ถึงแม้สานสัมพันธ์ของช้างแม่รับทีน่ากับลูกเลี้ยงทับเสลาพัฒนาเร็วมาก เพียงช่วงเวล 3-4 วันที่เพิ่งจะพบเจอกัน “แตะงวง แตะตัว กินมูลแม่ หัดกินหญ้าตาม”ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าน้องทับเสลายอมรับแม่ทีน่าแล้ว แต่นั่นคงไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาแม่ๆ แฟนคลับน้องทับเสลาจากทางบ้าน
เพียงช่วง 3-4 วัน (15-18 พ.ย.63) ชีวิตของน้องทับเสลา ลูกช้างป่าห้วยขาแข้งที่พลัดหลง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมืองก็เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากที่งวงของแม่รับ (ทีน่า) แตะกับงวงของลูกช้างน้อยซึ่งเป็นสัญญาณที่มีความหมายว่าให้การยอมรับต่อกัน แต่ว่ากับกองเชียร์ บรรดาแม่ๆจากทางบ้าน (แฟนคลับทับเสลา) ที่คอยส่องคอยตามลุ้นดูอยู่ตลอด ต่างเร่งลุ้นอยากเห็นภาพการใช้ชีวิตแบบแม่และลูกจริงๆ อยากเห็นภาพประทับใจของน้องทับเสลาดูดนมจากเต้าแม่ทีน่า ซึ่งขอบอกไว้ก่อนตรงนี้ว่าท่านจะต้องอดทนรอเวลาอีกสักนิด
ถึงตอนนี้แฟนคลับน้องทับเสลา เข้าไปติดตามชมผ่านเพจเฟซบุ๊คมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บนสามเพจหลัก ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ รักช้าง
รักษ์ป่า ดอยผาเมือง
แม้ว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง และสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คอยชี้แจงถึงขั้นตอนในการสานสัมพันธุ์ระหว่างแม่กับลูกช้างจะต้องก้าวแบบค่อยเป็นไป ซึ่งทุกคนก็รู้ดี และเห็นได้จากทั้งรายงานประจำวัน ภาพนิ่ง และคลิป
การเข้าหาของแม่ทีน่าและการยอมรับของน้องทับเสลา ที่มีทั้งจากการกินมูลของแม่พร้อมๆ กับการทดลองกินหญ้าตามแม่ รวมถึงพฤติกรรมของลูกช้างที่ลดความตื่นกลัวต่อแม่ด้วยการเดินเข้าหาแม่ ถึงจะยังมีอาการดูกล้าๆ กลัวๆ ก็ตาม แต่บรรดาแม่ๆ ทางบ้านก็คอยซักถามกันตลอด ซึ่งพอสรุปว่า ปล่อยให้น้องดูดนมจากเต้าได้หรือยัง ปล่อยอิสระให้น้องกับแม่อยู่ด้วยกันได้ไหม ฯลฯ
ตามไปดูสรุปรายงานการสังเกตพฤติกรรมลูกช้างกับแม่รับในช่วง 3 วัน โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
วันแรก (15 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ได้นำช้าง "พังทีน่า" มาเทียบกับลูกช้าง โดยขั้นตอนแรกให้เห็นกันอยู่ห่างๆ ก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง สังเกตุอาการลูกช้างยังกลัวๆ กล้าๆ อยู่ พรุ่งนี้ค่อยนำมาเจอกันใหม่
วันที่สอง (16 พ.ย.) พล.ต.ต.ชูเกียรติ ประทีปะเสน รองเลขาธิการมูลนิธิฯ, รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม กรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยว่าที่ ร.ต.ฐนพงษ์ ปุรินทราภิบาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง, คุณอังสนา มองทรัพย์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ และสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เข้าประเมินสถานการณ์ร่วมกันเป็นวันที่สอง โดยให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิฯ นำพังทีน่ามาใกล้คอก และนำอุจจาระของพังทีน่าให้ลูกช้างทับเสลากินเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ และปรับสมดุลนิเวศในระบบทางเดินอาหาร พบว่าลูกช้างทับเสลายอมกินอุจจาระของพังทีน่า และได้มีการยื่นงวงสัมผัสกันถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการยอมรับซึ่งกันและกัน
วันที่สาม (17 พ.ย.) พฤติกรรมในช่วงระยะเวลาที่ 1 เวลา 03.00 – 05.00 ลูกช้างหลับสนิท โดยเริ่มหลับตั้งแต่ 5 ทุ่ม - ตี 3 ในส่วนเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลช้างของ ขสป.ดอยผาเมือง สามารถป้อนนมให้ลูกช้างได้
พฤติกรรมในช่วงระยะเวลาที่ 2 เวลา 06.00 – 14.00 น. ลูกช้าง พังทับเสลา มีพฤติกรรมเข้าใกล้แม่รับพังทีน่า มากกว่า 2 วันแรก ช้างทั้ง 2 แตะงวงกัน ลูกช้างหันก้นให้ และเดินห่างแล้วเดินกลับไปในลักษณะวนไปวนมา ลูกช้างยังมีอาการประหม่า พี่เลี้ยงเดิมเริ่มออกห่างจากลูกช้างมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าลูกช้างเข้าใกล้พี่เลี้ยงจะพยามล่อให้เข้าใกล้พังทีน่า
พฤติกรรมในช่วงระยะเวลาที่ 3 เวลา 14.00 น. แม่รับพังทีน่าใช้เท้าเตะตอก และแกว่งงวงไปมา เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจึงนำไปกินน้ำบริเวณอ่างแม่ยาว แล้วนำกลับมาผูกใหม่
พฤติกรรมในช่วงระยะเวลาที่ 4 เวลา 17.00 น. ลูกช้างกินหญ้าชนิดเดียวกับแม่ช้างและใช้งวงเก็บขี้ของแม่ช้างใส่ปาก ทั้ง 2 ใช้ระยะเวลาอยู่ใกล้กันนานขึ้นกว่าเดิม
ภาพรวมตลอดทั้งวันที่สาม
1. ผูกล่ามแม่ช้าง พังทีน่าไว้ใกล้คอก
2. ลูกช้างลดความถี่ในการกินนมลง สามารถอยู่ตามลำพังในคอกโดยไม่มีพี่เลี้ยง และเล่นตามพฤติกรรมทั่วไปของช้าง
3. เวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลช้างทั้งหมด ขนย้ายอุปกรณ์เครื่องนอนออกห่างบริเวณคอกลูกช้าง เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมระหว่างลูกช้างกับแม่รับห่างๆ
วันที่สี่ (18 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ดำเนินการเคลื่อนย้ายขยับอุปกรณ์การให้นมและลดกิจกรรมการใกล้ชิดจากควาญช้างให้ไกลขึ้นเพื่อให้ลูกช้างและแม่ช้างมีการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
ช่วงเวลา 16.30 – 08.30 น. ลูกช้างกินนมไป 18 ลิตร และตั้งแต่ตีสามถึงหกโมงเช้า นอนรวม 3 ชั่วโมงเศษ ส่งเรียกและร้องหิวนมจำนวนทั้งสิ้น 11 ครั้ง การขับถ่าย 2 ครั้ง กินอาหารเสริมผลไม้กล้วยสุก จำนวน 6 ลูก
ในช่วงเวลาตีหนึ่งถึงแปดโมงครึ่ง ลูกช้างมีการเดินปฏิสัมพันธ์กับแม่ทีน่า 5 ครั้ง ใช้เวลาแต่ละครั้ง 5-10 นาทีมีการเดินถอยหลังและข้างลำตัวหาแม่ช้างรับแต่(ไม่มีเสียงเรียกถึงกัน)
และตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงเย็น ได้มีการขยับจุดแม่ช้างมาทางศาลาใกล้ลูกช้างนอนโดยมีการให้อาหารและอาหารเสริมและการป้อนนมลูกช้างเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกช้างทั้งวัน ลูกช้างกินนม 16 ลิตร นอนอีกรอบประมาณ 20 นาที ต่อมาก็มีส่งเสียงร้องเรียกและร้องหิวนมจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง ขับถ่าย จำนวน 1 ครั้ง อาหารเสริมผลไม้กล้วยสุก จำนวน 3 ลูก
สรุปวันที่สี่ พฤติกรรมลูกช้างกับแม่ช้าง ต่างให้ความสนใจต่อกันมากขึ้น ลูกช้างมีการเดินถอยหลังเข้าหา และแม่ช้างเอางวงแตะที่ข้างลำตัวแต่ลูกช้างยังมีอาการตกใจอยู่เล็กน้อย
ดังกล่าวมายืนยันถึงพัฒนาการปฏิสัมพันธ์ของแม่ทีน่าและลูกช้างทับเสลาที่มากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเหมือนกับว่าน้องทับเสลาต้องการจะเรียกแขก ให้พ่อๆ แม่ๆ ทางบ้านเข้ามาติดตามกันนานๆ แบบว่าดูภาพยนตร์สารคดีซีรีย์ "ชีวิตของลูกช้างป่าห้วยขาแข้ง"
เพราะก่อนหน้านี้ นางเคยสร้างวีรกรรมสุดทึ่งที่ไม่ยอมตามโขลงแม่ และตั้งแต่เล็กจนตอนนี้อายุราว 9-11 เดือน นางเลือกขออยู่กับพ่อ (คนเลี้ยง) เป็นเวลานานกว่าครึ่งปี ที่สถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก่อนที่จะเดินทางไกลมาหาแม่รับในวันนี้ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
แม่ทีน่า ตื่นแต่เช้า มาหาเก้อ ทับเสลายังหลับไหล
เล่นฟาง โชว์ให้แม่ทีน่าดู
เล่นน้ำตัวเดียวก็สนุกได้เนอะ
เครดิตคลิป เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง