xs
xsm
sm
md
lg

อินทัช หนุนเกษตรกรชุมชนนาซ่าว โมเดลต้นแบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบ PGS ต่อยอดแบรนด์ “โพนเชียงคาม” บนแพลตฟอร์มเพิ่มขีดความสามารถ-สร้างจุดเที่ยวชุมชนวิถีอินทรีย์ จ.เลย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แปลงนาข้าวอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย
บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ร่วมส่งต่อวิถีการทำเกษตรแบบยั่งยืนผ่าน “โครงการข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช” ในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม พร้อมการต่อยอดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน

การสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หมายถึงเน้นความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ พร้อมกับนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรปลอดภัย สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ชัย ธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมผู้บริหารอินทัช นำโดย เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์  โดยมี ทำเนียบ อารยะศิลปธร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว  นำเยี่ยมชมนาข้าวอินทรีย์ที่หน้าแปลงสาธิต PGS

เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์
“เป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้กินดี อยู่ดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มขีดความสามารถให้ชาวนาพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาเป็น นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นการทำเกษตรเชิงรุก ยกระดับจากมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS วิถีชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” 


เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรนั้นต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น เน้นการมีส่วนร่วม มีการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาต้องพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา 2 ปี อินทัช ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ จนเกิดเป็นความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนตำบลนาซ่าวในวันนี้ 

“ผมเชื่อมั่นว่าวิสาหกิจชุมชนตำบลนาซ่าวจะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้เห็นแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ ขณะเดียวกันด้านผู้บริโภคก็มั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ “โพนเชียงคาม” จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่เกษตรกร พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายอื่นสนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบสานการทำงาน เกิดความมั่นคงทางอาหาร และการพึ่งพาตนเองในชุมชน นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน”

รัชฎวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
หนุนเกษตรกรอินทรีย์สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS

เมื่อปี 2562-2563 อินทัช เข้ามาดำเนินโครงการข้าวเพื่อสุขภาพ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลนาซ่าว โดยยกระดับการทำเกษตรจากการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practices – GAP) ไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System - PGS) ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM

รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า PGS เป็นระบบการรับรองคุณภาพโดยชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน เครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานในพื้นที่ ภายใต้หลักการพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเครือข่ายทางสังคม เป็นเครื่องมือในการพัฒนามาตรฐานการผลิต และสร้างพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรับรองของรัฐและเอกชน ได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดได้มากขึ้น เกิดการขยายผลทำเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟู ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพดี สังคมเกิดความเข้มแข็ง

ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรเข้าเป็นครอบครัวต้นแบบในการทำ PGS จำนวน 18 ครอบครัว พื้นที่ 60 ไร่ และมีแนวโน้มผ่านการรับรองในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 51 ไร่ ผลผลิตประกอบด้วย ข้าว พืชหลังนา และอื่นๆ เช่น ถั่วลิสง มันเทศ มะขาม ไผ่หวาน ฯลฯ ส่วนสมาชิกที่เป็นชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาจนสามารถเป็นผู้ตรวจแปลงที่มีความรู้และได้รับการยอมรับจำนวน 8 คน สามารถทำหน้าที่ตรวจแปลงให้แก่สมาชิกร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยที่เป็นพี่เลี้ยง และผู้ให้มาตรฐานรับรองผลผลิต 

นอกจากนี้ ยังบูรณาการความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลต่อ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ดูแลกระบวนการเพาะปลูกให้มีความปลอดภัย, สำนักงานพัฒนาที่ดิน อำเภอเชียงคาน ดูแลการปรับปรุงดินและการผลิตสารชีวภัณฑ์อินทรีย์ที่ใช้ในการทำเกษตร, มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย แนะนำความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย ช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นต้น

สาธิตการตรวจแปลงข้าว
แบรนด์สินค้าชุมชน “โพนเชียงคาม” ต่อยอดสู่ตลาดออนไลน์

หลังจากทุกภาคส่วนได้ประสานงานเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรจาก วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ได้เรียนรู้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงก่อให้เกิดแบรนด์สินค้า “โพนเชียงคาม” ขึ้นมา มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพื้นที่โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นำความรู้ และงานวิจัยผนวกกับความสามารถในการผลิตของชุมชน มาพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวเป็นข้าวพองทอดกรอบ TAN TAN รสลาบ และรสน้ำอ้อยแมคคาเดเมีย” จากต้นทุนข้าวกิโลกรัมละ 40 บาท สามารถทำ TAN TAN ได้ 13 กระปุกๆ ละ 60 บาท เพิ่มรายได้เป็น 780 บาท, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าในท้องถิ่นให้ได้คุณภาพ เช่น ชาเพื่อสุขภาพจากข้าวและพืชสมุนไพรที่ไม่ใช้สารเคมี

ที่นี่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยทดลองใช้แพลตฟอร์มมาช่วยในการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยทำการตลาดออนไลน์ผ่านเพจ “โพนเชียงคาม” เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ ขยายแนวคิดเรื่องการทำเกษตรปลอดภัย รวมถึงการขายผลิตผลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ, การใช้แอปพลิเคชัน Farm Manager ในการเช็คสภาพอากาศเป็นรายแปลง เพื่อช่วยวางแผนการทำนาอย่างมีประสิทธิภาพ

พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS และจุดน่าเที่ยวชมชุมชนวิถีอินทรีย์


นอกจากนี้ยังพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS และตลาด (อยาก) นัดโพนเชียงคาม สำหรับซื้อหาสินค้าปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใช้ฐานทุนทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมมาบูรณาการกับกิจกรรมต่างๆ ในตลาด เช่น เพ้นท์หน้ากากผีขนน้ำ ทำธุงใยแมงมุม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน อาทิ ส้มตำด้องแด้ง และข้าวปุ้นฮ้อน ตลาดเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 วันเสาร์ และอาทิตย์ (ติดตามรายละเอียดที่ FB: โพนเชียงคาม) เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่มายังตำบลนาซ่าว รวมถึงเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวหลักอื่นๆ ในอำเภอเชียงคานเพื่อบูรณาการการท่องเที่ยวให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งชุมชนนาซ่าว และเชียงคานเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กระจายรายได้สู่ชุมชน นักท่องเที่ยวได้มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รองรับการพักผ่อน และการเรียนรู้เชิงเกษตร และวัฒนธรรม โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาเรียนรู้กว่า 2,000 คน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ และชุมชนรวมกว่า 800,000 บาท

ทำเนียบ อารยะศิลปธร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว กล่าวว่า แต่เดิมตนเป็นผอ.โรงเรียน แต่ลาออกมาทำการเกษตรผสมผสาน ผมได้รับแรงบันดาลจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มปลูกข้าวอินทรีย์ แต่ว่านาเพื่อนบ้านก็ยังใช้สารเคมี จึงให้ความรู้กับเพื่อนเกษตรกรถึงผลเสีย จนต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้น มีการผลิตปุ๋ย และน้ำหมักใช้กันเอง ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง 50 % จนกระทั่งได้เริ่มขายพันธ์ข้าวส่งออกนอกพื้นที่ได้ราคาสูงกิโลละ 30 บาท ปัจจุบันก็ยังไม่พอต่อความต้องการ และเมื่ออินทัชเข้ามาให้การสนับสนุน โครงการข้าวเพื่อสุขภาพ ทางวิสาหกิจชุมชนก็จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าผลผลิต พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น

“สมาชิกของเราทำงานร่วมกันทุกกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องการทำเอกสาร การออกตรวจแปลง ตลอดจนการกำกับของคณะกรรมการ เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ยากไม่ง่าย อยู่ที่ความตั้งใจ ผมมั่นใจว่าวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าวจะเป็นต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง รวมทั้งช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยได้ในระยะยาว”

ด้าน รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เสริมว่า “อินทัชมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย นับเป็นอีกชุมชนต้นแบบการเรียนรู้ด้าน PGS สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ มีการแปรรูปสินค้าเพิ่มมูลค่าในแบรนด์โพนเชียงคาม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องที่ และหากมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ อินทัชก็ยังคงให้การสนับสนุนและดูแลต่อไป”

ข้าวเหนียวอินทรีย์ ชาและข้าวพองทอดกรอบ ภายใต้แบรนด์ “โพนเชียงคาม” เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มที่ยั่งยืนให้กับชุมชน