันและเสริมความเข้มแข็งแก่ภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า “โควิด-19 จัดเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวผ่านระยะการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กได้ อีกทั้งภาคธุรกิจของประเทศไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาค สามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆ เพื่อยืนยันบทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำเรื่องนี้ในระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศอีกด้วย”

นายนพปฎล เดชอุดม เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบด้านแรงงานทั้งในไทยและระดับโลก เพื่อเป็นตัวอย่างของความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งประเด็นที่อาจถูกมองข้าม อาทิ สุขภาพจิตของแรงงานที่ยังอยู่ในองค์กรและแรงงานที่ต้องพ้นสภาพ ขณะเดียวกัน ยังได้ยกตัวอย่างของการจัดตั้ง Business and Human Rights Academy ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของสมาคมฯ ในการส่งเสริมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้เป็น “เรื่องง่าย” ที่ธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถ “เข้าถึง” “เข้าใจ” และ “นำไปปฏิบัติจริง” เกิดผลลัพธ์ที่สามารถวัดผลได้ อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายให้ Business and Human Rights Academy นี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกด้วย

โลวิต้า รามกุทธี โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “UNDP ได้นำเสนอกรอบ
การดำเนินงานสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยภาครัฐมีหน้าที่ปกป้องประชาชนจากผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้ที่เปราะบางและด้อยโอกาส อาทิ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือทางสังคมน้อย ในขณะที่ ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน แม้อยู่ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข เพราะการตรวจสอบรอบด้านในเชิงสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ในการระบุความเสี่ยง เพื่อทำให้สามารถหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบต่อแรงงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจ


UNDP ได้สร้างเครื่องมือประเมินตัวเองที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อช่วยองค์กรธุรกิจในการพิจารณาและจัดการผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากโควิด-19 และเพื่อขับเคลื่อนแผนการฟื้นฟูนี้ ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างอนาคตที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมคุณภาพของสังคม

การคุ้มครองแรงงานตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ สร้างความปกติใหม่ หรือ New normal บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้ ภายในงานยังประกอบด้วยการอภิปรายบนเวทีเสวนาด้านสิทธิมนุษยชน 3 ประเด็น ได้แก่ การดําเนินงานเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน การสร้างภูมิคุ้มกันในภาคธุรกิจ และเครื่องมือสําหรับภาคธุรกิจในการตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเวทีแรก เป็นเวทีเสวนา “การดำเนินงานกับข้อท้าทายเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน” ได้หยิกยกประเด็นผลกระทบต่อแรงงานและนายจ้างในสถานการณ์นี้ ซึ่งการปรับตัวของภาคธุรกิจอาจต้องมีการปรับลดต้นทุน และปรับลดแรงงาน รวมถึงประเด็นของแรงงานต่างด้าว ความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมกัน โดยตัวแทนจากกลุ่มแพรนด้า จิวเวอรี่ สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และองค์กร Human Right Watch ได้แชร์มุมมองในมิติของผู้นำองค์กรธุรกิจ และภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนว่า ลูกจ้างกับนายจ้างจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น และมีสัญญาประชาคม (Social Contract) ให้มากยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางที่นำเสนอ คือ การให้ภาครัฐเข้ามาร่วมตรวจสอบภาคธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับประเด็นการสร้างภูมิคุ้มกันในภาคธุรกิจ และความท้าทายในการผสานมิติการเคารพสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กลไกทางธุรกิจ กระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมูลนิธิวัฒนเสรี ได้ให้ข้อเสนอว่า การสร้างภูมิคุ้มกันในอนาคตควรมีเรื่องของการพัฒนาและเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่เรื่องโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือในยุคดิจิทัล (digital disruption) ที่จะทำให้การทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมด้านชีวภาพ (Bio Economy) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยต้องมีการวางแผนฟื้นฟูให้มีการสนับสนุนสินค้าไทย เน้นการพัฒนาความมั่นคงของอุปทาน (Supply Security) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรและอาหาร สนับสนุนด้านการจ้างงาน การจ้างผู้สูงอายุ สนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และส่งเสริมให้การพัฒนาแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ

ปิดท้ายด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเครื่องมือสําหรับภาคธุรกิจในการตอบสนองต่อผลกระทบจากโควิด-19 จาก UNDP Thailand และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินศักยภาพขององค์กร ได้รับคำแนะนำในการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการฟื้นฟูและการสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การเจรจาทางสังคม หรือ Social dialogue ซึ่งหมายถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคม พร้อมกับกำหนดทางเลือกร่วมกัน โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทอาจใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพยายามลดต้นทุนทางสังคม และลดผลกระทบต่อแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง และรักษาระดับค่าจ้าง ตลอดจนการติดตามประเมินผล โดยจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและแนวปฏิบัติต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงาน เนื่องจากเป็นการส่งเสริมความโปร่งใส ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เกื้อหนุนต่อปรับเปลี่ยนให้เกิดผลได้